เลขเป็นโท หมายถึงอะไร
เลขเป็นโท หมายถึงอะไร
………………………….
ในคำว่า “ปากเป็นเอก เลขเป็นโท” ตามความเข้าใจของคนทั่วไป “เลข” หมายถึง ตัวเลข หรือวิชาบวกลบคูณหาร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า –
“เลข : (คำนาม) สัญลักษณ์ที่ใช้แทนจํานวนจริง; วิชาคํานวณ.”
ในบทประพันธ์อธิบายสุภาษิตของท่านผู้หญิง สมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ก็มีว่า –
……………………………………
เลขเป็นโทโบราณท่านสั่งสอน
เร่งสังวรเวี่ยไว้ใช่ว่าเล่น
การคำนวณควรชำนาญคูณหารเป็น
ช่วยให้เด่นดีนักหนารู้ท่าคน
……………………………………
ในภาษาบาลี ตัวเลข วิชาคำนวณ หรือการบวกลบคูณหาร ไม่ได้ใช้คำว่า “เลข” แต่ใช้คำว่า “สงฺขฺยา” หรือ “คณนา” (คะ-นะ-นา)
ส่วน “เลข” (เล-ขะ) และรูปคำอื่นๆ ที่ออกมาจากรากศัพท์เดียวกัน (คือ ลิ หรือ ลิขฺ ธาตุ) เช่น เลขน (เล-ขะ-นะ) เลขณี (เล-ขะ-นี) เลขา (เล-ขา) จะหมายถึง การขีด, การวาด, การเขียน, การจารึก, หนังสือ, สาสน์ (scratching, drawing, writing, inscription, letter, epistle)
ผมขอเสนอแนวคิดอีกทางหนึ่งว่า “เลข” ในคำว่า “ปากเป็นเอก เลขเป็นโท” นั้นหมายถึง การเขียน หรือ การแต่งหนังสือ
คำว่า “ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี” เป็นสุภาษิตที่สอนเรื่องความสำคัญของการสื่อสาร โดยใช้วิธีพูด เขียน อ่าน มีความหมายดังนี้ –
(๑) ปากเป็นเอก : ปาก = การพูด
พูดเก่ง พูดดี ได้ผลสำคัญโดยตรงเป็นอันดับหนึ่ง
(๒) เลขเป็นโท : เลข = การเขียน
พูดไม่เก่ง แต่ถ้าเขียนเป็น เขียนเก่ง เขียนดี (หมายถึงเรียบเรียงข้อความ ไม่ใช่เขียนตัวอักษรสวยงาม) ก็นับว่าสำคัญ แต่เป็นอันดับสองรองจากการพูด
(๓) หนังสือเป็นตรี : หนังสือ = การอ่าน
พูดไม่เก่ง เขียนไม่เก่ง แต่ถ้าอ่านหนังสือเป็น ถึงขั้นที่เรียกกันว่า “หนังสือแตก” ก็ยังสำคัญอยู่ แต่เป็นอันดับสามรองจากการเขียน
ข้อนี้ขอให้นึกถึงสภาพสังคมสมัยที่มี “คนไม่รู้หนังสือ” เป็นจำนวนมาก จะมีคนหากินในทาง “รับจ้างอ่านหนังสือ” ตามบ้านต่างๆ เวลาค่ำจะมีกิจกรรมที่เราเรียกรู้กันในเวลาต่อมาว่า “อ่านหนังสือให้คุณยายฟัง” นั่นคือการใช้วิชา “หนังสือ” นั่นเอง
แนวคิดนี้มิได้ประสงค์จะลบล้างความหมายที่เข้าใจกันมาแต่เดิม เพียงแต่นำเสนออีกความหมายหนึ่งเท่านั้น ญาติมิตรที่อ่านไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยแต่ประการใด
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๕ มกราคม ๒๕๖๕
๑๑:๑๐
………………………………………..
เลขเป็นโท หมายถึงอะไร