บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

หลักการของกฐิน

กฐินมาแล้ว (๔)

กฐินมาแล้ว (๔)

———–

ใกล้จะออกพรรษา ใกล้จะถึงหน้ากฐิน

หาความรู้เรื่องกฐินกันไว้ก่อน

———–

ตอนที่ ๔ : ปัญหาอันเนื่องมาจากกฐิน

———–

ปัญหาที่ ๑ : ประมูลไตรกฐิน

บางวัดจัดผ้าไตรเท่าจำนวนพระสงฆ์ที่จำพรรษาในวัดนั้น แล้วประกาศให้ญาติโยมจองเป็นเจ้าภาพ มีกำหนดราคาไว้ด้วยว่าไม่ต่ำกว่าไตรละเท่าไร ใครให้ราคามากกว่าคนนั้นก็ได้เป็นเจ้าภาพถวายไตรนั้น ทุกไตรเรียกขานว่า “ไตรกฐิน” ผู้เป็นเจ้าภาพทุกคนก็เข้าใจว่าตนเป็นเจ้าภาพไตรกฐิน

ถามว่า ทำเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่

คำตอบก็คือ ไตรกฐินมีได้ไตรเดียว ถ้าจะว่าให้ถูกจริงๆ ผ้ากฐินก็มีได้แค่ผืนเดียว ในกรณีที่เจ้าภาพถวายทั้งไตร พระท่านก็จะเลือกใช้เป็นผ้ากฐินเพียงผืนเดียว ไม่ใช่เป็นผ้ากฐินหมดทั้งไตร

เมื่อหลักการมีอยู่เช่นนี้ ผ้าไตรที่จัดประมูลเท่าจำนวนพระจึงไม่ใช่ไตรกฐิน

ดังที่ได้บอกแล้วว่า เจ้าภาพกฐินมีได้รายเดียว และผ้ากฐินก็มีได้ผืนเดียว ก่อนที่จะถวาย เจ้าภาพก็ต้องกำหนดแน่นอนแล้ว่าไตรกฐินคือไตรไหน เมื่อถวายไตรที่ใช้เป็นผ้ากฐินแล้ว ไตรอื่นๆ ก็ไม่มีฐานะที่จะเป็นไตรกฐิน เป็นได้เพียงไตรบริวาร คือเป็นบริวารกฐิน

ปัญหาเกิดจากผู้จัดรายการเช่นว่านั้นไม่บอกความจริง การบอกว่าทุกไตรเป็นไตรกฐินคือการบอกความเท็จ ทำให้ผู้รับเป็นเจ้าภาพเข้าใจผิดคิดว่าตนเป็นเจ้าภาพไตรกฐิน

————–

ปัญหาที่ ๒ : ทอดกฐินหมู่

กรณีก็คือมีผู้จัดการบอกบุญให้คนทั้งหลายรับเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน แล้วก็ไปนิมนต์พระวัดต่างๆ เป็นสิบเป็นร้อยวัดมารับกฐินรวมกันในที่แห่งเดียว เมื่อทำพิธีถวายกฐินแล้วใครรับเป็นเจ้าภาพวัดไหนก็เอาผ้ากฐินเข้าไปถวายพระที่มาจากวัดนั้น พระแต่ละวัดก็เอาผ้ากฐินกลับไปทำพิธีกรานกฐินยังวัดของตนๆ

ถามว่า ทำเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่

ปัญหานี้ต้องแยกประเด็น

ประเด็นแรก นิมนต์พระไปรับกฐินนอกวัดได้หรือไม่

ในคัมภีร์มีเรื่องอำมาตย์ผู้หนึ่งมีศรัทธาจะถวายผ้าจำนำพรรษา (คือผ้าที่ถวายแก่ภิกษุที่จำพรรษาแล้วเพื่อทำเป็นจีวรผลัดเปลี่ยนชุดเดิม เป็นผ้าที่มีเจตนารมณ์เดียวกับผ้ากฐินนั่นเอง) ปกติผ้าชนิดนี้ต้องถวายเมื่อออกพรรษาแล้ว ขณะนั้นยังไม่ออกพรรษา แต่ท่านอำมาตย์มีราชการสงครามจะต้องไปรบในเวลานั้นและไม่แน่ใจว่าจะรอดชีวิตกลับมาหรือไม่ ทั้งไม่อาจจะรอจนถึงออกพรรษาแล้ว จึงส่งคนไปนิมนต์พระให้ไปรับผ้าที่บ้าน แต่พระไม่ไปรับ เหตุที่ไม่ไปรับไม่ใช่เพราะไปรับผ้านอกวัดไม่ได้ แต่เพราะเห็นว่ายังไม่ออกพรรษา ยังไม่ถึงเวลาที่จะรับถวายผ้าเช่นนั้น กรณีนี้เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้รับผ้าจำนำพรรษาก่อนถึงเวลาออกพรรษาได้เมื่อมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน มีคำเรียกผ้าที่ถวายในกรณีเช่นนี้ว่า “อัจเจกจีวร” แปลว่า จีวรเร่งด่วน

เรื่องนี้ได้หลักว่า ภิกษุสามารถออกไปรับผ้านอกวัดได้

ดังนั้น กรณีที่นิมนต์พระไปรับผ้ากฐินนอกวัดจึงสามารถทำได้

ประเด็นที่สอง พระต่างวัดรับถวายผ้ากฐินรวมกันได้หรือไม่

กรณีนี้ถ้าเป็นเพียงทำพิธีถวายผ้าก็ไม่มีเหตุอันควรขัดข้อง เพราะยังไม่ใช่สังฆกรรม

การรับกฐินมี ๓ ขั้นตอน คือ ๑ รับผ้า ๒ ลงมติมอบผ้า ๓ ประชุมสงฆ์อนุโมทนา

๑ การรับผ้า จะรับที่ไหนก็ได้ ไปรับรูปเดียวก็ได้ หรือจำเป็นจริงๆ ส่งใครเป็นผู้แทนไปรับมาก็ทำได้ ข้อสำคัญอยู่ที่ผ้านั้นทายกตั้งเจตนาถวายแก่สงฆ์เพื่อให้เป็นผ้ากฐิน

๒ การลงมติมอบผ้า เป็นสังฆกรรมชนิด “อปโลกนกรรม” คือแจ้งเรื่องเพื่อทราบหรือเพื่อขอความเห็น จะลงมติที่ไหนก็ได้ แต่พระทุกรูปในวัดนั้นจะต้องเข้าประชุมพร้อมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๕ รูป

๓ การประชุมสงฆ์อนุโมทนา ขั้นตอนนี้แหละที่เรียกว่า “กรานกฐิน” เป็นสังฆกรรมที่ต้องทำในเขตสีมา พูดง่ายๆ ว่าต้องทำในโบสถ์เท่านั้น จะไปทำนอกโบสถ์ไม่ได้

สรุปว่า การถวายผ้า-รับผ้ากฐิน แม้จะมีพระต่างวัดมารับในที่เดียวกัน ถ้าเจ้าภาพถวายถูกวัดถูกคนเรียบร้อย ก็สามารถทำได้ แต่เมื่อรับผ้าไปแล้ว พิธีอีก ๒ ขั้นตอนต้องไปทำที่วัดใครวัดมัน รวมกันไม่ได้

แต่เรื่องยังไม่ควรจบแค่นี้ คือไม่ควรจบแค่ว่านิมนต์พระวัดต่างๆ มารับผ้ากฐินรวมกันก็ใช้ได้ ไม่ผิด

เพราะการทอดกฐินในบ้านเราไม่ใช่มีเฉพาะพระธรรมวินัยเป็นกรอบอย่างเดียว แต่ยังมีวัฒนธรรม ประเพณี จารีตต่างๆ เป็นแบบแผนอยู่อีกด้วย

ตัวอย่างเทียบเคียงเพื่อให้เห็นภาพชัดก็คือ การโกนคิ้ว

ในคัมภีร์บอกไว้ว่า เมื่อจะบวชเป็นภิกษุต้องปลงผมโกนหนวด 

ไม่ได้บอกว่าต้องโกนคิ้วด้วย 

ถ้าถือตามนี้ พระไม่โกนคิ้วก็ไม่ผิดพระธรรมวินัย

แต่ถ้าเป็นพระเถรวาทในคณะสงฆ์ไทย ไม่โกนคิ้วผิดจารีตของพระไทย

ฉันใดก็ฉันนั้น

แบบแผนของการทอดกฐินในบ้านเราก็คือ –

จะทอดกฐินวัดไหน เจ้าภาพต้องเข้าไปแจ้งความจำนงต่อทางวัด ที่เรียกว่า “จองกฐิน” ก่อน 

จะมียกเว้นบ้างก็เฉพาะกฐินจร คือกรณีผู้มีศรัทธาตระเวนไปหาวัดที่ยังไม่มีใครทอดกฐินในช่วงเวลาสุดท้ายของฤดูกฐินแล้วจัดการทอดในทันทีนั้น 

อย่างนี้ยกเว้นไม่ต้องจองก่อนเพราะจำกัดด้วยวันเวลา 

แต่กฐินที่ทอดตามปกติ เจ้าภาพต้องจองก่อนเสมอไป

กรณีกฐินหมู่ตามปัญหานั้น เจ้าภาพจริงๆ ไม่ได้เข้าไปจอง ทางผู้จัดการให้มีการทอดกฐินหมู่จะได้เข้าไปจองหรือเปล่าก็ไม่อาจทราบได้ อาจทำเพียงแค่บอกพระว่านิมนต์ไปรับกฐิน แต่เจ้าภาพเป็นใครที่ไหนไม่รู้ 

แม้ทางผู้จัดการจะได้เข้าไปจองตามแบบแผน แต่ตัวก็ไม่ใช่เจ้าภาพจริง ตัวเจ้าภาพจริงไม่ได้เป็นคนจอง ว่าตามแบบแผน เรื่องก็ไม่ควรเป็นเช่นนี้

เมื่อถึงวันทอด เจ้าภาพก็แห่กฐินไปยังวัด หรือจะตั้งองค์กฐินที่วัดอยู่แล้วก็ตาม ตามแบบแผนเจ้าภาพก็ต้องไปทอดที่วัด แต่นี่เป็นเจ้าภาพทอดกฐินทั้งที ไม่ได้ไปทอดเองที่วัด วัดอยู่ที่ไหนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรเป็นเช่นนั้นอีกเช่นกัน

งานทอดกฐิน เจ้าภาพกับเจ้าถิ่นได้มีโอกาสพบปะกัน ธรรมเนียมเดิมวัดเจ้าถิ่นจะเป็นผู้ต้อนรับเลี้ยงดูญาติโยมที่มากับคณะกฐิน เป็นการแสดงน้ำใจไมตรีต่อกัน การทอดกฐินจึงเป็นโอกาสที่จะสร้างความสมัครสมานสามัคคีต่อกันเป็นอย่างดี 

กฐินหมู่ตามที่จัดกันนั้นตัดโอกาสเช่นว่านี้ไปเสียหมดสิ้น

กฐินหมู่แม้ไม่ผิด แต่ก็ไม่งาม

ประเด็นที่สาม วัดที่มารับผ้ากฐิน ถ้ามีพระไม่ถึง ๕ รูป จะทำอย่างไรกัน

ประเด็นนี้ได้ยินว่าเกิดมีมาแล้ว เพราะผู้จัดการทอดกฐินหมู่มุ่งจะหาวัดให้ได้มากๆ เพื่อให้ดูยิ่งใหญ่ จึงไม่คำนึงว่าวัดไหนมีพระครบ ๕ รูปหรือไม่ 

เลยกลายเป็นว่าทอดกฐินแต่ไม่เป็นกฐิน เป็นเรื่องที่ไม่ควรเป็นเช่นนั้น

หมายเหตุ: ประเด็นนี้เกี่ยวกับปัญหาที่ว่า วัดที่มีพระไม่ครบ ไปนิมนต์มาจากต่างวัดเพื่อให้ครบ จะถูกต้องหรือไม่ และเกี่ยวไปถึงกรณีที่ว่า “พระรูปเดียวก็รับกฐินได้” ขอได้โปรดศึกษาให้แจ่มแจ้งว่าจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร (เรื่องนี้ได้เขียนไว้แล้วในหนังสือ ทอดกฐินให้ถูกวิธี)

————–

ปัญหาที่ ๓ : ทอดกฐินเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ได้หรือไม่

โปรดดูภาพประกอบภาพแรก

ข้อความในภาพเขียนว่า –

ขอเชิญพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญกฐินสามัคคี

ทอดถวาย หลวงปู่เบ็ง ฐิตธัมโม

…………….

ปัญหาอยู่ตรงนี้ คือตรงที่ว่า — ทำบุญกฐินสามัคคี ทอดถวาย หลวงปู่เบ็ง ฐิตธัมโม

หลักการของกฐินก็คือ ผ้ากฐินนั้นเป็นของเกิดขึ้นแก่สงฆ์ ดังข้อความในกรรมวาจาให้ผ้ากฐิน (พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๙๖) ที่ว่า 

อิทํ  สงฺฆสฺส  กฐินทุสฺสํ  อุปฺปนฺนํ.  

แปลว่า ผ้ากฐินผืนนั้นเกิดแล้วแก่สงฆ์

ในคำอปโลกน์กฐินก็มีข้อความตอนหนึ่ง ใจความว่า 

… ผ้ากฐินนี้เป็นของบริสุทธิ์ประดุจเลื่อนลอยมาโดยนภากาศ แล้วและตกลงในท่ามกลางระหว่างสงฆ์ จะได้จำเพาะเจาะจงแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็หาไม่ …

จึงเป็นอันยืนยันได้ว่า กฐินนั้นผู้ถวายต้องตั้งเจตนาถวายแก่สงฆ์ ไม่ใช่ถวายเจาะจงแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง

กฐินตามภาพประกอบ (พบใน google) ที่ระบุว่า “ทอดถวาย หลวงปู่….” จึงไม่ถูกต้อง

คำถามคือ ผู้ที่กะการจะทอดกฐินแบบนี้ท่านคิดอย่างไรของท่าน ท่านไม่รู้ว่าหลักการมีอยู่อย่างนั้นๆ หรือท่านรู้ทุกอย่าง แต่ต้องการจะทำอะไรที่มันพิลึกพิสดารให้มันแปลกไปจากหลักการ หรือว่าท่านไปได้ความเข้าใจมาจากไหนว่าถวายกฐินแบบเจาะจงนี้ก็ใช้ได้ 

กฐินนั้นเป็นสังฆทานชนิดหนึ่ง จึงต้องถวายแก่สงฆ์ 

การกระทำเช่นนี้ก็เหมือนคนที่หิ้ว “ถังสังฆทาน” เข้าไปในวัด ถามหาหลวงพ่อเจ้าอาวาส บอกว่าจะมาถวายสังฆทาน พระท่านบอกว่าหลวงพ่อไม่อยู่ บ่ายๆ จึงจะกลับ เขาก็หิ้ว “ถังสังฆทาน” กลับ บอกว่าเดี๋ยวบ่ายจะมาใหม่

