บาลีวันละคำ

สวดปาติโมกข์ (บาลีวันละคำ 2,369)

สวดปาติโมกข์

เรื่องของชาววัดที่ชาวบ้านควรต้องรู้

อ่านว่า สวด-ปา-ติ-โมก

(๑) “สวด

เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สวด : (คำกริยา) ว่าเป็นทํานองอย่างพระสวดมนต์ เช่น สวดสังคหะ สวดพระอภิธรรม; (ปาก) นินทาว่าร้าย, ดุด่า, ว่ากล่าว, เช่น ถูกแม่สวด.”

ในที่นี้ “สวด” หมายถึงการสาธยายออกมาจากความจำ ไม่ใช่กางหนังสืออ่านหรืออ่านจากอุปกรณ์อื่นใดแล้วเรียกว่า “สวด” ตามที่เข้าใจกันในเวลานี้

(๒) “ปาติโมกข์

คำนี้ เดิมนิยมสะกดเป็น “ปาฏิโมกข์” (ปาฏิ– ใช้ ปฏัก) คำบาลีก็มีทั้งที่เป็น “ปาติโมกฺข” (ปาติ– ใช้ เต่า) และ “ปาฏิโมกฺข” (ปาฏิ– ใช้ ปฏัก) แต่ภาษาไทยปัจจุบัน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเก็บไว้เฉพาะรูปคำ “ปาติโมกข์” (ปาติ– ใช้ เต่า)

ปาติโมกข์” บาลีเป็น “ปาติโมกฺข” (ปา-ติ-โมก-ขะ) มีรากศัพท์มาหลายทาง เช่น –

(1) (คำอุปสรรค = ทั่ว, ทั้งปวง, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + อติ (คำอุปสรรค = ยิ่ง, เกิน, ล่วง) + โมกฺข (พ้น)

: + อติ = ปาติ + โมกฺข = ปาติโมกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมที่เป็นเหตุให้ล่วงพ้นจากทุกข์ได้ด้วยประการทั้งปวง

(2) ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + มุข (ต้นทาง) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ ปฏิ เป็น อา (ปฏิ > ปาฏิ), แผลง อุ ที่ มุ-(ข) เป็น โอ แล้วซ้อน กฺ (มุข > โมข > โมกฺข)

: ปฏิ + มุข = ปฏิมุข + = ปฏิมุขณ > ปฏิมุข > ปาฏิมุข > ปาฏิโมข > ปาฏิโมกฺข แปลตามศัพท์ว่า “หลักธรรมที่เป็นต้นทาง หรือเป็นประธานมุ่งหน้าไปสู่ความพ้นทุกข์

(3) ปาติ (กิเลสที่ทำให้ตกนรก) + โมกฺขฺ (ธาตุ = หลุดพ้น) + ปัจจัย

: ปาติ + โมกฺขฺ = ปาติโมกฺขฺ + = ปาติโมกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมที่ยังบุคคลผู้รักษาให้หลุดพ้นจากนรก

ปาติโมกฺข” ในภาษาไทยใช้เป็น “ปาติโมกข์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปาติโมกข์ : (คำนาม) คัมภีร์ว่าด้วยวินัยของสงฆ์ ๒๒๗ ข้อ, ชื่อบาลีที่ประมวลพุทธบัญญัติอันทรงตั้งขึ้นเป็นพุทธอาณา ได้แก่ อาทิพรหมจริยกาสิกขา มีพระพุทธานุญาตให้สวดในที่ประชุมสงฆ์ทุกวันอุโบสถ. (ป.)”

สวด + ปาติโมกฺข = สวดปาติโมกข์ หมายถึง สวดสาธยายข้อความที่เป็นภาษาบาลีว่าด้วยวินัยของสงฆ์ 227 ข้อ

อภิปรายขยายความ :

ปาติโมกข์” ที่เราคุ้นกันดีเป็นคัมภีร์รวบรวมพระวินัยที่เป็นหลักของภิกษุ ที่รู้กันว่า ศีล 227 ข้อ และมีพุทธานุญาตให้สวดในที่ชุมนุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน (วันกลางเดือน และสิ้นเดือนตามจันทรคติ) เพื่อทบทวนข้อปฏิบัติและสำรวจตนเองว่าได้ปฏิบัติตามพุทธบัญญัติครบถ้วนถูกต้องแล้วหรือไม่

การสวดปาติโมกข์หรือที่เรียกเป็นคำศัพท์ว่า “อุโบสถกรรม” (อุ-โบ-สด-ถะ-กำ) นี้ ต้องทำทุกกึ่งเดือน กำหนดในวันขึ้น 15 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ หรือวันแรม 14 ค่ำ ในเดือนขาด

การสวดปาติโมกข์จะกระทำได้ต่อเมื่อมีภิกษุครบองค์สงฆ์จตุวรรค คือ 4 รูปขึ้นไป ถ้าสงฆ์ครบองค์กำหนดเช่นนี้ เรียกว่า “สังฆอุโบสถ

วิธีการคือ เมื่อถึงวันที่กำหนด ภิกษุในวัดต่างๆ จะประชุมกันในโบสถ์ซึ่งได้เตรียมปัดกวาด ปูลาดอาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ และตามประทีปไว้พร้อมแล้ว เมื่อทำวัตรสวดมนต์จบแล้ว ภิกษุผู้ทรงจำพระปาติโมกข์จะขึ้นนั่งบนอาสนะซึ่งนิยมทำเหมือนธรรมาสน์ แต่เตี้ยกว่า เรียกกันว่า “เตียงปาติโมกข์” ภิกษุทั้งหมดที่ชุมนุมกันจะนั่งล้อมให้ได้หัตถบาส (แบบเดียวกับในพิธีอุปสมบท) แล้วภิกษุผู้ทรงจำพระปาติโมกข์ก็เริ่มสวดพระปาติโมกข์คือสิกขาบท 227 ข้อเป็นภาษาบาลี (สวดจากความทรงจำ ไม่ใช่กางหนังสืออ่าน) ปกติจะมีภิกษุอีกรูปหนึ่งเปิดคัมภีร์พระปาติโมกข์อ่านทานตามไป ถ้าสวดผิดพลาดตรงคำใด ภิกษุที่อ่านทานจะทักท้วงขึ้น ภิกษุรูปที่สวดจะกลับมาสวดคำนั้นใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้ข้อความที่สวดนั้นบริสุทธิ์บริบูรณ์ถูกต้องตรงตามพระบาลี

…………..

ในกรณีที่มีภิกษุไม่ครบ 4 รูป พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายวิธีปฏิบัติไว้ดังนี้ –

…………..

ในกรณีที่มีภิกษุอยู่ในวัดเพียง 2 หรือ 3 รูป เป็นเพียงคณะ ท่านให้บอกความบริสุทธิ์แก่กันและกันแทนการสวดปาติโมกข์ เรียกอุโบสถนี้ว่า “คณอุโบสถ” หรือ “ปาริสุทธิอุโบสถ” กล่าวคือ ถ้ามี 3 รูป พึงให้รูปที่สามารถตั้งญัตติว่า

“สุณนฺตุ เม อายสฺมนฺตา, อชฺชุโปสโถ ปณฺณรโส, ยทายสฺมนฺตานํ ปตฺตกลฺลํ, มยํ อญฺญมญฺญํ ปาริสุทฺธิอุโปสถํ กเรยฺยาม.” (ปณฺณรโส คือ 15 ค่ำ ถ้า 14 ค่ำ เปลี่ยนเป็น จาตุทฺทโส)

จากนั้น ทั้งสามรูปพึงบอกความบริสุทธิ์ของตนไปตามลำดับพรรษา

(พระเถระว่า “ปริสุทฺโธ อหํ อาวุโส, ปริสุทฺโธติ มํ ธาเรถ” ว่า 3 ครั้ง; รูปอื่นเปลี่ยน อาวุโส เป็น ภนฺเต),

ถ้ามี 2 รูป ไม่ต้องตั้งญัตติ เพียงบอกความบริสุทธิ์ของตนแก่กัน (พระเถระว่า “ปริสุทฺโธ อหํ อาวุโส, ปริสุทฺโธติ มํ ธาเรหิ” ว่า 3 ครั้ง; รูปที่อ่อนพรรษาเปลี่ยน อาวุโส เป็น ภนฺเต และเปลี่ยน ธาเรหิ เป็น ธาเรถ);

ถ้ามีภิกษุอยู่ในวัดรูปเดียว ท่านให้ทำเพียงอธิษฐาน คือตั้งใจกำหนดจิตว่า วันนี้เป็นอุโบสถของเรา (“อชฺช เม อุโปสโถ”) อุโบสถที่ทำอย่างนี้ เรียกว่า “ปุคคลอุโบสถ” หรือ “อธิษฐานอุโบสถ

…………..

กรณีที่มีภิกษุไม่ครบ 4 รูปตามที่อธิบายไว้นั้น หมายถึงในถิ่นที่ไม่มีวัดหรือไม่มีภิกษุอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ เลย เช่นอยู่ในป่าห่างไกลหรืออยู่ต่างประเทศ แต่ในกรณีที่มีวัดอยู่ใกล้เคียง หรือมีภิกษุครบองค์สงฆ์ แต่ไม่มีภิกษุที่สามารถจะสวดปาติโมกข์ได้ ธรรมเนียมที่ภิกษุแต่ปางก่อนท่านปฏิบัติกันมาก็คือ ภิกษุในวัดนั้นจะพากันไปร่วมฟังพระปาติโมกข์ในวัดใกล้เคียง หรือนิมนต์ภิกษุทรงจำพระปาติโมกข์จากต่างวัดมาสวดปาติโมกข์ที่วัดของตน

…………..

การสวดปาติโมกข์ถือกันว่าเป็นการสืบอายุพระศาสนา เพราะเมื่อภิกษุยังทบทวนถึงศืลของตนอยู่สม่ำเสมอย่อมเป็นหลักประกันว่ายังมีศีลบริสุทธิ์อยู่ ภิกษุมีศีลบริสุทธิ์อยู่ตราบใด พระศาสนาก็ชื่อว่ายังดำรงมั่นคงอยู่ตราบนั้น

ภิกษุแต่ปางก่อนท่านจึงเข้มงวดกวดขันในการทำอุโบสถกรรมคือสวดปาติโมกข์ยิ่งนัก ด้วยการฝึกฝนให้มีภิกษุทรงจำพระปาติโมกข์ขึ้นในทุกๆ อาราม และเมื่อถึง “วันปาติโมกข์” ก็จะวางกิจทั้งปวงไว้ก่อน ตั้งใจทำอุโบสถกรรมโดยพร้อมเพรียงกัน

ดูเพิ่มเติม: “อุโบสถกรรม” บาลีวันละคำ (2,248)8-8-61

…………..

กิจของภิกษุในพระพุทธศาสนา กล่าวโดยสรุปก็มี 2 อย่างเท่านั้น คือ

(1) ไม่ทำในสิ่งที่กำหนดไว้ว่า “ห้ามทำ” และ

(2) ทำในสิ่งที่กำหนดไว้ว่า “ต้องทำ”

การสวดปาติโมกข์เป็นกิจที่กำหนดไว้ว่า “ต้องทำ” ไม่ทำ ถือว่าบกพร่อง

…………..

วันนี้ (7 ธันวาคม 2561) ตรงกับแรม 15 ค่ำ เดือน 12

เป็นวันสวดปาติโมกข์

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เมื่อใด ชาววัดไม่ทำกิจที่ “ต้องทำ”

แต่ไพล่ไปทำกิจที่ “ห้ามทำ”

: เมื่อนั้น ชาวบ้านโปรดทราบว่ากำลังมีผู้ก่อกรรม

คือการบั่นทอนอายุพระศาสนา

#บาลีวันละคำ (2,369)

7-12-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย