บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ความไม่เข้าใจเรื่องพระรับเงิน

ความไม่เข้าใจเรื่องพระรับเงิน

—————————–

คำเตือน:

เรื่องนี้ยาวมาก และมีภาษาทางพระที่เข้าใจยากอยู่มาก

โปรดอ่านเมื่อมีเวลามากพอที่จะอ่านและที่จะขบคิดตามไปเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง

……………………………..

ผมได้อ่านโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่ง โพสต์เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๐ มีข้อความดังนี้ –

………………..

ตอนนี้กำลังถกเถียงกันเรื่องพระรับเงิน บางคนบอกว่ารับได้ บางฝ่ายบอกว่า รับไม่ได้เป็นอาบัติ แม้แต่ประมุขสงฆ์ก็ว่าญาติโยมไม่ควรนำเงินใส่บาตรหรือถวายพระ แต่บางคนบอกว่า เป็นแค่ธนบัตร กระดาษ มิใช่เงินจริงๆจึงควรรับได้ โดยใช้หลักมหาปเทส ๔ ประการที่พุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ หรือจะใช้หลักทื่ว่า ” อนุชานามิ ภิกขเว ราชูนัง อนุวัตติตุง” พระสงฆ์ท่านไม่กล้าที่จะบอกว่า การรับจตุปัจจัย ขอให้ใช้หลักเทียบเคียงมหาปเทส 4 ก็คงได้ ดังนั้นจึงขอให้ท่านผู้รู้ช่วยตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้แทนพระคุณเจ้าด้วย

(จบข้อความจากโพสต์)

……………………………..

ในโพสต์ดังกล่าวมีภาพข้อความที่ยกมาจากโพสต์อื่น ดังที่ผมนำมาลงประกอบไว้ในที่นี้ด้วยแล้ว ข้อความในภาพว่าดังนี้ –

……………………………..

ธนบัตรไม่ใช่เงิน

ไม่ใช่ทองครับ

เป็นกระดาษที่มีค่า

ตามกฎหมายครับ

ตรงนี้ต้องให้มหาป

เทส ๔ วินิจฉัย

ตัดสินครับ

พระทศพลญาณ

ของพระพุทธองค์

ประทานทางออกไว้

แล้วครับ

(จบข้อความในภาพ)

……………………………..

ผมติดใจตรงคำว่า 

“ธนบัตรไม่ใช่เงินไม่ใช่ทองครับ

เป็นกระดาษที่มีค่าตามกฎหมายครับ”

ผู้เขียนข้อความนี้คงต้องการจะสื่อความดังที่ผมจะกล่าวต่อไปนี้ คือ –

ในจำนวนศีล ๒๒๗ ข้อของภิกษุนั้น มีอยู่ข้อหนึ่งที่บัญญัติไว้ว่า

…………….

อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทองและเงิน หรือยินดีทองและ

เงินอันเขาเก็บไว้ให้, ภิกษุนั้นต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์.

…………….

ปัญหาที่ถกเถียงกันก็คือ คำว่า “ทองและเงิน” (ชาตรูปรชต) ในสิกขาบทนี้หมายถึงอะไร

มีท่านจำพวกหนึ่งเข้าใจว่า “ทองและเงิน” ในที่นี้ก็คือ gold และ silver 

แม้แต่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ที่ฝรั่งผู้เป็นปราชญ์ทางภาษาบาลีเป็นผู้จัดทำก็แปลศัพท์นี้และอ้างถึงกรณีนี้ว่า in the prohibition of accepting gold & silver (ในกรณีที่ทรงห้ามมิให้รับทองและเงิน)

ถ้าศึกษาเรื่องราวที่เป็นต้นเหตุ (มีคำเก่าเรียกว่า “ต้นบัญญัติ”) จะช่วยให้สามารถวินิจฉัยได้ถูกต้อง

ต้นเหตุของศีลข้อนี้มีเรื่องอยู่ว่า –

ในสมัยพุทธกาล มีโยมคนหนึ่งนิมนต์พระรูปหนึ่งไปฉันที่บ้านเป็นประจำ อยู่มาวันหนึ่ง เกิดเหตุจำเป็นต้องเอาอาหารที่เตรียมไว้จะถวายพระมาให้ลูกกินเสียก่อน เมื่อพระไปถึงบ้าน จึงเล่าเหตุจำเป็นนั้นให้ท่านทราบ และได้เรียนท่านด้วยว่า ได้เตรียมเงินไว้แล้วที่จะไปจัดซื้ออาหารมาถวายใหม่ ท่านอยากจะฉันอะไรก็ขอให้บอก 

(กหาปเณน  ภนฺเต  กึ  อาหริยตุ = พระคุณเจ้าจะให้นำอะไรมาด้วยกหาปณะ) 

พระรูปนั้นจึงบอกว่า ถ้าโยมตั้งใจจะบริจาคเงินจำนวนนั้นเพื่ออาตมาอยู่แล้วละก็ ไม่ต้องไปซื้ออาหารหรอก ถวายเงินแก่อาตมาเลยก็ได้ 

(ปริจฺจตฺโต  เม  อาวุโส  กหาปโณติ = โยมตั้งใจบริจาคกหาปณะแก่อาตมาแล้วใช่ไหม  อาม  ภนฺเต  ปริจฺจตฺโตติ = ใช่ขอรับ ตั้งใจบริจาคแล้ว ตญฺเญว  เม  อาวุโส  กหาปณํ  เทหีติ = กหาปณะนั่นแหละโยม ถวายอาตมาเลย) 

เมื่อพระพูดเช่นนั้น โยมก็ไม่อาจจะขัดได้ จึงถวายเงินนั้นแก่พระ 

พระรูปนั้นก็รับเงินไป 

โยมผู้นั้นได้พูดแสดงความรู้สึกออกมาว่า พระภิกษุรับเงินก็ไม่ต่างอะไรกับชาวบ้าน 

(ยเถว  มยํ  รูปิยํ  ปฏิคฺคณฺหาม  เอวเมวิเม  สมณา  สกฺยปุตฺติยา  รูปิยํ  ปฏิคฺคณฺหนฺตีติ. พวกเรารับรูปิยะฉันใด พวกสมณะศากยบุตรเหล่านี้ก็รับรูปิยะฉันนั้นเหมือนกัน) 

เหตุการณ์ที่พระรับเงินนี้ทำให้เกิดเสียงตำหนิติติงกันขึ้นมา เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลข้อนี้ขึ้นดังข้อความในตัวบทว่า – 

…………….

โย  ปน  ภิกฺขุ  ชาตรูปรชตํ  อุคฺคเณฺหยฺย  วา  

อุคฺคณฺหาเปยฺย  วา  อุปนิกฺขิตฺตํ  วา  สาทิเยยฺย  

นิสฺสคฺคิยํ  ปาจิตฺติยํ.

อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทองและเงิน หรือยินดีทองและ

เงินอันเขาเก็บไว้ให้, ภิกษุนั้นต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์.

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๒ นิสสัคคียกัณฑ์ โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๘ พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ข้อ ๑๐๕ หน้า ๙๐

…………….

หลังจากพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานล่วงมา ๑๐๐ ปี พระสงฆ์กลุ่มหนึ่งที่เรียกกันว่า พวกวัชชีบุตร ได้ตั้งข้อกำหนดของพวกตนขึ้นมา ๑๐ ข้อ ซึ่งล้วนแต่ฝ่าฝืนหรือหลบเลี่ยงศีล อันเป็นพุทธบัญญัติทั้งสิ้น 

๑ ใน ๑๐ ข้อนั้นก็คือ ให้ภิกษุรับเงินได้

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้พระสงฆ์ผู้ทรงศีลทรงธรรมตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยเห็นว่า จะทำให้พระศาสนาวิปริต จึงพร้อมใจกันทำสังคายนาประกาศยืนยันให้รู้ทั่วกันว่า ข้อกำหนดทั้ง ๑๐ ข้อของพวกวัชชีบุตร (รวมทั้งที่ว่า “ให้ภิกษุรับเงินได้”) นั้น เป็นเรื่องนอกธรรม นอกวินัย ไม่มีในคำสั่งสอนของพระศาสดา

จึงเป็นที่รับรู้กันตลอดมาจนถึงทุกวันนี้ว่า “ห้ามภิกษุรับเงิน”

———————-

ศึกษาตัวบทกันก่อน

ในที่นี้จะขอยกต้นฉบับภาษาบาลีมาแสดงไว้ด้วย ท่านที่ไม่ถนัดคำบาลีจะอ่านเฉพาะภาษาไทยก็ได้ แต่ควรสังเกตถ้อยคำบางคำไว้บ้าง

ข้อความในพระไตรปิฎกข้อ ๑๐๖ ถัดมาซึ่งเป็นส่วนขยายความ ได้ให้คำจำกัดความคำว่า “ชาตรูปรชตํ” (ทองและเงิน) ไว้ดังนี้ –

………………

ขอย้ำว่า ข้อความต่อไปนี้เป็นข้อความในพระไตรปิฎกโดยตรง ไม่ใช่ข้อความในอรรถกถา เพราะฉะนั้นสำนักที่ “ไม่เอาอรรถกถา” ก็คงไม่ต้องตั้งป้อมปฏิเสธ

………………

ชาตรูปํ  นาม  สตฺถุวณฺโณ  วุจฺจติ.  

ที่ชื่อว่า ชาตรูปํ ตรัสหมาย สัตถุวัณณะ (ทองคำอันมีสีเหมือนพระฉวีวรรณของพระศาสดา)

รชตํ  นาม  กหาปโณ  โลหมาสโก  ทารุมาสโก  

ชตุมาสโก  เย  โวหารํ  คจฺฉนฺติ.

ที่ชื่อว่า รชตํ ได้แก่ กหาปณะ มาสกที่ทำด้วยโลหะ มาสกที่ทำด้วยไม้ มาสกที่ทำด้วยครั่ง ซึ่งใช้เป็นมาตราสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้.

………………………….

คำที่ขอแนะนำให้กำหนดไว้ให้ดีคือ “เย  โวหารํ  คจฺฉนฺติ” ซึ่งมีความหมายว่า “สิ่งที่ใช้สำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขาย

………………………….

ต่อไปนี้เป็นข้อความในอรรถกถา

ในอรรถกถา อธิบายขยายความไว้ดังนี้ –

………………….

ชาตรูปรชตนฺติ  เอตฺถ  ชาตรูปนฺติ  สุวณฺณสฺส  

นามํ.  ตํ  ปน  ยสฺมา  ตถาคตสฺส  วณฺณสทิสํ  

โหติ  ตสฺมา  สตฺถุวณฺโณ  วุจฺจตีติ  ปทภาชเน  

วุตฺตํ.  ตสฺสตฺโถ  โย  สตฺถุ  วณฺโณ  โลหวิเสโส  

อิทํ  ชาตรูปํ  นามาติ.  

ในบทว่า ชาตรูปรชตํ นี้ คำว่า ชาตรูป เป็นชื่อแห่งทองคำ. ก็เพราะทองคำนั้นเป็นเช่นกับพระฉวีวรรณแห่งพระตถาคต; เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในบทภาชนะ (คำจำกัดความ) ว่า “สตฺถุวณฺโณ  วุจฺจติ” (ตรัสหมาย สัตถุวัณณะ [ทองคำอันมีสีเหมือนพระฉวีวรรณของพระศาสดา]) ความหมายแห่งบทภาชนะนั้นว่า “โลหะพิเศษมีสีเหมือนพระฉวีวรรณของพระศาสดา นี้ชื่อว่า ชาตรูป (ทองคำธรรมชาติ)”

รชตํ  ปน  สงฺโข  สิลา  ปวาฬํ  รชตํ  

ชาตรูปนฺติ  อาทีสุ  รูปิยํ  วุตฺตํ.  

ส่วนเงินท่านเรียกว่า รูปิยะ ในคำทั้งหลายว่า “สังข์ ศิลา ประพาฬ เงิน ทอง” เป็นต้น. 

อิธ  ปน  ยงฺกิญฺจิ  โวหารคามนียํ  กหาปณาทิ  

อธิปฺเปตํ.  เตเนวสฺส  ปทภาชเน  กหาปโณ  

โลหมาสโกติ  อาทิ  วุตฺตํ.  

แต่ในสิกขาบทนี้ ท่านประสงค์เอากหาปณะเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ใช้แลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้. เพราะเหตุนั้นนั่นแลในบทภาชนะแห่งบทว่า รชตํ นั้น ท่านจึงกล่าวคำว่า “กหาปณะ โลหมาสก” ดังนี้เป็นต้น.

(โปรดสังเกตคำว่า “โวหารคามนียํ” ซึ่งแปลว่า “ที่ใช้แลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้”)

ตตฺถ  กหาปโณติ  โสวณฺณมโย  วา  

รูปิยมโย  วา  ปากติโก  วา.  

บรรดาบทว่า กหาปณะ เป็นต้นนั้น กหาปณะที่ทำด้วยทองคำก็ดี ทำด้วยเงินก็ดี กหาปณะธรรมดาก็ดี ชื่อว่า กหาปณะ.

โลหมาสโกติ  ตมฺพโลหาทีหิ กตมาสโก.  

มาสกที่ทำด้วยแร่ทองแดงเป็นต้น ชื่อว่า โลหมาสก (มาสกที่ทำด้วยโลหะ).

ทารุมาสโกติ  สารทารุนา  วา  เวฬุเปสิกาย  วา  

อนฺตมโส  ตาลปณฺเณนปิ  รูปํ  ฉินฺทิตฺวา  กตมาสโก.  

มาสกที่ทำด้วยไม้แก่นก็ดี ด้วยข้อไม้ไผ่ก็ดี ชั้นที่สุดแม้มาสกที่เขาทำด้วยใบตาลสลักเป็นรูป ก็ชื่อว่า ทารุมาสก (มาสกที่ทำด้วยไม้).

ชตุมาสโกติ  ลาขาย  วา  นิยาเสน  วา  

รูปํ  สมุฏฺฐาเปตฺวา  กตมาสโก.  

มาสกที่เขาทำด้วยครั่งก็ดี ด้วยยางก็ดี ตกแต่งให้เป็นรูปร่าง ชื่อว่า ชตุมาสก (มาสกที่ทำด้วยครั่ง).

เย  โวหารํ  คจฺฉนฺตีติ  อิมินา  ปน  ปเทน  

โย  โย  ยตฺถ  ยตฺถ  ชนปเท  ยทา  ยทา  

โวหารํ  คจฺฉติ  อนฺตมโส  อฏฺฐิมโยปิ  

จมฺมมโยปิ  รุกฺขผลพีชมโยปิ  สมุฏฺฐาปิตรูโปปิ  

อสมุฏฺฐาปิตรูโปปิ  สพฺโพ  สงฺคหิโต.

ด้วยคำว่า เย  โวหารํ  คจฺฉนฺติ (สิ่งที่ใช้สำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขาย) นี้ ท่านหมายรวมเอามาสกทั้งหมด จนชั้นที่สุด-แม้ที่ทำด้วยกระดูก ทำด้วยหนัง ทำด้วยเมล็ดผลไม้ จะตกแต่งให้เป็นรูปร่างมีลวดลาย หรือมิได้ตกแต่งใดๆ ก็ตาม บรรดาที่ใช้เป็นมาตราซื้อขายในท้องถิ่นใดๆ ก็ตาม ที่ซื้อขายกันในเวลาใดๆ ก็ตาม.

อิจฺเจตํ  สพฺพํปิ  รชตํ  ชาตรูปํ  ชาตรูปมาสโก  

วุตฺตปฺปเภโท  สพฺโพปิ  รชตมาสโกติ  จตุพฺพิธํ  

นิสฺสคฺคิยวตฺถุ  โหติ. 

เป็นอันว่าวัตถุ ๔ อย่าง คือ ทอง เงิน มาสกทอง มาสกเงิน มีประเภทดังกล่าวแล้วทั้งหมดทั้งสิ้น จัดเป็นวัตถุแห่งอาบัตินิสสัคคีย์.

ที่มา:สมันตปาสาทิกา ภาค ๒ หน้า ๒๒๔-๒๒๕

———————–

ข้อความที่ยกมาข้างต้นนั้นมีบางคำที่ควรรู้ความหมายให้ชัดเจนขึ้น ขอนำคำแปลจากพจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ มาแสดงไว้ดังนี้

ชาตรูป = โลหะแท้, โลหะบริสุทธิ์, ทองคำ, แร่ที่มีสีเปล่งปลั่ง

(sterling metal, pure metal, gold, the brightcoloured metal)

รชต = เงิน (silver) 

กหาปณ = เหรียญทองแดงสี่เหลี่ยม, เหรียญกษาปณ์ (A square copper coin)

รูปิย = เงิน, แทนการค้าขาย (silver, for any transactions)

โวหารคามนีย = สิ่งที่ใช้แลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้ 

คำหลักคือ “โวหาร” คำนี้ในภาษาไทยเราเข้าใจกันในความหมายว่า คำพูด แต่ในภาษาบาลี “โวหาร” มีความหมายอีกหลายอย่าง ในที่นี้หมายถึง trade, business (การค้า, ธุรกิจ)

โวหารคามนีย” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปถึงการค้าขาย” หมายความว่าการค้าขายมีอยู่ที่ไหน เจ้าสิ่งนี้จะต้องไปถึงที่นั่น คือต้องมีอยู่ในที่นั้นด้วยเสมอ ไม่มีไม่ได้

———————–

ย้อนมาที่คำถาม คือ ในสิกขาบทนี้ “ชาตรูปรชต” หมายถึง แร่ทองแร่เงิน (metal) หรือหมายถึงทรัพย์ที่ใช้จับจ่าย (money) 

คือ ห้ามภิกษุรับ/จับ metal ?

หรือห้ามรับ money ?

ดูตามต้นเรื่องจะเห็นว่า สิ่งที่เจ้าของบ้านเตรียมไว้สำหรับจะเอาไปจ่ายอาหารมาถวายพระคือ “กหาปณ” (coin) (กหาปเณน  ภนฺเต  กึ  อาหริยตุ = พระคุณเจ้าจะให้นำอะไรมาด้วยกหาปณะ) 

เจ้าของบ้านไม่ได้บอกว่าจะเอา gold หรือ silver ไปซื้ออาหาร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กหาปณะ : (คำนาม) เงินตรามีพิกัดเท่ากับ ๒๐ มาสก หรือ ๑ ตําลึง คือ ๔ บาท.” 

ตอนที่เจ้าของบ้านตำหนิพระ ต้นฉบับใช้คำว่า “รูปิย” (ยเถว  มยํ  รูปิยํ  ปฏิคฺคณฺหาม  เอวเมวิเม  สมณา  สกฺยปุตฺติยา  รูปิยํ  ปฏิคฺคณฺหนฺตีติ ฯ พวกเรารับรูปิยะฉันใด พวกสมณะศากยบุตรเหล่านี้ก็รับรูปิยะฉันนั้นเหมือนกัน) 

เจ้าของบ้านไม่ได้บอกว่าพระรับ metal คือ gold หรือ silver 

เมื่อสิ่งที่เตรียมไว้คือกหาปณะ สิ่งที่ถวายพระไปก็ต้องคือกหาปณะนั่นเอง 

คำว่า “กหาปณะ” และ “รูปิยะ” ก็ยืนยันว่า สิ่งนั้นคือสิ่งที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนซื้อขาย

คำว่า “รูปิย” สะกดด้วยอักษรโรมันเป็น rūpiya 

หน่วยเงินตราอินเดียทุกวันนี้คือเงิน rupee ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่ารูปและเสียงของคำเคลื่อนมาจาก rūpiya – รูปิย นั่นเอง 

สรุปได้โดยไม่ต้องสงสัยว่า “ชาตรูปรชต” ในสิกขาบทนี้ หมายถึง สิ่งที่ใช้สำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขาย ไม่ว่าจะทำด้วยวัตถุใดๆ ก็ตาม รวมทั้งที่เป็นแผ่นกระดาษหรือที่ทำด้วยสิ่งอื่นใด และไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอย่างไร บรรดาที่สามารถนำไปใช้เป็นสื่อกลางในการแลก-เปลี่ยน-ซื้อ-ขาย เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ 

หรือที่เรียกรวมๆ เป็นคำฝรั่งว่า money นั่นเอง 

สมมุติว่าในท้องถิ่นหนึ่ง เขาซื้อของแล้วจ่ายกันด้วย metal คือ gold หรือ silver จริงๆ ไม่ได้ใช้กระดาษหรือธนบัตร 

gold หรือ silver นั้นก็มีฐานะเป็น money ด้วย

หมายความว่า “ชาตรูปรชต” ในสิกขาบทนี้ เล็งถึงวัตถุที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนซื้อขายเป็นสำคัญ อาจจะเป็นสิ่งใดๆ ที่ใช้แทน gold หรือ silver ก็ได้ หรือเป็น metal คือตัว gold หรือ silver จริงๆ ก็ได้

เป็นอันว่า “ชาตรูปรชต” ที่เป็น metal คือตัว gold หรือ silver จริงๆ ตกอยู่ใน ๒ สถานะ คือ –

๑ เป็น metal คือตัว gold หรือ silver จริงๆ สถานะนี้ “ชาตรูปรชต” ก็เป็นวัตถุอนามาส คือภิกษุจับต้อง (touch) ไม่ได้

๒ เป็นวัตถุที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนซื้อขาย สถานะนี้ “ชาตรูปรชต” ก็เป็น money คือภิกษุรับ (accept หรือ take หรือ receive) เอามาครอบครองไม่ได้