ตั้งเจตนาถวายเจาะจงหลวงพ่อเจ้าอาวาส

แต่ก็ยังเข้าใจไปว่า-นั่นแหละถวายสังฆทาน

นี่ก็แปลว่า ถวายสังฆทานแบบเจาะจงกำลังลามออกมาถึงกฐินเข้าแล้ว

ขอให้ช่วยกันกู่เรียกกันไว้นะครับ ประเดี๋ยวจะกู่ไม่กลับไปอีกเรื่องหนึ่ง

————–

ปัญหาที่ ๔ : ทอดกฐินเป็นกองๆ

ดูภาพประกอบอีกภาพหนึ่งนะครับ ได้มาจาก google เช่นกัน

โปรดทราบว่า ผ้ากฐินมีได้แค่ผืนเดียว 

แล้วจะเอาอะไรไปทำเป็นกองๆ

ลักษณนามที่เรียกว่า “กอง” นั้น เป็นที่รู้กันว่าใช้กับผ้าป่า เนื่องจากในบ้านเรานี้แต่เดิมเวลาใครจะทอดผ้าเขานิยมเอาสิ่งของอันสมควรแก่สมณบริโภค เช่นของใช้ของพระ รวมทั้งผลไม้ตามฤดูกาลที่หาได้ง่ายในพื้นถิ่นไปกองรวมกันไว้ใกล้ๆ วัดหรือใกล้กุฏิพระ มีผ้าพาดไว้บนกองสิ่งของนั้นด้วย แล้วส่งสัญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นจุดประทัด แล้วเจ้าของผ้าป่าก็จะหลบไป ไม่ให้พระเห็นตัว พระท่านรู้ว่ามีคนเอาผ้าป่ามาทอด ท่านก็จะไปชักผ้านั้นมาพร้อมสิ่งของพวกนั้นด้วย

ผ้าป่าจึงเรียกว่า “กอง” ได้ เพราะของเดิมนั้นเขา “กอง” ไว้กับพื้นจริงๆ และจะมีสักกี่กองก็ได้ ไม่จำกัดจำนวน

แต่กฐินนั้นเจ้าภาพนำไปถวายแก่สงฆ์โดยตรง ไม่ได้เอาอะไรไปกองไว้ที่ไหนก่อนเลย จึงไม่เรียกว่า “กอง”

และเมื่อผ้ากฐินมีได้ผืนเดียว ก็จึงไม่มีอะไรที่จะเอาไปทำให้เป็นกองๆ ได้เหมือนผ้าป่า ถ้าจะดันทุรังเรียกเป็น “กอง” ก็มีได้กองเดียว ไม่ใช่มีเป็นสิบเป็นร้อยกอง

————–

ปัญหาที่ ๕ : พระเป็นเจ้าภาพทอดกฐินในวัดที่ตนจำพรรษาอยู่ ได้หรือไม่

หลักในเรื่องนี้มีว่า พระด้วยกันก็ทอดกฐินได้ แต่ที่เคยมีผู้ทำนั้นคือจำพรรษาวัดนี้ แล้วไปเป็นเจ้าภาพทอดกฐินอีกวัดหนึ่ง อย่างนี้ได้

แต่จำพรรษาวัดนั้น เป็นเจ้าภาพวัดนั้น แบบนี้ยังไม่มีใครทำ เป็นแต่มีผู้ยกขึ้นเป็นประเด็นเพื่อหาคำตอบ

ถ้าได้ มีเหตุอย่างไร

ถ้าไม่ได้ มีเหตุผลอย่างไร

ผมยังมองไม่เห็นคำตอบ ได้สอบถามไปยังญาติมิตรที่เรียนบาลีมาด้วยกันให้ช่วยสืบค้นหลักฐาน แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ 

ท่านที่รักพระศาสนา ช่วยกันศึกษาดูหน่อยนะครับ

(ถือโอกาสบ่นเล็กน้อยว่า ในเมืองไทยเรานี้มหาเปรียญมีอยู่เป็นอเนกอนันต์ สอบได้แต่ละปีมีการชื่นชมยินดีกันครึกครื้นมาก แต่ก็จบอยู่แค่เรียนเพื่อให้สอบได้เท่านั้น ที่จะมีแก่ใจศึกษาสืบค้นในพระคัมภีร์เพื่อหาคำตอบเรื่องนั่นนี่โน่น มีเปอร์เซ็นต์เป็นศูนย์)

————–

ปัญหาที่ ๖ : ทอดกฐินเอาเงิน

ข้อนี้เป็นค่านิยมที่เบี่ยงเบน แม้จะไม่ใช่ปัญหาโดยตรงกับตัวกฐิน แต่ก็อยู่ในจำพวกปัญหาชนิดหนึ่งเพราะทำให้หลักการของกฐินผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปหมด

หลักการของกฐินตามพุทธานุญาตก็คือ 

๑ เป็นโอกาสให้ภิกษุผลัดเปลี่ยนจีวรประจำปี 

๒ เป็นโอกาสให้ภิกษุแสดงออกซึ่งความสามัคคีด้วยการพร้อมใจกันช่วยทำจีวรแล้วยกให้ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่จำพรรษาอยู่ร่วมกันมาตลอดสามเดือน

เจตนารมณ์ของกฐินตามพุทธบัญญัติมีแค่นี้

แต่เวลานี้แทบจะไม่มีใครได้นึกถึงเจตนารมณ์ตามพุทธบัญญัตินี้อีกแล้ว

กลายเป็นว่าหยิบฉวยเอาพุทธานุญาต-พุทธบัญญัติเรื่องกฐินมาเป็นเครื่องมือในการหาเงินกันอย่างโจ่งแจ้ง

เรื่องนี้ถ้าเป็นโรคก็รักษาไม่หายเสียแล้ว เพราะพากันดื้อยาทั่วไปหมด จึงไม่ต้องไปคิดรักษา เพียงแต่ให้ช่วยกันรู้ทัน จะได้ชวนกันสลดใจเป็นธรรมสังเวชได้สถานหนึ่ง

————–

ปัญหาที่ ๗ : กฐิน: เทศกาลเสริมสร้างลักษณะนิสัยเห็นแก่กิน

ข้อนี้ก็คล้ายๆ กับข้อที่แล้ว คือเหมือนเป็นค่านิยมอะไรชนิดหนึ่งที่พอถึงเทศกาลกฐินก็จะมีคนจำพวกหนึ่งตั้งใจไปกินอาหารฟรีที่วัดที่มีงานทอดกฐิน

ตามประเพณีเดิมของไทยเรานั้น เมื่อวัดมีงานบุญ ผู้คนรอบๆ วัดก็จะไปช่วยกันทำงานตามแต่จะช่วยได้ เมื่อมีคนมาช่วยงานก็ต้องมีการเลี้ยงดูกัน เจตนาก็คือเลี้ยงดูคนที่มาช่วยทำงาน 

บุญกฐินแต่เดิมก็เป็นเช่นนั้น ผู้คนมาช่วยกันทำงาน ช่วยกันเลี้ยงดู เสร็จงานก็ช่วยกันเก็บกวาด สมัยก่อนมีการตั้งโรงครัวที่วัดหรือมิเช่นนั้นก็ขอ “ข้าวหม้อแกงหม้อ” คือแต่ละบ้านทำอาหารมาร่วมกันเลี้ยงดูที่วัด สมัยนี้เปลี่ยนเป็นเอาร้านอาหารหลากหลายชนิดมาตั้งเป็นซุ้มเลี้ยงดูกัน

และที่เปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังเท้าก็คือ จะมีผู้คนจำนวนมากที่ตั้งใจมากินโดยเฉพาะ คนพวกนี้ไม่ได้ตั้งใจมาช่วยงาน ไม่สนใจงาน ไม่ช่วยหยิบจับอะไรทั้งสิ้น ไม่สนใจบุญกุศลใดๆ จะมีพิธีทอดกฐินกันอย่างไร ไม่รับรู้รับทราบทั้งนั้น เข้าไปในวัดเพื่อกินอย่างเดียว กินอิ่มแล้วยังหอบหิ้วเอากลับไปบ้านอีกด้วย และนอกจากจะไม่ช่วยงานอะไรแม้แต่น้อยแล้ว ยังทิ้งภาชนะ ถุงพลาสติก เศษอาหาร ฯลฯ ทำความสกปรกให้วัดอย่างไร้ความรับผิดชอบอีกด้วย

