บาลีวันละคำ

สัพเพเหระ (บาลีวันละคำ 508)

สัพเพเหระ

เป็นภาษาอะไร ?

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า

สัพเพเหระ : (ภาษาปาก) ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน, ไม่ใช่สิ่งสําคัญ, เช่น ของสัพเพเหระ เรื่องสัพเพเหระไม่มีประโยชน์

สัพเพ..” รูปคำเป็นบาลี เช่นในคำว่า สพฺเพ สตฺตา (สัพเพ สัตตา)

แต่ “..เหระ” ไม่มีคำรูปนี้ในบาลี

1. ลากเข้าความ

ภาษาไทยมีคำว่า “เหรา” (เห-รา) เป็นชื่อแมงดาทะเล และชื่อสัตว์ในนิยายมีรูปครึ่งนาคครึ่งมังกร

อาจลากไปหาความได้ว่า เหราเป็นสัตว์ในนิยาย ไม่มีสาระจริงจัง เมื่อเห็นอะไรไม่มีสาระเราจึงพูดว่า “สัพเพเหรา” ในความหมายว่า “ทั้งหมดนั่นไม่มีสาระ” แล้ว “สัพเพเหรา” ก็กร่อนเป็น “สัพเพเหระ

2. ลากเข้าวัด

สัพเพ (บาลีเป็น “สพฺเพ”) เป็นศัพท์ที่แจกรูปแล้ว คำเดิมคือ “สพฺพ” (สับ-พะ) แปลว่า ทั้งหมด, ทั้งปวง, ทั้งสิ้น, ทุกอย่าง

สพฺพ” หมายความว่ารวมกันทั้งหมด ไม่แยกว่าอะไรเป็นอะไร ดีชั่ว สำคัญหรือไม่สำคัญก็ปนกันอยู่ในนั้น จึงตีความได้ว่า “ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน, ไม่ใช่สิ่งสําคัญ” เพราะถ้าเป็นชิ้นเป็นอันหรือเป็นสิ่งสําคัญ ก็คงไม่เอาไปปนกันเช่นนั้น

พูดว่า “รวมกันทั้งหมด” บาลีจะเป็น สพฺพ + หิ (วิภัตตินาม) ถ้าเป็นปุงลิงค์ จะได้รูปเป็น “สพฺเพหิ” และถ้าต้องการเน้นให้หนักแน่น ก็เอา สพฺเพหิ + เอว (เอ-วะ) จะได้รูปเป็น “สพฺเพเหว” (สับ-เพ-เห-วะ)

ในคัมภีร์บาลีพบคำว่า สพฺพ + หิ ทั้งหมด 492 แห่ง เป็น “สพฺเพหิ” 341 แห่ง เป็น “สพฺเพเหว” 151 แห่ง หรือเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมด

สัพเพเหวะ” ยกมาพูดในคำไทย เขียน กับ คล้ายกัน คนไม่คุ้นบาลีอ่านผิด จึงกลายเป็น “สัพเพเหระ” (ทำนองเดียวกับ “ใน” กลายเป็น “”)

3. สันนิษฐาน

มีผู้แสดงความเห็นว่า “..เหระ” น่าจะเป็นภาษาของภาคใดภาคหนึ่งในประเทศไทย มีความหมายอย่างเดียวกับ “สัพเพ” นั่นเอง ตามลักษณะคำไทยที่เอาคำที่มีความหมายอย่างเดียวกันมาพูดควบกัน เช่น ถนนหนทาง เสื่อสาดอาสนะ

แถลง :

ได้พยายามค้นดูว่า มีผู้รู้อธิบายที่มาของคำนี้ไว้ที่ไหนบ้าง ก็หาไม่พบ ท่านผู้ใดพบเห็นหรือรู้ที่มา ขอได้โปรดแจ้งสู่กันทราบเพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน โรค “ลากเข้าความ” หรือ “ลากเข้าวัด” จะได้บรรเทาเบาบางลงบ้าง

: “สัพเพเหระ” อาจเป็นเรื่องที่มีสาระ

เหมือน-กองขยะมองให้ดีก็มีศิลป์

—————-

(งมหาตามกำลัง ตามคำขอของพระคุณท่าน ชาญชิต ติสิรยานุสรณ์)

5-10-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย