บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๙)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๙)

————————————–

คำอาราธนาศีล (ต่อ)

มะยัง ภันเต, วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ, 

ติสะระเณนะ สะหะ, ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ.

ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต …

ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต …

เขียนแบบบาลี :

มยํ ภนฺเต, วิสุํ วิสุํ รกฺขณตฺถาย, 

ติสรเณน สห, ปญฺจ สีลานิ ยาจาม.

ทุติยมฺปิ มยํ ภนฺเต …

ตติยมฺปิ มยํ ภนฺเต …

……………..

เมื่อตอนที่แล้วบอกไว้ว่า “สีลานิ” เป็น “กรรม” คือสิ่งที่ถูกทำ ในที่นี้คือถูกขอ 

โปรดสังเกตว่า ข้างหน้า “สีลานิ” มีคำว่า “ปญฺจ” (ปัญจะ) คำนี้เราคงคุ้นกันดี 

ปญฺจ” แปลว่า ห้า (จำนวน ๕) 

หมายความว่า ศีล (สีลานิ) ที่เราขอคือศีลห้า (ปญฺจ) ไม่ใช่ศีลแปด หรือศีลอื่นๆ

ปญฺจ” ทำหน้าที่ขยายความ คือขยาย “สีลานิ” ให้รู้ว่า ศีลในที่นี้คือศีลห้า คำที่ทำหน้าที่ขยายความเช่นนี้ในทางหลักบาลีไวยากรณ์เรียกว่า “วิเสสนะ” (วิ-เส-สะ-นะ) หมายถึง “คำที่ทำหน้าที่ขยายคำอื่นให้กระจ่าง

โปรดสังเกตว่า “ปญฺจ” อยู่หน้า “สีลานิ” คือเป็น “ปญฺจ สีลานิ” แปลว่า “ศีลห้า” ไม่ใช่ “สีลานิ ปญฺจ

เราอาจคิดว่า เมื่อแปลว่า “ศีล-ห้า” ก็น่าจะเป็น “สีลานิ ปญฺจ” 

: สีลานิ = ศีล ปญฺจ = ห้า 

สีลานิ ปญฺจ = ศีล-ห้า 

แล้วทำไมจึงเป็น “ปญฺจ สีลานิ” = ห้าศีล 

ไม่เป็น “สีลานิ ปญฺจ” = ศีล-ห้า

คำตอบคือ นี่คือกฎเกณฑ์อย่างหนึ่งของภาษาบาลี นั่นคือ “คำขยายอยู่หน้าคำที่ถูกขยาย

โดยปกติหรือโดยทั่วไปจะเป็นอย่างนี้เสมอ เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้เมื่อไปเจอคำบาลีในที่อื่นๆ เห็นคำขยายอยู่หน้าคำที่ถูกขยาย ก็อย่าได้แปลกใจ เพราะนี่คือกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ของภาษาบาลี

……………..

อีกจุดหนึ่งที่ควรสังเกต คือเวลา “ว่า” คำอาราธนา คนทั่วไปมักแบ่งจังหวะคำเป็น ปัญจะ สีลา- นิยาจามะ

คือแยก “ปัญจะ สีลา” ไว้กลุ่มหนึ่ง “นิยาจามะ” ไว้อีกกลุ่มหนึ่ง

ถ้าเรียนรู้ไว้บ้าง-อย่างที่กำลังเรียนรู้กันอยู่นี้-เราก็จะเข้าใจได้ว่า “สีลานิ” เป็นคำหนึ่งคำเดียวกัน ไม่ใช่ “สีลา” คำหนึ่ง “นิยาจามะ” อีกคำหนึ่ง

เรียนรู้หลักไว้สักนิดหนึ่งก็ได้ว่า “สีลานิ” ศัพท์เดิมเป็น “สีล” (สี-ละ) ตามสูตรว่าเป็น อะ-การันต์ในนปุงสกลิงค์ แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) พหุวจนะ (พหูพจน์) เปลี่ยนรูปเป็น “สีลานิ” ถ้าเป็นเอกวจนะ (เอกพจน์) ก็จะเป็น “สีลํ” (สี-ลัง) ที่ต้องเป็นพหูพจน์ก็เพราะศีลที่เราขอมี ๕ ข้อ 

“อะไรที่มากกว่าหนึ่ง ต้องเป็นพหุวจนะ” – นี่ก็เป็นสูตรกว้างๆ ง่ายๆ ที่ควรจำ

การแยก “ปัญจะ สีลา” ไว้กลุ่มหนึ่ง “นิยาจามะ” ไว้อีกกลุ่มหนึ่ง ทำให้เห็นร่องรอยอีกอย่างหนึ่งว่า คำบาลีที่ผิดเพี้ยนเกิดขึ้นได้อย่างไร 

เกิดขึ้นได้เพราะฟังแต่เสียง แล้วจับเอาเสียงไปเขียนเป็นตัวหนังสือ และเมื่อไม่เห็นหน้าตาของคำเดิม ได้ยินแต่เสียง ผสมกับความไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็จึงสะกดคำไปตามที่คนเขียนเข้าใจเอาเอง

อย่างในที่นี้ “ยาจามะ” (ข้าพเจ้าทั้งหลายย่อมขอ) กลายเป็น “นิยาจามะ” ซึ่งไม่มีคำบาลีรูปแบบนี้ แล้วก็ไม่รู้จะแปลอย่างไร อาจกลายเป็นอาหารอันโอชะของคนที่พยายามจะอธิบายผิดให้เป็นถูก เช่นอธิบายว่า “นิ” ก็คือ “นิ” ที่เป็นคำอุปสรรค ที่แปลว่า “เข้า, ลง” + ยาจฺ ธาตุ … ความเพี้ยนก็เริ่มเข้ามา ใครที่ไม่รู้ก็จะพากันเชื่อตามไป 

นี่คือคำตอบว่า ทำไมคาถาอาคมของเราจึงมีคำบาลีที่เพี้ยนๆ แผลงๆ แปลกๆ มากมาย

กัดฟันเรียนบาลีกันสักนิด

ที่เพี้ยนๆ ผิดๆ ก็คงจะพอบรรเทาเบาบาง

เรื่องคำอาราธนาศีลยังไม่จบครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๔

๑๓:๔๓

…………………………….

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๐)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๘)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *