อัจจุตฤๅษี (บาลีวันละคำ 2,093)
อัจจุตฤๅษี
ผู้ทำหน้าที่คัดกรอง
(คำในชุดนามานุกรมเวสสันดรชาดก)
อ่านว่า อัด-จุ-ตะ-รือ-สี
แต่เสียงที่มักได้ยินคือ อัด-จุด-ตะ-รือ-สี
“อัจจุตฤๅษี” ประกอบด้วย อัจจุต + ฤๅษี
(๑) “อัจจุต”
บาลีเป็น “อจฺจุต” (อัด-จุ-ตะ) รากศัพท์มาจาก น (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + จุต
(ก) “จุต”
บาลีอ่านว่า จุ-ตะ รากศัพท์มาจาก จุ (ธาตุ = เคลื่อน, ตาย) + ต ปัจจัย
: จุ + ต = จุต แปลตามศัพท์ว่า “เคลื่อนแล้ว” หมายถึง เคลื่อน, หายไป, ถึงแก่กรรม, ผ่านจากชีวิตหนึ่งไปสู่อีกชีวิตหนึ่ง, จุติ (shifted, disappeared, deceased, passed from one existence to another)
(ข) น + จุต แปลง น (นะ) เป็น อ (อะ) ตามกฎการประสมของ น + กล่าวคือ :
(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แปลง น เป็น อ– เช่น
: น + มนุสฺส = นมนุสฺส > อมนุสฺส > อมนุษย์
“อมนุษย์” รากเดิมจึงไม่ใช่ อ + มนุษย์ อย่างที่ตาเห็นในภาษาไทย
(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ (อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ) แปลง น เป็น อน– เช่น –
: น + อาคต : น > อน + อาคต = อนาคต ภาษาไทยทับศัพท์ว่า อนาคต
ในที่นี้ “จุต” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ จึงต้องแปลง น เป็น อ, ซ้อน จฺ ระหว่าง อ กับ จุต
: น > อ + จฺ + จุต = อจุจุต แปลว่า “ผู้ไม่เคลื่อน” “ผู้ไม่ตาย” หมายถึง ยืนยง, ไม่จุติ, ไม่ตาย (permanent, not under the sway of Death)
“อจฺจุต” ในภาษาไทยใช้เป็น “อัจจุตะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อัจจุตะ : (คำวิเศษณ์) ไม่เคลื่อนที่, มั่นคง, แน่นอน, เสมอไป. (ป.).”
(๒) “ฤๅษี”
เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “อิสิ” (อิ-สิ) รากศัพท์มาจาก อิสฺ (ธาตุ = แสวงหา; ปรารถนา; ไป) + อิ ปัจจัย
: อิสฺ + อิ = อิสิ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้แสวงหาคุณธรรม” (2) “ผู้ปรารถนาสิวะคือพระนิพพาน” (3) “ผู้ไปสู่สุคติ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อิสิ” ว่า a holy man, one gifted with special powers of insight & inspiration, an anchoret, a Seer, Sage, Saint (คนศักดิ์สิทธิ์, ผู้มีพรสวรรค์เกี่ยวกับกำลังภายใน และผู้มีตาทิพย์, โยคี, ฤๅษี, มุนี, นักบุญ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อิสิ, อิสี : (คำนาม) ผู้แสวงคุณความดี, ฤษี, ผู้ถือบวช. (ป.; ส. ฤษิ).”
บาลี “อิสิ” สันสกฤตเป็น “ฤษิ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ฤษิ : (คำนาม) พระฤษี [พระฤษีมีอยู่ ๗ จำพวก คือ สฺรุตรฺษิ, กานฺทรฺษิ, ปรมรฺษิ, มหรฺษิ, ราชรฺษิ, พฺรหฺมรฺษิ, เทวรฺษิ]; พระเวท; แสง; a sanctified personage [there are seven orders of these saints, as Srutarshi, Kāntarshi, Paramrshi, Maharshi, Rājarshi, Brahmarshi, and Devarshi]; a Veda; a ray of light.”
บาลี “อิสิ” สันสกฤต “ฤษิ” ในภาษาไทยมีทั้ง “ฤษี” (รึ-สี) และ “ฤๅษี” (รือ-สี)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
(1) ฤษี : (คำนาม) ฤๅษี, นักบวชพวกหนึ่ง มีมาก่อนพุทธกาล สละบ้านเรือนออกไปบําเพ็ญพรตแสวงหาความสงบ. (ส. ฤษี ว่า ผู้เห็น, ผู้แต่งพระเวท; ป. อิสิ).
(2) ฤๅษี : (คำนาม) ฤษี, นักบวชพวกหนึ่ง มีมาก่อนพุทธกาล สละบ้านเรือนออกไปบําเพ็ญพรตแสวงหาความสงบ.
ตามหลักไวยากรณ์ อจฺจุต + อิสิ = อจฺจุติสิ แต่เท่าที่พบในคัมภีร์ท่านมักแยกกันเป็น 2 คำ เช่น อจฺจุโต อิสิ (แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง)
ในภาษาไทย “อิสิ” ใช้ตามสันสกฤตเป็น “ฤๅษี” เรานิยมเรียกควบกันเป็น “อัจจุตฤๅษี” แปลว่า “ฤๅษีชื่ออัจจุตะ” หรือ “ฤๅษีผู้ไม่ตาย”
ในมหาเวสสันดรชาดก อัจจุตฤๅษีตั้งอาศรมอยู่ระหว่างกึ่งกลางระยะทางจากประตูป่าที่พรานเจตบุตรระวังรักษาไปถึงอาศรมบทของพระเวสสันดร เมื่อชูชกลาพรานเจตบุตรออกเดินทางต่อไปก็ถึงอาศรมของอัจจุตฤๅษีก่อนที่จะไปถึงพระเวสสันดร
เท่ากับว่า อัจจุตฤๅษีทำหน้าที่คัดกรองอีกชั้นหนึ่งต่อจากที่พรานเจตบุตรคัดสกัดมาแล้ว
ในเรื่องไม่ได้บอกว่าอัจจุตฤๅษีเป็นใครมาจากไหน แต่นักวิจารณ์สันนิษฐานว่าคงเป็นคนที่กษัตริย์เจตรัฐส่งไประวังรักษาพระเวสสันดรอีกชั้นหนึ่งต่อจากพรานเจตบุตร
ในท้องเรื่องบอกว่า ชูชกหลอกอัจจุตฤๅษีว่าคุ้นเคยกับพระเวสสันดร คิดถึงจึงตั้งใจจะไปเยี่ยมเยียน อัจจุตฤๅษีก็ทำหน้าที่มัคคุเทศก์นำชมป่าและชี้ทางต่อไปยังอาศรมบทที่พระเวสสันดรประทับ
เราส่วนมากฟังเรื่องแล้วมักเชื่อว่าอัจจุตฤๅษีรู้ไม่ทันชูชกเช่นเดียวกับพรานเจตบุตร
แต่บางทีเราอาจจะถูกอัจจุตฤๅษีหลอกให้เชื่อเช่นนั้นเหมือนกับที่เราเชื่อว่าอัจจุตฤๅษีถูกชูชกหลอก-ก็อาจเป็นได้
ถ้าเป็นเช่นนั้นก็แสดงว่า อัจจุตฤๅษีเป็นฤๅษีที่เหนือชั้นจริงๆ
ในตอนกลับชาติ คัมภีร์บอกว่า อัจจุตฤๅษีกลับชาติมาเกิดเป็นพระสารีบุตรเถระ อัครสาวกผู้เลิศทางมีปัญญา
…………..
ดูก่อนภราดา!
: รู้ว่าถูก จงกล้าทำแม้จะต้องสละชีวิต
: รู้ว่าผิด จงอย่าอายที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข
—————–
(คำในชุดนี้ได้ความคิดจากคำถามของ วงษ์ชนะ สุรเชษฐ์)
#บาลีวันละคำ (2,093)
6-3-61