ได้ยินว่าบางพื้นถิ่นคนจำพวกนี้ถึงกับทำรายการทอดกฐินของวัดต่างๆ แล้วจัดรถขนสมัครพรรคพวกไปเที่ยวกินฟรีตามวัดต่างๆ กันเลยทีเดียว

มนุษย์จำพวกนี้มีจำนวนมากกว่าเจ้าภาพที่มาทอดกฐินหลายเท่า บางวัดเจ้าภาพแท้ๆ แทบอดข้าว เพราะนักกินทั้งหลายสวาปามกันไปก่อนจนเหี้ยนเตียน

คนเหล่านี้ก็คือคนที่อยู่ในสังคมตามปกตินั่นเอง แต่น่าอัศจรรย์ที่พวกเขาไม่ได้ซึมซับรับรู้คุณค่าใดๆ ของบุญกฐินอันเป็นงานบุญของคนในสังคมที่พวกเขาเป็นสมาชิกอยู่นั่นเอง-เหมือนกับว่าพวกเขาเป็นมนุษย์ที่มาจากอีกโลกหนึ่ง เป็นโลกแห่งความอดอยากและหิวโหย และรับรู้ได้อย่างเดียวว่า เทศกาลบุญกฐินเป็นฤดูกาลที่พวกเขาจะได้กินอาหารอย่างอิ่มหมีพีมันโดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น

คงจะมีท่านจำพวกหนึ่งที่ขอให้เรามองบวก โดยให้เหตุผลว่า เราให้อาหารปลา ให้อาหารนก เลี้ยงหมาเลี้ยงแมวเป็นทาน เรายังทำกันได้ แล้วนี่เลี้ยงคนแท้ๆ ทำไมจะไม่ควรทำเล่า อย่าไปคิดอะไรให้มาก ถือว่าเป็นการสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์ ควรเห็นเป็นมหากุศลด้วยซ้ำไป

ท่านผู้ใดจะเห็นเช่นนั้นผมก็ไม่ขัดข้อง เชิญตามสบาย เพียงแต่อยากชวนให้คิดนิดหน่อยเท่านั้นว่า นกปลาหมาแมวนั้นเรารับรู้แต่ต้นแล้วว่าเขาเป็นได้แค่นั้น แต่มนุษย์เราเป็นได้มากกว่านั้น มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก 

ฝึกขจัดลักษณะนิสัยที่ไม่พึงปรารถนาออกไป 

ฝึกเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่พึงปรารถนาให้เกิดมีขึ้น

แล้วทำไมเราจึงไม่ควรถือเอาบุญกฐินเป็นเทศกาลแห่งการฝึกเพื่อนมนุษย์เหล่านั้นให้มีลักษณะนิสัยที่พึงปรารถนา เป็นต้นว่ามรรยาทในการกิน และการช่วยงานสังคมตามฤดูกาล

ทำไมจึงปล่อยให้เพื่อนมนุษย์ของเรามีค่าเท่ากับนกปลาหมาแมวเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม นี่ก็คงเป็นสิ่งที่งอกออกมาจากบุญกฐินจนแก้ไขไม่ได้ไปแล้วอีกเรื่องหนึ่ง 

ผมอยากให้คนที่มีสติปัญญาเฉียบแหลมช่วยกันคิดหาวิธีการจัดระเบียบการกินให้แก่มนุษย์จำพวกนี้เพื่อให้บุญกฐินมีคุณค่ามากกว่าเทศกาลเสริมสร้างลักษณะนิสัยเห็นแก่กินอย่างที่กำลังเป็นอยู่ทุกวันนี้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๑ กันยายน ๒๕๖๐

๑๔:๔๗

—————–

ปรับปรุงเพิ่มจากโพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๘

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *