บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

มนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ นิพพานสมบัติ

มนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ นิพพานสมบัติ

—————————————

คำในชุด “สมบัติ” ที่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนกันมากก็คือ

มนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ นิพพานสมบัติ

เขียนสะกดอย่างนี้ แต่นิยมพูดกันว่า มะ-นุด-สม-บัด, สะ-หฺวัน-สม-บัด, นิบ-พาน-สม-บัด

คำชุดนี้ ในคัมภีร์ใช้ว่า 

มนุสฺสสมฺปตฺติ (มะ-นุด-สะ-สำ-ปัด-ติ)

ทิพฺพสมฺปตฺติ (ทิบ-พะ-สำ-ปัด-ติ, บางทีใช้ว่า เทวสมฺปตฺติ)

นิพฺพานสมฺปตฺติ (นิบ-พา-นะ-สำ-ปัด-ติ)

ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนก็คือ –

(๑) มนุษยสมบัติ เข้าใจไปว่า เกิดมาแล้วร่ำรวย มีทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้อุดมสมบูรณ์ เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี

(๒) สวรรคสมบัติ เข้าใจไปว่า ได้ไปเกิดในสวรรคแล้วมีทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้เหมือนในโลกมนุษย์ แต่เป็นของทิพย์ของวิเศษ

(๓) พอมาถึง นิพพานสมบัติ จะว่าอย่างไร? 

ก็ต้องเข้าใจว่า สำเร็จนิพพานแล้วมีทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้อุดมสมบูรณ์ ต้องอธิบายอย่างนี้จึงจะเข้าชุดกัน มิเช่นนั้นก็จะลักลั่น

เข้าใจอย่างนี้ก็ไปสอดรับกับลัทธิที่สอนว่า นิพพานเป็นโลกทิพย์ที่มีรออยู่แล้ว (บอกขนาดกว้างยาวไว้เสร็จ) บรรลุนิพพานแล้วก็ได้ไปเสวยสุขเป็นอมตะชั่วนิรันดร อันเป็น “นิรวาณ” หรือ “ปรมาตมัน” ในลัทธิพราหมณ์นั่นเอง 

เป็นอันดึงเอานิพพานของพระพุทธเจ้าเข้าไปซุกอยู่ใต้ปีกของพราหมณ์โดยสมบูรณ์

ความหมายที่ถูกต้องของ “สมฺปตฺติสมบัติ” เมื่ออยู่ในชุด ๓ คำนี้ ก็คือ –

(๑) มนุษยสมบัติ หมายถึง “การได้เกิดเป็นมนุษย์” จะมีทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร หรือแม้แต่เป็นขอทาน ก็คือได้ “มนุษยสมบัติ” ทั้งนั้น

(๒) สวรรคสมบัติ หมายถึง “การได้เกิดในสวรรค์” จะเป็นสวรรค์ชั้นไหน มีของทิพย์ชนิดไหน เป็นไปตามฐานะของสวรรค์ชั้นนั้นๆ ประกอบกับความประณีตของบุญกรรมที่ทำมา

(๓) นิพพานสมบัติ หมายถึง “การได้บรรลุนิพพาน” นิพพานไม่ใช่ภพภูมิที่ให้ผู้บรรลุไปสิงสถิตเป็นอมตะ ณ ที่ใดๆ แต่นิพพานคือการดับรอบสิ้นเชื้อ ไม่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เวียนเกิดเวียนตายอีกต่อไป 

(แม้ไปเกิดใน “นิพพานภูมิ” ตามลัทธิที่สอนเช่นนั้น ก็ยังต้องตายอยู่นั่นเอง เพราะไม่มีอะไรที่มีเกิดแล้วจะไม่มีดับ)

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๕ มกราคม ๒๕๖๕

๑๗:๐๘

………………………………………..

มนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ นิพพานสมบัติ

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *