บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

นิตยภัตกับงบประมาณแผ่นดิน

นิตยภัตกับงบประมาณแผ่นดิน

——————————-

ญาติมิตรคงพอระลึกได้ว่า เมื่อไม่นานมานี้มีผู้กล่าวถึงกรณีพระเณรเรียนบาลีสอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้ ได้รับนิตยภัตเดือนละ ๔,๒๐๐.-บาท 

เกิดเป็นประเด็นว่า สมควรหรือไม่ที่จะเอาเงินงบประมาณแผ่นดินมาจ่ายให้พระเณรที่สอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้

พูดเอะอะกันอยู่ไม่กี่วันก็เงียบไป

ตกลงจะเอายังไงกัน ก็เงียบไปเช่นกัน

นี่ก็เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งที่พบเห็นได้ในสังคมไทย (อาจจะรวมทั้งสังคมโลก) คือสนใจอะไรเป็นพักๆ 

พักหลังๆ นี่ ที่เห็นเด่นชัดขึ้นก็คือ สนใจอะไรก็เฉพาะวันที่กำหนดกันขึ้นว่าเป็นวันนั้นๆ เช่น —

สนใจเรื่องพ่อแม่เฉพาะวันพ่อวันแม่ 

สนใจเรื่องของครูเฉพาะวันครู 

สนใจเรื่องปัญหาเด็กเฉพาะวันเด็ก 

สนใจภาษาไทยเฉพาะวันภาษาไทย 

สนใจเรื่องความรักเฉพาะวันวาเลนไทน์ 

ฯลฯ

พอพ้นวันนั้นๆ ไปแล้วก็เลิกพูดเรื่องนั้น

ออกพรรษาแล้ว ทอดกฐินกันเดือนหนึ่ง วันลอยกระทงเป็นวันสุดท้ายที่ทอดกฐินได้ คนก็สนใจเรื่องกฐินกันเฉพาะช่วงเวลานั้น 

กฐินพระรูปเดียว 

กฐินเจ้าภาพหลายราย 

กฐินเป็นกองๆ 

ผิดหรือถูก 

ตอนนี้ก็เลิกพูดกันแล้ว ถูกหรือผิดก็ปล่อยให้ค้างคาอยู่เช่นนั้น-จนกว่าจะถึงหน้ากฐินปีต่อไปก็เอามาพูดให้ค้างคากันใหม่

………………..

ผมไม่ใช่มนุษย์ตามกระแสครับ 

ผมเห็นว่าประเด็น-นิตยภัตพระเณรที่สอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้กับเรื่องงบประมาณแผ่นดินนั้น ควรพูดกันให้จบ

จะมาคอยกระแหนะกระแหนพระเณร เป็นชนักปักหลัง-ทำนองว่าเปลืองงบประมาณแผ่นดิน ผมว่ามันไม่ถูก

นอกจากนั้นยังมีคนชอบต่อยอด พูดซ้ำลงไปอีก-งบประมาณแผ่นดินมาจากเงินภาษีของประชาชน 

โยงไปที่ประชาชนทันที 

จูงความคิดไปว่า-เป็นการเอาเปรียบประชาชน ขูดรีดประชาชน-ไปโน่นเลย

ไหนๆ จะโยงไปที่เงินภาษีของประชาชนกันแล้ว ซักกันให้ขาวสะอาดไปเลยสิครับ —

งบประมาณแผ่นดิน-เงินภาษีของประชาชน-ควรจ่ายเพื่อการอันใดบ้าง

อย่าจ้องแต่จะโฟกัสเฉพาะนิตยภัตพระเณร แต่ควรเอามาคลี่ดูกันให้หมดทุกคนทุกตำแหน่งที่ได้รับเงินจากงบประมาณแผ่นดิน หรือเงินจากภาษีของประชาชน

ในบ้านเมืองของเรานี้ ใครบ้าง ตำแหน่งไหนบ้าง ได้รับเงินอะไรบ้าง ครั้งละเท่าไร เดือนละเท่าไร ปีละเท่าไร และคนเหล่านั้นทำอะไรบ้าง คุ้มค่ากับงบประมาณแผ่นดิน-เงินจากภาษีของประชาชน หรือไม่

จะเห็นได้ว่า-กลายเป็นเรื่องใหญ่แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่พูดกันวันสองวันแล้วก็เลิก แต่เป็นเรื่องที่ควรพูดกันให้เคลียร์ พูดกันจนได้ข้อยุติ ตกลงกันว่า-ต่อไปนี้เอายังงี้ๆ เข้าใจตรงกันดีแล้วจึงค่อยเลิกพูด แล้วจึงลงมือทำตามที่ตกลงกัน

ธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งของสังคมเราก็คือ ชอบตำหนิกัน ตำหนิได้ทุกเรื่อง 

แต่ไม่เสนอแนะวิธีแก้ปัญหา โดยเฉพาะ-วิธีที่สามารถเอาไปแก้ปัญหาได้จริง ไม่พูด ไม่บอก ขอด่าอย่างเดียว

ผมเคยถามตรงๆ-กับนักติทุกเรื่อง ถามว่า คุณจะให้เขาแก้ปัญหายังไง บอกวิธีแก้เขาไปด้วยสิ เขาจะได้เอาไปทำถูก 

เขาตอบง่ายมาก-ไม่ใช่หน้าที่ …

… พวกมันมีตำแหน่ง กินเงินเดือน (จากภาษีของประชาชน) กันคนละมากๆ เป็นหน้าที่ของมันที่จะต้องหาวิธีแก้ปัญหา ไม่ใช่โยนมาให้ชาวบ้านช่วยคิด …

ชาวบ้านไม่มีหน้าที่ช่วยคิดหาวิธีแก้ปัญหา

แต่มีสิทธิ์ด่าลูกเดียว

เป็นเสียอย่างนี้

………………..

ญาติมิตรท่านใดมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณแผ่นดิน ขอแรงยกเรื่องนี้ขึ้นตั้งเป็นประเด็นปัญหาทีเถอะครับ —

ค่าอะไรบ้างที่ควรจ่ายจากงบประมาณแผ่นดิน

ค่าอะไรบ้างที่ควรจ่าย แต่ไม่ควรเอางบประมาณแผ่นดินมาจ่าย

และถ้าไม่เอางบประมาณแผ่นดินมาจ่าย ควรจะเอาจากที่ไหนมาจ่าย

ค่าอะไรบ้างที่ควรเลิกจ่าย

ค่าอะไรบ้างที่ควรจ่ายอย่างยิ่ง แต่ไม่เคยจ่ายเลย ใช้งานกันฟรีๆ มาตลอด

ฯลฯ

ถ้ายังไม่จับเข่าคุยประเด็นเหล่านี้กันให้เคลียร์ ก็ขอร้องเถอะ-อย่าเอาเรื่องนิตยภัตของพระมาด่ากันข้างถนน

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๐ มกราคม ๒๕๖๕

๑๗:๒๒

……………………………………………

นิตยภัตกับงบประมาณแผ่นดิน

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *