บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

การอ้างเหตุผลแบบงูกินหาง

การอ้างเหตุผลแบบงูกินหาง

—————————-

……………………………………………..

งูกินหาง : (สํานวน) (คำวิเศษณ์) เกี่ยวโยงกันจากหัวถึงหางโดยซัดกันไปเป็นทอด ๆ.

:พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔

……………………………………………..

เวลาใครพูดผิดเขียนผิดหรือทำอะไรผิด (หมายถึงผิดจากหลักที่ถูกต้องของเรื่องนั้นๆ ไม่ใช่ผิดตามความเห็นส่วนตัวของใคร) แล้วมีใครยกเรื่องนั้นขึ้นมาทักท้วง

ก็จะมีคนลุกขึ้นมาพูดว่า “หมอนี่มันดีแต่จับผิดชาวบ้าน”

เมื่อถูกพูดเช่นนี้ คนทั้งหลายก็มักจะเปลี่ยนท่าที นั่นคือ ต่อไปนี้แม้รู้เห็นว่าใครพูดผิดเขียนผิดหรือทำผิด ก็จะวางเฉย ไม่ทักไม่ท้วง เพราะรู้แล้วว่าถ้าทักท้วงก็จะโดนด่า – “หมอนี่มันดีแต่จับผิดชาวบ้าน”

กล่าวฝ่ายคนที่พูดผิดเขียนผิดหรือทำผิด เมื่อทำผิดลงไปแล้วไม่มีใครท้วง ครั้นต่อมาถ้าใครสงสัยหรือทำท่าจะโต้แย้งหรือทักท้วงว่าเรื่องที่ตนพูดเขียนทำลงไปนั้นว่า “ผิด” เขาก็อ้างทันที –

“ถ้าผิดก็ต้องมีคนทักท้วงมาตั้งนานแล้วสิ นี่ไม่เห็นมีใครทักท้วงอะไรเลย อยู่ๆ จะมาว่าผิดได้อย่างไร”

กระบวนการงูกินหางก็เกิดขึ้นตรงนี้เอง

๑ ทักท้วง ก็ว่าดีแต่จับผิดชาวบ้าน

๒ ก็เลยไม่มีใครกล้าทักท้วง

๓ พอไม่มีใครทักท้วง ก็อ้างว่าถ้าผิดก็ต้องมีคนท้วงไปแล้วสิ

๔ แล้วทำไมไม่มีใครทักท้วงล่ะ?

๕ อ้าว พอทักท้วงเข้าก็โดนด่า-ดีแต่จับผิดชาวบ้าน แล้วใครเขาจะอยากทักท้วงเล่า

๖ พอไม่มีใครทักท้วง ก็อ้างทันทีว่า ที่ทำพูดคิดไปนั้นถูกต้องแล้ว เพราะไม่มีใครทักท้วง

๗ ลองทักท้วงเข้าสิ จะโดนด่าทันทีว่าดีแต่จับผิดชาวบ้าน

๘ ก็เลยไม่มีใครกล้าทักท้วง

๙ พอไม่มีใครทักท้วง ก็อ้างทันที…..

๑๐ …..

เวลานี้เรากำลังเพลิดเพลินกันอยู่ในวังวนของการอ้างเหตุผลแบบงูกินหางแบบนี้แหละ

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๗ มกราคม ๒๕๖๔

๑๖:๕๗

…………………………………

การอ้างเหตุผลแบบงูกินหาง

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *