อนันต์ (บาลีวันละคำ 1,258)
อนันต์
อ่านว่า อะ-นัน
“อนันต์” บาลีเขียน “อนนฺต” อ่านว่า อะ-นัน-ตะ ประสมขึ้นจากคำว่า น (ไม่, ไม่ใช่) + อนฺต
“อนฺต” (อัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก อมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ต ปัจจัย, แปลง มฺ ที่สุดธาตุเป็น นฺ (อมฺ > อนฺ)
: อมฺ + ต = อมฺต > อนฺต แปลตามศัพท์ว่า “ถึงที่สุด”
“อนฺต” ตามคำแปลนี้หมายถึง :
(1) ที่สุด, สำเร็จ, ที่หมาย (end, finish, goal)
(2) เขต, ชาย, ริม (limit, border, edge)
(3) ข้าง (side)
(4) ด้านตรงกันข้าม, ตรงกันข้าม, ตำแหน่งตรงกัน (opposite side, opposite, counterpart)
น + อนฺต แปลง น เป็น อน ตามกฎการประสมของ น + กล่าวคือ :
(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แปลง น เป็น อ– เช่น
: น + มนุสฺส = นมนุสฺส > อมนุสฺส > อมนุษย์
“อมนุษย์” รากเดิมจึงไม่ใช่ อ + มนุษย์ อย่างที่ตาเห็นในภาษาไทย
(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ (อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ) แปลง น เป็น อน–
ในที่นี้ “อนฺต” ขึ้นต้นด้วยสระ คือ อ– จึงต้องแปลง น เป็น อน
: น > อน + อนฺต = อนนฺต แปลตามศัพท์ว่า “ไม่มีที่สุด” หมายถึง หาที่สุดมิได้, ไม่จบสิ้น, ไม่มีขอบเขต (endless, infinite, boundless)
ตามศัพท์ อนนฺต > อนันต์ ไม่ได้แปลว่า “มากล้น” แต่สิ่งใด “ไม่มีที่สุด” สิ่งนั้นย่อมส่อนัยว่า มากมาย มากเหลือล้นนั่นเอง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อนันต-, อนันต์ : (คำวิเศษณ์) ไม่มีสิ้นสุด, มากล้น, เช่น อนันตคุณ คุณอนันต์. (ป.).”
คัมภีร์อัฎฐสาลินีกล่าวไว้ว่า สิ่งที่เป็น “อนันตะ” คือหาที่สุดมิได้ มี 4 อย่าง คือ –
(1) อากาศ (อากาโส อนนฺโต)
(2) จักรวาล (จกฺกวาฬานิ อนนฺตานิ)
(3) จำพวกสิ่งมีชีวิต (สตฺตนิกาโย อนนฺโต)
(4) พระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า (พุทฺธญาณํ อนนฺตํ)
บางท่านกล่าวว่า กิเลสตัณหาของมนุษย์ก็เป็น “อนันตะ” หาที่สุดมิได้ด้วยเช่นกัน เช่น มีเท่านี้แล้วอยากได้เพิ่มเป็นเท่านั้น ครั้นพอมีเท่านั้นก็อยากได้เพิ่มเป็นเท่าโน้นต่อๆ ไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด
แต่กิเลสตัณหาก็เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถกำจัดให้สิ้นสุดลงได้
: ถ้ากำจัดกิเลสได้สิ้นสุด
: โลกมนุษย์ก็เป็นสุขอนันต์
8-11-58