หลักการของกฐิน
กฐินมาแล้ว (๓)
กฐินมาแล้ว (๓)
———–
ใกล้จะออกพรรษา ใกล้จะถึงหน้ากฐิน
หาความรู้เรื่องกฐินกันไว้ก่อน
———–
ตอนที่ ๓ : ปัญหาเรื่องพระ ๕ รูป
———–
ในการทอดกฐินนั้นเคยมีปัญหาถามกันว่า ต้องมีพระอย่างน้อยกี่รูปจึงจะรับกฐินได้
ปัญหานี้มีคำตอบจากหลักฐานในพระคัมภีร์ที่ชัดเจนเข้าใจตรงกันหมดแล้วว่า ต้องมีพระอย่างน้อย ๕ (ห้า) รูป น้อยกว่านี้รับกฐินไม่ได้
เหตุผลก็คือ ในจำนวน ๕ รูปนั้น รูปหนึ่งเป็นผู้ที่สงฆ์ลงมติมอบผ้าให้ (ที่เราเรียกกันว่า “องค์ครองกฐิน”)
ภิกษุรูปนี้จะนับเข้าในจำนวน “สงฆ์” ไม่ได้
เมื่อแยกออกไปรูปหนึ่งแล้ว ที่เหลือ ๔ รูป ก็ยังคงเป็น “สงฆ์” อยู่
แต่ถ้ามีภิกษุแค่ ๔ รูป เมื่อแยกเป็นผู้รับผ้าเสียรูปหนึ่งแล้ว เหลือ ๓ รูป ไม่ครบองค์สงฆ์ ทำสังฆกรรมกฐินไม่ได้
ถ้านับภิกษุที่เป็นองค์ครองเข้าในจำนวนสงฆ์ ๔ รูปด้วย ก็จะกลายเป็นว่าภิกษุรูปนั้นลงมติยกผ้าให้ตัวเอง ก็ผิดมารยาทไป
นี่คือเหตุผลที่ต้องกำหนดว่า รับกฐินอย่างต่ำต้องมีพระ ๕ (ห้า) รูป
ปัญหาเรื่องพระห้ารูปยังมีต่อไปอีกว่า ต้องเป็นพระที่จำพรรษาในวัดเดียวกันทั้งห้ารูป หรือว่า ถ้าวัดเดียวกันมีไม่ถึงห้ารูป ไปนิมนต์มาจากวัดอื่นเพื่อให้ครบห้ารูป จะใช้ได้หรือไม่
บางมติว่า ต้องอยู่วัดเดียวกันทั้งห้ารูป
วัดไหนมีพระไม่ถึงห้ารูป รับกฐินไม่ได้
แต่บางมติบอกว่า นิมนต์จากวัดอื่นมาให้ครบห้ารูปก็ใช้ได้
ปัญหานี้มีอาการคล้ายๆ กับอาการในระยะต้นๆ ของปัญหาเรื่องจำนวนพระที่จะรับกฐินได้
คือเมื่อสมัยที่การศึกษาค้นคว้าหลักพระธรรมวินัยแล้วเผยแผ่ให้รับรู้ทั่วกันยังทำได้ในวงแคบนั้น ก็เคยสงสัยกันมาว่า จะทอดกฐินได้ต้องมีพระอย่างน้อยกี่รูป
เดี๋ยวนี้ปัญหานี้ไม่เป็นปัญหาอีกแล้ว เพราะมีหลักฐานที่ยืนยันให้เข้าใจและยอมรับตรงกันหมดแล้วว่า ต้องมีพระอย่างน้อยห้ารูป
แต่ประเด็นปัญหาเลื่อนไปอยู่ตรงที่ว่า พระห้ารูปนั้นจะต้องมาจากไหน
เรื่องนี้คงจะมีมูลเหตุมาจากวัดบางวัดมีพระจำพรรษาไม่ถึงห้ารูป แต่ญาติโยมอยากทอดกฐินที่วัดนั้นเพื่อจะสงเคราะห์พระให้ได้รับอานิสงส์กฐิน หรือเพราะมีความศรัทธาผูกพันกันด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ทั้งพระในวัดนั้นเองก็อยากจะรับกฐินด้วย จึงหาทางออกด้วยการไปนิมนต์พระจากวัดอื่นมาให้ครบห้ารูปเพื่อจะได้รับกฐินได้ตามพุทธบัญญัติ
จึงเลยเกิดสงสัยกันขึ้นว่า ทำอย่างนั้นถูกต้องตามพุทธบัญญัติหรือไม่
เพื่อยุติปัญหาเหมือนกับเรื่องจำนวนพระที่ยุติได้แล้วด้วยหลักฐานจากพระคัมภีร์ เราก็ควรจะไปหาคำตอบจากหลักฐานในพระคัมภีร์เช่นเดียวกัน
————-
ในกฐินขันธกะ คัมภีร์มหาวรรค ภาค ๒ พระวินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๙๗ มีพระบาลีว่า –
น สมฺมา เจว อตฺถตํ โหติ กฐินํ ตญฺเจ นิสฺสีมฏฺโฐ อนุโมทติ.
แปลว่า “กฐินไม่เป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุผู้ ‘นิสสีมัฏโฐ’ อนุโมทนากฐินนั้น”
คำว่า “นิสสีมัฏโฐ” แปลตามศัพท์ว่า “อยู่นอกเขต”
กล่าวคือ ถ้าพระภิกษุที่มาร่วมประชุมเพื่ออนุโมทนากฐินมีไม่ครบห้ารูป มีภิกษุที่จะทำให้ครบห้ารูปได้ แต่เป็นพระที่ “อยู่นอกเขต” แล้วพระที่อยู่นอกเขตดังว่านี้ก็ร่วมอนุโมทนาด้วย เพื่อให้ครบห้ารูปตามพุทธบัญญัติ
ถ้าเป็นอย่างนี้ละก็ การทอดกฐินนั้นก็เป็นโมฆะ คือไม่สำเร็จเป็นกฐิน
คราวนี้ก็มาถึงปัญหาสำคัญ คือคำว่า “นิสสีมัฏโฐ” ที่แปลว่า “อยู่นอกเขต” นั้น หมายความว่าอย่างไร ?
……….
นัยที่ ๑
……….
หมายความว่า ภิกษุที่จำพรรษาอยู่ในวัดเดียวกันนั่นแหละ แต่เวลาที่รับกฐิน-กรานกฐิน ตัวไม่ได้อยู่ในวัด คือไม่ได้เข้าร่วมประชุมสงฆ์ จะด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม จะนับเอาภิกษุรูปนั้นมารวมให้ครบห้ารูป ไม่ได้
เทียบได้กับผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมสภา แม้จะเป็นสมาชิกของสภานั้น ก็จะใช้สิทธิ์ออกเสียงในเรื่องที่กำลังลงมติกันอยู่ในสภาขณะนั้นไม่ได้นั่นเอง
หรือเทียบกับกรณีที่สมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุม การประชุมก็เกิดขึ้นไม่ได้แม้ว่าจำนวนสมาชิกของสภานั้นจะมีอยู่ครบก็ตาม
……….
นัยที่ ๒
……….
หมายความว่า เป็นภิกษุที่จำพรรษาอยู่ต่างวัดกัน ภิกษุเช่นนี้จะนิมนต์มาให้ครบห้ารูปตามจำนวนที่วินัยกำหนดไว้ ก็ใช้ไม่ได้ กฐินก็ไม่เป็นอันกราน คือไม่เป็นกฐิน
เทียบได้กับผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสภานั้น ย่อมไม่มีสิทธิ์ที่จะมาร่วมลงมติใดๆ กับที่ประชุมของสภานั้นนั่นเอง
………
ถามว่า คำว่า “นิสสีมัฏโฐ–อยู่นอกเขต” นั้น หมายความตามนัยไหน ?
เกี่ยวกับประเด็นนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ วินัยมุข เล่ม ๓ ว่า –
———-
พระอรรถกถาจารย์แก้บทว่า อยู่นอกสีมา ว่าอยู่ในภายนอกแห่งอุปจารสีมา.
๒ คำนี้ หมายความว่าผู้อำนวยให้ผ้ากฐินต้องเป็นผู้จำพรรษาอยู่ในสีมาเดียวกัน
หรือว่าต้องทำพิธีอนุโมทนาในสีมา ไม่ชัด ข้าพเจ้าเข้าใจว่าหมายความข้อต้น
….. ข้าพเจ้าเข้าใจว่า คำบาลีว่า “กฐินไม่เป็นอันกรานโดยชอบถ้าภิกษุผู้ตั้งอยู่นอกสีมาอนุโมทนา” ห้ามไม่ให้เอาภิกษุอื่นมาเป็นคณปูรกะ หรือสวดกรรมวาจา
———-
ความจริงปัญหานี้ พระอรรถกถาจารย์มีคำอธิบายไว้ชัดเจนในตอนที่กล่าวถึงวิธีกรานกฐิน
ในกฐินขันธกะ คัมภีร์มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๙๖ มีพระบาลีตอนหนึ่งว่า
เอวญฺจ ปน ภิกฺขเว กฐินํ อตฺถริตพฺพํ ฯ
แปลเป็นไทยว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงกรานกฐินอย่างนี้”
พระบาลีตรงนี้พระอรรถกถาจารย์อธิบายขยายความไว้ ขอยกมาพร้อมทั้งคำแปลประโยคต่อประโยค ดังนี้ –
เอวญฺจ ปน ภิกฺขเว กฐินํ อตฺถริตพฺพนฺติ เอตฺถ
วินิจฉัยในคำว่า เอวญฺจ ปน ภิกฺขเว กฐินํ อตฺถริตพฺพํ นี้
พึงทราบดังนี้ :-
กฐินตฺถารํ เก ลภนฺติ เก น ลภนฺตีติ ฯ
ถามว่า ใครได้กรานกฐิน ใครไม่ได้ ? (ใครรับกฐินได้ ใครรับไม่ได้)
คณนวเสน ตาว
ตอบว่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์เรื่องจำนวนก่อน
ปจฺฉิมโกฏิยา ปญฺจ ชนา ลภนฺติ
ภิกษุห้ารูปเป็นอย่างต่ำย่อมได้กราน,
(ต้องมีภิกษุอย่างน้อยห้ารูปจึงจะรับกฐินได้)
อุทฺธํ สตสหสฺสมฺปิ ฯ
อย่างสูงแม้ตั้งแสนก็ได้.
ปญฺจนฺนํ เหฏฺฐา น ลภนฺติ ฯ
หย่อนห้ารูป ไม่ได้.
วุตฺถวสฺสวเสน
ว่าด้วยหลักเกณฑ์เรื่องภิกษุผู้จำพรรษา
ปุริมิกาย วสฺสํ อุปคนฺตฺวา ปฐมปวารณาย ปวาริตา ลภนฺติ
ภิกษุผู้เข้าพรรษาต้น ปวารณาในวันปฐมปวารณาแล้ว ย่อม (รับกฐิน) ได้,
ฉินฺนวสฺสา วา ปจฺฉิมิกาย อุปคตา วา น ลภนฺติ
ภิกษุผู้มีพรรษาขาด หรือเข้าพรรษาหลัง ย่อม (รับกฐิน) ไม่ได้
อญฺญสฺมึ วิหาเร วุตฺถวสฺสาปิ น ลภนฺตีติ มหาปจฺจริยํ วุตฺตํ ฯ
แม้ภิกษุที่จำพรรษาในวัดอื่นก็ไม่ได้. ในอรรถกถามหาปัจจรีแก้ไว้ดังว่ามานี้
………
(สมันตปาสาทิกา (อรรถกถาวินัยปิฎก) ภาค ๓ หน้า ๒๑๐)
อรรถกถาอธิบายต่อไปอีก แต่ขอไม่ยกรายละเอียดมา แต่จะบอกเป็นคำสรุป
———–
สรุปมติหลักๆ ของพระอรรถกถาจารย์เกี่ยวกับเรื่องรับกฐินตามที่ยกมาอ้างข้างต้น ดังนี้
๑. จำนวนพระที่จะรับกฐินได้ อย่างต่ำต้อง ๕ รูป
นี่เป็นเรื่องที่รับรู้และปฏิบัติกันทั่วไปอยู่แล้ว
๒. พระที่เข้าพรรษาต้น (ปุริมพรรษา) เท่านั้นที่มีสิทธิ์รับกฐิน พระที่เข้าพรรษาหลัง (ปัจฉิมพรรษา) ไม่มีสิทธิ์รับกฐิน
๓. พระที่เข้าพรรษาต้น ถ้าพรรษาขาด เช่นในระหว่างเข้าพรรษาไปค้างแรมนอกเขตที่กำหนดจำพรรษาโดยไม่เข้าเกณฑ์ที่ได้รับยกเว้น หรือออกไปนอกเขตที่กำหนดจำพรรษาก่อนจะรุ่งอรุณ เป็นต้น ก็ไม่มีสิทธิ์รับกฐิน
เรื่องนี้ก็เป็นที่รับรู้และปฏิบัติกันทั่วไปอยู่แล้วเช่นเดียวกัน
๔. วัดที่มีพระจำพรรษาไม่ถึงห้ารูป จะไปนิมนต์พระวัดอื่นมาให้ครบห้ารูปเพื่อรับกฐิน ไม่ได้
ข้อนี้แหละคือปัญหาที่ยังเข้าใจไม่ตรงกัน เมื่อได้เห็นมติของพระอรรถกถาจารย์ดังที่ยกมาอ้างนั่นแล้ว ต่อไปนี้ก็ควรจะเข้าใจตรงกันได้แล้ว
๕. ถ้าพระที่เข้าพรรษาต้นมีไม่ครบห้ารูป และในวัดเดียวกันนั้นมีพระที่เข้าพรรษาหลังอยู่ด้วย สามารถเอาพระที่เข้าพรรษาหลังมาร่วมสังฆกรรมกฐินเพื่อให้ครบห้ารูปได้ พระที่เข้าพรรษาหลังนั้นแม้มาร่วมสังฆกรรมได้ แต่ก็จะไม่ได้รับอานิสงส์กฐินเหมือนพระที่เข้าพรรษาต้นตามปกติ
ข้อนี้อาจจะเป็นที่มาของความเข้าใจที่ว่า นิมนต์พระจากที่อื่นมาให้ครบห้ารูปก็รับกฐินได้
“พระจากที่อื่น” ที่จะนิมนต์มาให้ครบห้ารูปเพื่อรับกฐินได้นั้นก็คือ พระที่เข้าพรรษาหลัง “ในวัดเดียวกัน” เท่านั้น
ตามหลักแล้ว พระที่เข้าพรรษาหลังไม่มีสิทธิ์รับกฐิน (ดูสรุปมติข้อ ๒) แต่ในกรณีพระที่เข้าพรรษาต้นซึ่งมีสิทธิ์รับกฐินโดยสมบูรณ์อยู่แล้ว ขาดแต่มีจำนวนไม่ครบองค์สงฆ์ตามที่กำหนดเท่านั้น จึงให้เอาพระที่เข้าพรรษาหลังในวัดเดียวกันนั้นมาร่วมสังฆกรรมได้ เพื่ออนุเคราะห์พระที่เข้าพรรษาต้นไม่ให้ต้องเสียสิทธิ์ไปเปล่าๆ น่าจะเป็นด้วยเหตุผลนี้จึงอนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้
ขอให้สังเกตว่าแม้จะให้เอาพระที่เข้าพรรษาหลังมาร่วมสังฆกรรมได้ แต่ก็ต้องเป็นพระในวัดเดียวกันอยู่นั่นเอง มิใช่จำพรรษาอยู่ต่างวัดกัน
๖. ถ้าในวัดนั้นมีสามเณรอายุครบบวช และสามเณรนั้นบวชเป็นพระหลังจากเข้าพรรษาต้นแล้ว จึงไปเข้าพรรษาหลัง พระที่มาจากสามเณรเช่นนี้ก็สามารถเข้าร่วมสังฆกรรมกฐินเพื่อให้ครบห้ารูปได้เช่นเดียวกัน ทั้งได้รับอานิสงส์กฐินด้วย เรียกว่ามีสิทธิ์รับกฐินได้โดยสมบูรณ์นั่นเอง
ขอตั้งข้อสังเกตว่า พระที่เข้าพรรษาหลัง ไม่มีสิทธิ์รับกฐิน แต่สามเณรที่อายุครบบวชแล้วบวชเข้าพรรษาหลัง มีสิทธิ์รับกฐิน
ข้อนี้น่าจะมีความหมายว่า พระที่เข้าพรรษาหลังเป็นพระที่มาจากที่อื่นจึงเข้าพรรษาต้นไม่ทัน ส่วนสามเณรนั้นอยู่ที่วัดนั้นมาแต่ต้น ต่างว่าสามเณรรูปนั้นเป็นพระ ก็ย่อมจะได้เข้าพรรษาต้นมาแล้วพร้อมกับพระอื่นๆ นั่นเอง ดังนั้นเมื่อบวชเป็นพระเข้าพรรษาหลัง ก็อนุโลมว่าเหมือนกับได้เข้าพรรษาต้นมาแล้ว จึงให้มีสิทธิ์รับกฐินได้
๗. ในกรณีที่พระในวัดนั้นมีจำนวนครบห้ารูปแล้วก็จริง แต่ไม่รู้วิธีรับกฐิน ท่านอนุญาตให้ไปนิมนต์พระที่รู้วิธีมาเป็นผู้ดำเนินการให้ คือมาสอนวิธีสวด สอนวิธีกรานกฐินให้ได้ แต่พระที่มาแนะนำนั้นก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับอานิสงส์กฐินในวัดนั้น (แบบเดียวกับพระที่เข้าพรรษาหลังดังสรุปมติข้อ ๕)
ข้อนี้ก็อาจเป็นที่มาของความเข้าใจที่ว่า “นิมนต์พระจากที่อื่นมารับกฐินได้” ขอให้สังเกตว่า กรณีนี้หมายถึงพระที่วัดนั้นมีครบห้ารูปแล้ว สามารถรับกฐินตามพุทธบัญญัติได้อยู่แล้ว ขัดข้องตรงที่ไม่รู้วิธีรับเท่านั้น พระจากวัดอื่นที่นิมนต์มา ท่านเพียงมาทำหน้าที่แนะวิธีให้ มิใช่มาเพื่อทำให้ครบองค์สงฆ์ จึงเป็นคนละกรณีกัน
ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นการสรุปมติของพระอรรถกถาจารย์
———–
ต่อไปนี้เป็นความคิดเห็นประกอบ และเป็นความคิดเห็นของผมเอง
ถ้าการนิมนต์ภิกษุต่างวัดมาร่วมสังฆกรรมกฐินเพื่อให้ครบห้ารูป เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วไซร้ ก็น่าจะมีปัญหาควรถามตามมาอีกหลายประเด็น เช่น
ถ้าในวัดนั้นมีภิกษุรูปเดียว และถ้ารับกฐินได้ เมื่อมีผ้ากฐินเกิดขึ้น ตามหลักก็จะต้องมีมติของสงฆ์ว่าควรยกผ้าผืนนั้นให้แก่ภิกษุรูปไหน ภิกษุรูปเดียวนั้นจะไปหามติของสงฆ์มาจากไหน ในเมื่อตนเองอยู่รูปเดียว ?
ถ้านิมนต์ภิกษุจากวัดอื่นมาเป็นสงฆ์ ก็จะเท่ากับว่า กิจของวัดนี้ แต่กลับต้องให้พระวัดโน้นมาออกความเห็น จะไม่ดูเป็นเรื่องตลกไปหรือ ?
มติสงฆ์ในการให้ผ้าจะต้องเป็นเอกฉันท์ (มติสงฆ์ในสังฆกรรมทุกประเภทต้องเป็นเอกฉันท์ทั้งนั้น) ถ้าภิกษุที่นิมนต์มาจากต่างวัดไม่เห็นชอบที่จะให้ผ้าแก่ภิกษุในวัดนั้น แต่เห็นควรให้แก่ภิกษุต่างวัด ถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น จะว่าอย่างไรกัน ?
ผ้ากฐินเกิดขึ้นในวัดนี้ แต่กลับไปตกแก่ภิกษุวัดโน้น ก็ตลกอีกเหมือนกัน
ถ้าเป็นมารยาทที่ภิกษุจากต่างวัดที่นิมนต์ไปเป็นสงฆ์ให้อีกวัดหนึ่งจะมีหน้าที่เพียง “เห็นชอบ” ตามที่ภิกษุในวัดนั้นตกลงกันแล้วเท่านั้น ถ้าเป็นอย่างนี้ จะกำหนดจำนวนพระ ๕ รูป ไว้ทำไม ในเมื่อภิกษุ ๔ รูปก็เป็นสงฆ์ได้ หรือแม้ภิกษุรูปเดียวก็สามารถตกลงใจยกผ้าให้ใครก็ได้อยู่แล้ว การประชุมสงฆ์ ๕ รูปเพื่อทำสังฆกรรมกฐินก็จะเป็นเพียงการเล่นละครอะไรอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง และนั่นคือความมุ่งหมายของพุทธบัญญัติเรื่องกฐินเช่นนั้นหรือ ?
อีกเรื่องหนึ่งที่ยังไม่เคยได้ยินใครสงสัย แต่ควรสงสัยไว้ด้วย คือ ถ้าในวัดนั้นมีภิกษุรูปเดียว หรือมีไม่ครบห้ารูป เมื่อมีผ้ากฐินเกิดขึ้น จะเอาผ้านั้นไปทำสังฆกรรมกฐินที่วัดอื่นที่มีภิกษุครบห้ารูปได้หรือไม่ คือแทนที่จะนิมนต์พระมาจากวัดอื่น ก็เอาผ้าไปทำสังฆกรรมที่วัดอื่นเสียเลย จะได้หรือไม่ ?
คำถามนี้คงมีคนบอกว่า ไม่น่าจะได้ เหตุผลที่รู้สึกว่าไม่น่าจะได้ก็คือ ผ้ากฐินเกิดขึ้นที่วัดไหนก็ควรจะทำสังฆกรรมที่วัดนั้น คือควรเป็นเรื่องของวัดใครวัดมัน ไม่อย่างนั้นก็จะสับสนปนเปกันไปหมด
ถ้าวัดไหนรับกฐินกันไปเรียบร้อยแล้ว มีพระวัดอื่นมาขอใช้สถานที่ทำสังฆกรรมกฐินอีก (เพื่อจะได้มีพระครบห้ารูป) ก็จะกลายเป็นว่า ในปีเดียวกันนั้นวัดหนึ่งสามารถรับกฐินได้หลายครั้ง ก็ผิดพุทธบัญญัติอีก
ในที่สุดแล้วจะเห็นได้ว่า กฐินเป็นสังฆกรรมเฉพาะสงฆ์ในแต่ละวัด มุ่งหมายให้เป็นความสามัคคีของภิกษุที่จำพรรษาร่วมกันมาในแต่ละอาวาส การนำภิกษุต่างอาวาสมาร่วมสังฆกรรมกฐินด้วย จึงผิดต่อความมุ่งหมายของกฐิน
ในหนังสือ วินัยมุข เล่ม ๓ กัณฑ์ที่ ๒๖ เรื่องกฐิน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงนิพนธ์ไว้ตอนหนึ่งว่า
“ภิกษุผู้กรานกฐินต้องเป็นผู้จำพรรษามาแล้วถ้วนไตรมาส
ไม่ขาด ในอาวาสเดียวกัน มีจำนวนตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป”
คำถวายกฐินพระราชทาน มีข้อความอยู่ตอนหนึ่งว่า
“… น้อมนำมาถวายแด่พระสงฆ์ซึ่งจำพรรษากาลถ้วนไตรมาส
ในอาวาสวิหารนี้”
ที่มาที่อ้างทั้ง ๒ นี้ จะกล่าวมาจากหลักฐานอะไร หรือไม่ได้คำนึงถึงหลักฐานอะไร ก็ตามที แต่ลึกๆ ลงไปในใจของผู้กล่าวย่อมจะต้องเข้าใจกันมาแล้วและมั่นใจอยู่แล้วว่า ภิกษุหรือสงฆ์ที่จะรับกฐินได้ ต้องอยู่ในอาวาสเดียวกัน เพราะถ้ามีภิกษุที่มาจากอาวาสอื่นรวมอยู่ด้วยได้ ก็คงพูดไม่ได้ว่า “พระสงฆ์ซึ่งจำพรรษากาลถ้วนไตรมาสในอาวาสวิหารนี้”
ข้อความในคำถวายกฐินพระราชทาน อาจตีความได้ว่า “น้อมนำมาถวายในอาวาสนี้” มิได้หมายถึง “พระสงฆ์ที่จำพรรษาในอาวาสนี้”
ถ้าตีความอย่างนี้ก็ยิ่งไปกันใหญ่ คือจะกลายเป็นว่า จำพรรษาในวัดหนึ่งก็สามารถไปรับกฐินอีกวัดหนึ่งได้ ถ้าเป็นอย่างนี้พุทธบัญญัติเรื่องกฐินก็เป็นอันไม่เหลืออะไร
ผมค้นหาหลักฐานเรื่องที่มาของพระห้ารูปได้เท่าที่เสนอมานี้ ซึ่งสรุปได้ว่า นิมนต์พระต่างวัดมารับกฐินเพื่อให้ครบห้ารูป ไม่ได้
———–
ควรทราบว่า การทอดกฐินนั้นเป็นการถวายผ้าให้แก่สงฆ์ ซึ่งโดยสามัญสำนึกผู้ถวายจะต้องรู้เห็นอยู่แล้วว่ามีภิกษุมาจำพรรษาอยู่ด้วยกันเป็น “สงฆ์” ครบอยู่แล้วในที่นั้นในพรรษานั้น
คำว่า “สงฆ์” ในทางวินัยบัญญัติ ท่านหมายถึงภิกษุตั้งแต่ ๔ (สี่) รูป ขึ้นไป
แต่ “สงฆ์” ในกิจเกี่ยวกับกฐินนี้ท่านกำหนดไว้แน่นอนแล้วว่า อย่างต่ำต้องมีภิกษุ ๕ (ห้า) รูป
ชาวพุทธในเมืองไทยเข้าใจเช่นนี้มานานนักหนาแล้ว วัดไหนจวนเข้าพรรษาถ้ามีพระไม่ถึง ๕ รูป ชาวบ้านจะเดือดร้อนใจกันมาก พระเองก็ร้อนใจ ต้องเที่ยวไปหานิมนต์พระมาจากวัดอื่นมาจำพรรษาเพื่อให้ครบ ๕ รูป บางทีถึงกับขอแรงให้ผู้ชายในหมู่บ้านบวชเพื่อให้มีพระครบ ๕ รูป
เหตุผลสำคัญที่ต้องทำเช่นนั้นก็คือ พระไม่ถึง ๕ รูป รับกฐินไม่ได้
ถ้าพอจะทอดกฐิน ไปนิมนต์พระจากต่างวัดมาให้ครบ ๕ รูป ก็ใช้ได้-ตามที่มีผู้เข้าใจเช่นนั้น-เป็นการถูกต้อง วัดที่มีพระจำพรรษาไม่ถึง ๕ รูปจะต้องเดือดร้อนใจไปทำไม เวลาจะทอดกฐินก็ไปนิมนต์มาจากต่างวัดให้ครบเสียก็หมดเรื่อง
แต่เพราะเขารู้กันดีว่าทำเช่นนั้นไม่ได้ จึงต้องพยายามให้มีพระจำพรรษาไม่น้อยกว่า ๕ รูปไปตั้งแต่ต้น
อนึ่ง เคยมีผู้แสดงความเห็นในเฟซบุ๊กนี่เองว่า อย่าว่าแต่นิมนต์พระต่างวัดมาให้ครบ ๕ รูปก็ใช้ได้เลย ถ้าหาพระไม่ได้จริงๆ แม้แต่สามเณรก็สามารถนิมนต์มาร่วมเป็นคณะให้ครบ ๕ รูปรับกฐินได้เช่นกัน
ความเห็นนี้ขัดแย้งกับหลักฐานในพระไตรปิฎกอย่างตรงกันข้าม
โปรดสดับ –
จตุวคฺคกรณญฺเจ ภิกฺขเว กมฺมํ สามเณรจตุตฺโถ กมฺมํ กเรยฺย อกมฺมํ น จ กรณียํ ฯ
ที่มา: จัมเปยยขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๑๘๘
แปลเป็นไทยว่า- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้ากรรมที่สงฆ์จตุวรรคจะทำ สงฆ์มีสามเณรเป็นที่ ๔ ทำกรรม กรรมนั้นใช้ไม่ได้และไม่ควรทำ
ถอดความชัดๆ ว่า เอาสามเณรมาร่วมให้ครบองค์สงฆ์ ทำสังฆกรรมอะไรก็ใช้ไม่ได้และไม่ควรทำ
…………….
ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ท่านผู้ใดมีหลักฐานเหนือกว่านี้ ที่แสดงว่า นิมนต์พระต่างวัดมารับกฐินเพื่อให้ครบห้ารูปก็ใช้ได้ เอาสามเณรมาร่วมรับกฐินด้วยก็ใช้ได้ ขอได้โปรดแสดงให้สาธารณชนได้รู้ได้เห็น ก็จะเป็นมหากุศลแก่ชาวพุทธโดยทั่วกัน
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๙ กันยายน ๒๕๖๐
๑๓:๔๖
—————
โพสต์ครั้งแรก: ๑๔ กันยายน ๒๕๕๘
…………………………….