และเพื่อป้องกันพวก “หัวหมอ” จะเลี่ยงบาลีว่า สิกขาบทนี้ –

ท่านห้ามรับเฉพาะ “รูปิยะ” คือสกุลเงินรูปี (rupee) ของอินเดียเท่านั้น เงินสกุลอื่นไม่ได้ห้าม 

หรือแถไปว่า ห้ามเฉพาะในชมพูทวีปคืออินเดียเท่านั้น ประเทศอื่นไม่ห้าม

หรือดิ้นไปอีกว่า ท่านห้ามไว้เฉพาะในครั้งพุทธกาลเท่านั้น สมัยนี้ไม่ได้ห้ามแล้ว

ในพระไตรปิฎกท่านจึงให้คำจำกัดความไว้เป็นภาพรวมว่า –

เย  โวหารํ  คจฺฉนฺติ” = “สิ่งที่ใช้สำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขาย

ซึ่งอรรถกถาขยายความให้ชัดเจนขึ้นอีกว่า –

โย  โย  ยตฺถ  ยตฺถ  ชนปเท  ยทา  ยทา  

โวหารํ  คจฺฉติ (ดูข้างต้น)

โย  โย = ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดๆ ก็ตาม

ยตฺถ  ยตฺถ  ชนปเท = ไม่ว่าจะในประเทศใดๆ ก็ตาม

ยทา  ยทา = ไม่ว่าจะในเวลาใดๆ ก็ตาม

โวหารํ  คจฺฉติ = สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เขาใช้กันในการซื้อขาย

อนึ่ง คำว่า “รับเงิน” ซึ่งแปลมาจากคำบาลีว่า “ชาตรูปรชตํ  อุคฺคเณฺหยฺย” นั้น หมายถึง accept คือ take หรือ receive คือรับเอามาครอบครองเป็นเจ้าของ

ไม่ได้มุ่งหมายเฉพาะ touch คือหยิบจับหรือแตะต้องด้วยส่วนใดๆ ของร่างกาย

เพราะฉะนั้น ควรเลิกเข้าใจผิดกันได้แล้วว่า สิกขาบทนี้ห้ามพระจับเงิน คือหยิบเงิน (ธนบัตร) หรือหยิบจับทองคำ เช่นสร้อยคอ แหวนเพชร อะไรพวกนั้น

แล้วก็ไม่ต้องใช้หลักมหาปเทสมาตัดสิน เพราะในบทบัญญัติชัดอยู่แล้วว่าห้ามอะไร ไม่จำเป็นต้องใช้มหาปเทสมาช่วยตีความ

เข้าใจกันให้ถูกต้องว่า สิกขาบทนี้ห้ามพระรับเงิน (money) มาไว้ในครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของ 

ไม่ใช่แค่ห้ามหยิบจับ 

เพราะข้อความต่อไปในตัวสิกขาบทบอกว่า “อุคฺคณฺหาเปยฺย  วา” = หรือให้คนอื่นรับ

นั่นคือ ให้คนอื่นรับก็ผิด มีค่าเท่ากับรับเอง 

แสดงว่าไม่ได้มุ่งหมายแค่สัมผัสแตะต้องเท่านั้น

ลองเทียบสิกขาบทที่ห้ามจับต้องกายหญิง ก็หมายถึงจับต้องด้วยตัวเองจึงจะผิด ไม่ใช่ว่าให้คนอื่นจับต้องแทนก็ผิด

แต่สิกขาบทนี้-ให้คนอื่นรับแทนก็ผิดเท่ากับรับเอง 

เพราะฉะนั้นจึงเห็นได้ชัดว่าไม่ได้มุ่งหมายแค่สัมผัสแตะต้องอย่างที่คนส่วนมากเข้าใจ

………………..

สมัยผมเป็นเณรบวชใหม่ๆ เคยได้ยินพระเก่ารูปหนึ่ง ท่าทางทรงภูมิมาจากเมืองกรุง พูดเสียงดังฟังชัดว่า 

“ธนบัตรเป็นพลังเทียม ไม่ใช่เงินทอง (หมายถึง metal คือ gold หรือ silver อย่างที่มักเข้าใจกันว่าห้ามจับ) เพราะฉะนั้นพระจับเงิน (ธนบัตร) ได้ ใช้เงินได้ ไม่ผิด”

ตอนนั้นฟังแล้วทึ่งมาก โดยเฉพาะคำว่า “พลังเทียม” ยังไม่เคยได้ยินมาก่อน รู้สึกตื่นเต้นว่าหลวงพี่ท่านทรงภูมิรู้สูงจริงๆ

ต่อมาเมื่อมีโอกาสศึกษาคัมภีร์ต้นฉบับ จึงได้รู้ว่านั่นคือความเข้าใจผิด หรือความรู้ผิดๆ

และความเข้าใจผิดหรือความรู้ผิดๆ นั้นก็ยังคงมีอยู่ในหมู่ชาววัดและชาวบ้านจนถึงทุกวันนี้ (ดูข้อความจากภาพประกอบที่อ้างข้างต้น)

———————–

ประเด็นที่จะต้องถูกยกขึ้นมาท้วงติงแน่ๆ ก็คือ เมื่อห้ามพระรับเงินใช้เงินเช่นนั้นแล้ว ทำไมพระทุกวันนี้ก็ยังรับเงินใช้เงินเหมือนชาวบ้านอยู่นั่นเอง แบบนี้ก็ผิดศีล ก็ต้องอาบัติกันเปรอะไปหมดนะสิ แบบนี้ก็เท่ากับพระทุกวันนี้ไม่ได้ถือศีลข้อนี้กันแล้วใช่ไหม จะว่าอย่างไรกัน

ก็ต้องยอมรับกันตรงๆ ว่าใช่แล้ว 

พระเองก็อ้างว่ายุคสมัยเปลี่ยนไป สภาพสังคมเปลี่ยนไป ถ้ายังถือศีลข้อนี้อยู่ก็ พระก็ขาดความคล่องตัว

เหตุผลที่อ้างนั้นถึงขั้นที่ว่า-ทุกวันนี้ถ้าไม่ให้พระรับเงินใช้เงิน ก็อาจจะดำรงความเป็นพระไว้ไม่ได้นั่นทีเดียว

ยังมียื่นคำขาดสำทับด้วยว่า โยมจะเอาศีลข้อนี้ไว้ หรือจะเอาพระไว้

———————–

ประเด็นนี้ ถ้าศึกษาคัมภีร์ให้ละเอียดสักหน่อยก็จะรู้ว่า ท่านหาทางออกไว้ให้แล้วตั้งแต่ต้น-คือตั้งแต่สมัยพุทธกาลโน่นแล้ว ไม่จำเป็นต้องอ้าง “ยุคสมัยเปลี่ยนไป สภาพสังคมเปลี่ยนไป” อย่างที่ชอบอ้างกันทุกวันนี้ คือท่านรู้ว่า-มันเปลี่ยนไปมาตั้งแต่ครั้งโน้นแล้ว

ทางออกก็คือ วิธีปวารณา และการอนุญาตให้มีกัปปิยการกหรือไวยาวัจกร ที่เรียกรู้กันในชื่อเฉพาะว่า “เมณฑกานุญาต”

ขอได้โปรดศึกษาข้อความจากพระวินัยปิฎกต่อไปนี้

…………….

สนฺติ  ภิกฺขเว  มคฺคา  กนฺตารา  อปฺโปทกา  

อปฺปภกฺขา  น  สุกรา  อปาเถยฺเยน  คนฺตุํ.  

มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย หนทางกันดารอัตคัดน้ำ อัตคัตอาหาร ภิกษุไม่มีเสบียงจะเดินทางไปทำไม่ได้ง่าย

อนุชานามิ  ภิกฺขเว  ปาเถยฺยํ  ปริเยสิตุํ  

ตณฺฑุโล  ตณฺฑุลตฺถิเกน  มุคฺโค  มุคฺคตฺถิเกน  

มาโส  มาสตฺถิเกน  โลณํ  โลณตฺถิเกน  

คุโฬ  คุฬตฺถิเกน  เตลํ  เตลตฺถิเกน  

สปฺปิ  สปฺปิตฺถิเกน.  

เราอนุญาตให้แสวงหาเสบียงได้ คือ 

ภิกษุต้องการข้าวสาร พึงแสวงหาข้าวสาร 

ต้องการถั่วเขียว พึงแสวงหาถั่วเขียว 

ต้องการถั่วราชมาส พึงแสวงหาถั่วราชมาส 

ต้องการเกลือ พึงแสวงหาเกลือ 

ต้องการน้ำอ้อย พึงแสวงหาน้ำอ้อย 

ต้องการน้ำมัน พึงแสวงหาน้ำมัน 

ต้องการเนยใส ก็พึงแสวงหาเนยใส

สนฺติ  ภิกฺขเว  มนุสฺสา  สทฺธา  ปสนฺนา  

เต  กปฺปิยการกานํ  หตฺเถ  หิรญฺญสุวณฺณํ 

อุปนิกฺขิปนฺติ  อิมินา  ยํ  อยฺยสฺส  กปฺปิยํ  

ตํ  เทถาติ.  

มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ชาวบ้านที่มีศรัทธาเลื่อมใส เขามอบเงินทองไว้ในมือกัปปิยการก สั่งว่าสิ่งใดควรแก่พระผู้เป็นเจ้า ขอท่านจงถวายสิ่งนั้นด้วยกัปปิยภัณฑ์นี้

อนุชานามิ  ภิกฺขเว  ยํ  ตโต  กปฺปิยํ  

ตํ  สาทิตุํ  น  เตฺววาหํ  ภิกฺขเว  เกนจิ  

ปริยาเยน  ชาตรูปรชตํ  สาทิตพฺพํ  

ปริเยสิตพฺพนฺติ  วทามีติ. 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยินดีของอันเป็นกัปปิยะจากกัปปิยภัณฑ์นั้นได้ แต่เรามิได้กล่าวว่า พึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายไรๆ เลย.

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๘๕

…………….

เรื่องก็คือ เมื่อห้ามพระไม่ให้รับเงินใช้เงินจ่ายซื้ออะไรๆ เหมือนชาวบ้านแล้ว ต่อมาพระมีความจำเป็นจะต้องเดินทางไกลกันดาร 

ถ้าไม่เตรียมเสบียงไปด้วยก็ไปไม่รอด 

จะหาเงินซื้อเสบียงก็ไม่ได้ ผิดวินัย

ก็เป็นสถานการณ์เดียวกับที่อ้างกันในทุกวันนี้นั่นเอง เช่น-พระจะไปโน่นมานี่มันก็ต้องมีค่าใช้จ่ายสารพัด ถ้าไม่ให้ใช้เงินก็ทำอะไรไม่ได้

แล้วทางออกคือทำอย่างไร?

พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้แสวงหาปัจจัยที่จำเป็นเพื่อการเดินทาง-ตามที่ระบุไว้ในคัมภีร์ เช่น –

ภิกษุต้องการข้าวสาร พึงแสวงหาข้าวสาร 

ต้องการถั่วเขียว พึงแสวงหาถั่วเขียว 

ถอดเป็นสถานการณ์ปัจจุบันก็อย่างเช่น 

ต้องการค่าภัตตาหารเพล ก็แสวงหาค่าภัตตาหารเพล

ต้องการค่าแท็กซี่ ก็แสวงหาค่าแท็กซี่

ต้องการเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็แสวงหาค่าเครื่องคอมพิวเตอร์

ฯลฯ

ฯลฯ

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในพระวินัยว่าด้วยการออกปากขอ เช่นขอกับญาติหรือคนที่เขาปวารณาไว้ให้ขอได้

รายละเอียดการปฏิบัติ ก็ทรงชี้ช่องไว้ให้แล้ว คือให้มีกัปปิยการก หรือไวยาวัจกรทำหน้าที่จัดหา โดยที่พระไม่ต้องหยิบจับรับเงินด้วยตัวเอง

และตรงนี้แหละที่เป็นปัญหาใหญ่ ที่อ้างกันว่าไม่สะดวก

ให้ไวยาวัจกรจัดการมันไม่คล่องตัวเหมือนซื้อเองจ่ายเอง

แล้วก็อ้างอย่างที่เราเคยได้ยินกัน เช่น – พระไปโน่นมานี่จะกะเตงไวยาวัจกรไปด้วยมันง่ายอยู่หรือ หาคนมาเป็นไวยาวัจกรได้ง่ายๆ ที่ไหน (โยมคนที่ตำหนิพระนั่นแหละ มาเป็นไวยาวัจกรให้อาตมาทีได้ไหมละ ปัดโท่!!) หาเงินง่ายกว่าหาไวยาวัจกร ขอให้คิดถึงข้อเท็จจริงบ้าง อย่าเอาแต่ว่าพระ …

แต่ก็ตรงนี้แหละครับที่ต้องเลือกเอา-ระหว่างวิถีชีวิตสมณะกับวิถีชีวิตชาวบ้าน

วิธีคิดก็คือ สิกขาบททั้งปวงพระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้เพื่อเกื้อกูลแก่วิถีชีวิตสมณะ โดยสมมุติฐานที่ว่า-ผู้ที่เข้ามาครองเพศสมณะคือผู้สมัครใจที่จะใช้ชีวิตตามวิสัยสมณะ และมีข้อพิสูจน์ที่เห็นได้ทั่วไปว่า สำหรับผู้ตั้งใจใช้ชีวิตตามวิสัยสมณะอย่างแท้จริงแล้วไม่เคยมีปัญหากับสิกขาบท-ไม่ว่าจะข้อนี้หรือข้อไหน ตรงกันข้าม เมื่อตั้งใจปฏิบัติตามสิกขาบท สิกขาบททั้งหลายกลายเป็นเครื่องเกื้อกูลแก่การบำเพ็ญสมณธรรมได้เป็นอย่างดียิ่ง

ทุกวันนี้มีปัญหาก็เพราะ-มีผู้สมัครใจเข้ามาครองเพศสมณะ แต่พอใจที่จะใช้ชีวิตตามแบบชาวบ้าน สิกขาบทต่างๆ จึงกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้ใช้ชีวิตตามแบบชาวบ้านไม่สะดวก-ซึ่งก็ต้องเป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว เพราะเจตนารมณ์ของสิกขาบททั้งหลายอยู่ที่-เพื่อเกื้อกูลแก่วิถีชีวิตสมณะ ไม่ใช่เกื้อกูลแก่วิถีชีวิตแบบชาวบ้าน

จะเห็นได้ว่า ความผิดไม่ได้อยู่ที่ตัวสิกขาบทเลย แต่อยู่ที่การตัดสินใจเลือกวิถีชีวิตต่างหาก

ถ้าผู้สมัครใจเข้ามาครองเพศสมณะสมัครใจที่จะใช้ชีวิตตามวิสัยสมณะด้วย ก็จะไม่มีปัญหาอะไรเลย

คำถามคือ เราจะแก้ปัญหากันแบบไหน

๑ ฟื้นฟูค่านิยมเดิม (อันที่จริงก็คือหลักการเดิม) คือผู้ที่สมัครใจเข้ามาครองเพศสมณะ ต้องสมัครใจที่จะใช้ชีวิตตามวิสัยสมณะจริงๆ ถ้าไม่พร้อมก็-ขออภัยที่จะต้องบอกว่า-อย่าเพิ่งเข้ามาเลย พร้อมเมื่อไรค่อยมาดีกว่า

วิธีนี้ก็คือรักษาเนื้อตัวของพระศาสนาไว้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เป็นแบบแผนแบบฉบับเพื่อให้โลกรับรู้ว่านี่คืออุดมมรรคาของมนุษยชาติ ผู้ใดมีสติปัญญาสามารถก็จงพยายามดำเนินตามเข้าเถิด

๒ สร้างค่านิยมใหม่-ผู้เข้ามาครองเพศสมณะ ไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตตามวิสัยสมณะเสมอไป อะไรทำได้ก็ทำ อะไรทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ ชื่นชมยินดีและยอมรับกันแค่ว่า-ขอให้มีผู้ครองเพศสมณะไว้ให้ชาวบ้านทำบุญก็พอแล้ว

วิธีนี้ จะเรียกว่าเป็นการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด หรือจะใช้ภาษาหลอกความรู้สึกตัวเองว่าอย่างไรก็ตาม ผลสุดท้ายปลายทางที่จะต้องยอมรับความจริงก็คือ-เป็นวิธีละลายพระศาสนาให้หมดไปทีละน้อยนั่นเอง

วิธีนี้อาจจะไม่ใช่วิธีที่เรามีสิทธิ์เลือก หากแต่เป็นสัจธรรมอะไรชนิดหนึ่งที่จะต้องเกิดขึ้นตามกาลเวลา 

ในแง่นี้ ขอแนะนำให้ศึกษาเรื่อง “อันตรธาน” กันไว้สักหน่อยก็จะดี (แหล่งหนึ่งก็อย่างเช่นที่ท่านรจนาไว้ในพระปฐมสมโพธิกถา) อย่างน้อยก็เป็นเครื่องเตือนใจให้เกิด “สังเวช” แล้วเตรียมตัวเตรียมใจเผชิญกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เช่น-เมื่อเห็นสิ่งที่ถูกเรียกขานอย่างชื่นชมว่า “ความเจริญ” เกิดขึ้นในพระศาสนา ก็จะได้รู้ทันว่าความจริงแล้วมันคืออะไร

———————–

ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามานี้ เป็นหลักฐาน เป็นหลักการ และเป็นเกณฑ์มาตรฐาน ที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้สำหรับพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ที่ชาวพุทธควรรับรู้รับทราบไว้ และจะต้องยึดไว้เป็นหลักเมื่อจะปฏิบัติกิจใดๆ กับพระภิกษุ หรือในเมื่อจะต้องวินิจฉัย หรือแสดงความเห็น ถ้ากิจนั้นๆ หรือกรณีนั้นๆ มีเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง หรือวินิจฉัยได้อย่างมีหลักเกณฑ์ ไม่เอาความเข้าใจส่วนตัวเป็นฐานการคิดอย่างเดียว

……………….

ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ก็คือ ชาวบ้านอยากจะถวายเงินให้พระ แล้วก็เอาเงินนั้นถวายพระไปตรงๆ  

หลักปฏิบัติในเรื่องนี้มีอย่างไร ผมนำเสนอไว้ในหนังสือเล่มน้อยนี้แล้ว – “ถวายเงินให้ถูกวิธี”

เชิญดาวน์โหลดไปศึกษากันได้ตามอัธยาศัย

———————-

ถวายเงินให้ถูกวิธี

https://drive.google.com/file/d/0B3WmxiNFNrf8S3k4SVZ2WGoyUXc/view

———————-

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒ กรกฎาคม ๒๕๖๐

๑๘:๓๙

Wiroj Pispeng ได้เพิ่มรูปภาพใหม่ 2 ภาพ

1 ชม. · 

๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๐

ตอนนี้กำลังถกเถียงกันเรื่องพระรับเงิน บางคนบอกว่ารับได้ บางฝ่ายบอกว่า รับไม่ได้เป็นอาบัติ แม้แต่ประมุขสงฆ์ก็ว่าญาติโยมไม่ควรนำเงินใส่บาตรหรือถวายพระ แต่บางคนบอกว่า เป็นแค่ธนบัตร กระดาษ มิใช่เงินจริงๆจึงควรรับได้ โดยใช้หลักมหาปเทส ๔ ประการที่พุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ หรือจะใช้หลักทื่ว่า ” อนุชานามิ ภิกขเว ราชูนัง อนุวัตติตุง” พระสงฆ์ท่านไม่กล้าที่จะบอกว่า การรับจตุปัจจัย ขอให้ใช้หลักเทียบเคียงมหาปเทส 4 ก็คงได้ ดังนั้นจึงขอให้ท่านผู้รู้ช่วยตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้แทนพระคุณเจ้าด้วย

——

gold (โกลด) n. adj. 

1. ทองคำ, ทรัพย์ศฤงคาร, เงินทอง 

2. สินบน 

3. เหรียญทองคำ 

4. เนื้อกษัตริย์

silver (ซีล-เฝอะ) n. vi. adj. vt. 

1. ธาตุเงิน, เคลือบด้วยเงิน, หุ้มด้วยเงิน, กลายเป็นสีเงิน, กลายเป็นสีขาว 

2. เงินตราทำด้วยเงิน, เหรียญเงิน 

3. ภาชนะที่ทำด้วยเงิน, เครื่องเงิน 

4. ทำด้วยเงิน = silvern 

5. (ผม, น้ำ) ขาวเป็นเงา, เหมือนเงิน = silery 

6. (เสียง) แจ๋ว, แจ่มใส, กังวาน 

7. ทา (กระจกเงา) ด้วยปรอท 

8. (การฉลอง) รอบยี่สิบห้าปี

metal (เมท-‘ล) n. adj. vt.

metallic (มิแทล-ลิค) adj. 

1. โลหะ, เหมือนโลหะ 

2. (เสียง) กระทบกันกราวๆ 

3. รางรถ 

4. หินโรยถนน, โรยหิน (ถนน)

money (มัน-อิ) n.

เงินตรา ถ้าใช้เป็นพหูพจน์หมายถึงจำนวนเงิน, เงิน

กหาปณะ

 [กะหาปะนะ] (แบบ) น. เงินตรามีพิกัดเท่ากับ ๒๐ มาสก หรือ ๑ ตําลึง คือ ๔ บาท. (ป.).

รูปี

 น. ชื่อหน่วยเงินตราอินเดีย.

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *