กองเกียรติยศ (บาลีวันละคำ 2,504)
กองเกียรติยศ
อ่านว่า กอง-เกียด-ติ-ยด
ประกอบด้วยคำว่า กอง + เกียรติ + ยศ
(๑) “กอง”
เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กอง ๒ : (คำนาม) กำลังพลของทหาร ตำรวจ เป็นต้น จำนวน ๔ หมวด เรียกว่า กองร้อย, เรียกหัวหน้าทหารหรือตำรวจที่มียศร้อยเอก เรือเอก เรืออากาศเอก หรือร้อยตำรวจเอก ว่า ผู้บังคับกองร้อย หรือทั่ว ๆ ไป เรียกว่า ผู้กอง เฉพาะกองร้อยตำรวจเอกนิยมเรียกว่า สารวัตร หรือ ผู้บังคับกอง; ส่วนราชการที่รองจากกรม.”
(๒) “เกียรติ”
บาลีเป็น “กิตฺติ” (กิด-ติ) รากศัพท์มาจาก กิตฺตฺ (ธาตุ = กล่าวถึง, พูดด้วยดี) + อิ ปัจจัย
: กิตฺต + อิ = กิตฺติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความดีอันเขากล่าวถึง” หมายถึง คําเล่าลือ, คําสรรเสริญ, ชื่อเสียง, ความรุ่งโรจน์, เกียรติยศ (fame, renown, glory, honour)
บาลี “กิตฺติ” สันสกฤตเป็น “กีรฺติ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “กีรฺตฺติ” และ “กีรฺติ” บอกไว้ดังนี้ :
(สะกดตามต้นฉบับ, ความหมายที่ท่านให้ไว้ในภาษาไทยบางคำเข้าใจยาก ถ้าดูภาษาอังกฤษอาจช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น)
“กีรฺตฺติ, กีรฺติ : (คำนาม) เกียรติ, ความบันลือ, ศรี (ยศสฺหรือสง่า), อนุเคราะห์, อนุกูลย์; ธันยวาท; ศัพท์, เสียง; อาภา, โศภา; โคลน, สิ่งโสโครก; ความซ่านทั่ว; มูรติทิพยศักดิ์ของพระกฤษณ; fame, renown, glory; favour; approbation; sound; light, lustre; mud, dirt; diffusion, expansion; one of the Mātrikās or personified divine energies of Krishṇa.”
บาลี “กิตฺติ” สันสกฤต “กีรฺติ” ภาษาไทยแผลงเป็น “เกียรติ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เกียรติ, เกียรติ-, เกียรติ์ : (คำนาม) ชื่อเสียง, ความยกย่องนับถือ, ความมีหน้ามีตา. (ส. กีรฺติ; ป. กิตฺติ ว่า คำเล่าลือ, คำสรรเสริญ).”
(๓) “ยศ”
บาลีเป็น “ยส” อ่านว่า ยะ-สะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ยชฺ (ธาตุ = บูชา) + อ ปัจจัย, แปลง ช เป็น ส
: ยชฺ + อ = ยช > ยส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องบูชา”
(2) ยา (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ส ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ยา เป็น อ (ยา > ย)
: ยา + ส = ยาส > ยส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไปทุกแห่ง” (ยศมีทั่วไปหมดทุกสังคม)
(3) ยสุ (ธาตุ = พยายาม) + อ ปัจจัย, ลบสระ อุ ที่สุดธาตุ (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”) (ยสุ > ยส)
: ยสุ + อ = ยสุ > ยส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุให้เขายกย่องหรือแวดล้อม” ขยายความว่า “มีผู้ยกย่องหรือแวดล้อมด้วยเหตุอันใด ก็พยายามทำเหตุอันนั้น”
“ยส” (ปุงลิงค์) หมายถึง ความรุ่งเรือง, ชื่อเสียง, กิตติศัพท์, ความสำเร็จ, ยศหรือตำแหน่งสูง (glory, fame, repute, success, high position)
“ยส” (ส เสือ) ภาษาไทยเขียนตามสันสกฤตเป็น “ยศ” (ศ ศาลา)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ยศ : (คำนาม) ความยกย่องนับถือเกียรติของตน, เกียรติคุณ, ฐานันดรที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง มีสูงต่ำตามลำดับกันไป; เครื่องหมายพิเศษที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ผู้มีฐานันดร มีสูงต่ำตามลำดับกันไป, เครื่องกําหนดหมายฐานะหรือชั้นของบุคคล. (คำวิเศษณ์) ที่แสดงฐานะหรือชั้น เช่น พัดยศ. (ส.; ป. ยส)”
การประสมคำ :
๑ เกียรติ + ยศ = เกียรติยศ (เกียด-ติ-ยด) แปลตามหลักธรรมว่า “ยศคือความมีชื่อเสียงเป็นที่ยกย่องนับถือ” เป็น 1 ใน 3 ยศ ที่ผู้รู้ธรรมแสดงไว้ คือ –
(1) “อิสริยยศ” หมายถึง ความเป็นใหญ่ มีตำแหน่งหน้าที่ และมีสิทธิอำนาจที่ควบมากับตำแหน่งหน้าที่นั้น
(2) “เกียรติยศ” หมายถึง ความมีชื่อเสียง เป็นที่สรรเสริญยกย่องนับถือของคนทั่วไป
(3) “บริวารยศ” หมายถึง ความมีพวกพ้องญาติมิตรมาก มีผู้คนคอยเป็นกำลังสนับสนุนมาก
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เกียรติยศ : (คำนาม) เกียรติโดยฐานะตําแหน่งหน้าที่หรือชาติชั้นวรรณะ.”
๒ กอง + เกียรติยศ = กองเกียรติยศ เป็นคำประสมแบบไทย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กองเกียรติยศ : (คำนาม) กองทหารหรือตํารวจเป็นต้น ที่จัดขึ้นเพื่อให้เป็นเกียรติแก่ประมุขของประเทศ บุคคลสําคัญ ศพทหารตํารวจ หรือสิ่งอื่น ๆ เช่น ธงชัยเฉลิมพล.”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: รู้จักให้เกียรติ
: นั่นแหละคนมีเกียรติ
#บาลีวันละคำ (2,504)
21-4-62