งานบอกกล่าวชวนกันรักษาพระธรรมวินัย
งานบอกกล่าวชวนกันรักษาพระธรรมวินัย: แทรกคำชี้แจง (๑)
งานบอกกล่าวชวนกันรักษาพระธรรมวินัย: แทรกคำชี้แจง (๑)
————————————
ผมโพสต์หัวข้อ “งานบอกกล่าวชวนกันรักษาพระธรรมวินัย” มาได้ ๔ ตอน เกิดความคิดว่าควรจะแทรกคำชี้แจงเรื่องบางประเด็น
คำชี้แจงที่แทรกนี้ เดิมตั้งใจเขียนเป็นประเด็นสั้นๆ เพื่อชี้แจงว่าการยกเอาข้อความในคัมภีร์มาแสดงนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของความคิดเห็น แต่เป็นการยกเอาหลักฐานมาวางให้ดู
แต่เมื่อเขียนไปๆ กลายเป็นเรื่องยืดยาว ประเด็นเดียวกลายเป็นหลายประเด็น
ผมเชื่อว่าญาติมิตรส่วนมากคงจะเหนื่อยหน่ายกับการที่จะต้องอ่านข้อความยืดยาว โดยเฉพาะถ้าอ่านจากเครื่องโทรศัพท์ด้วยแล้วย่อมจะหมดความอดทนได้ง่ายมาก
ดังนั้น ถ้าจะอ่านให้ราบรื่น ขอแนะนำว่าให้อ่านจากเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อย่างอื่น ที่ไม่ใช่โทรศัพท์
และผมจะแบ่งโพสต์เรื่องนี้เป็น ๓ ตอน เพื่อให้อ่านสบายขึ้น
———————-
โพสต์ในชุด “งานบอกกล่าวชวนกันรักษาพระธรรมวินัย” ตอนที่ (๔) มีข้อความตอนหนึ่งว่า —
……………………
หนังสือนี้เกิดมีมาอย่างไร ได้เล่าไว้ในต้นเรื่องแล้ว ขอย้ำเพื่อความเข้าใจว่า การที่บอกกล่าวกันไม่ใช่เป็นเรื่องของความคิดเห็น แต่เป็นเรื่องความถูกตรงแม่นยำแห่งหลักคำสอนที่ยกมาแสดง โดยเฉพาะคำแปลที่พึงช่วยกันตรวจสอบบอกกันให้มั่นใจได้
……………………
ขออนุญาตแทรกคำชี้แจงของผม (นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย) ไว้ตรงนี้เพราะเห็นว่ามีประเด็นที่ควรทำความเข้าใจให้ตรงกัน
หนังสือ – ดู “ธรรมกาย” แท้ของพระพุทธเจ้า เข้าใจ “อนัตตา” ให้ตรงตามจริง – ที่ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) เขียน และผมยกข้อความมาเสนอเป็นตอนสั้นๆ นี้ เนื้อหาสำคัญในเล่มเป็นการยกข้อความจากคัมภีร์ คือพระไตรปิฎก และอรรถกถา ฎีกา ที่เกี่ยวกับประเด็น “นิพพานเป็นอนัตตา” (ซึ่งสำนักแห่งหนึ่งสอนตรงกันข้ามว่า “นิพพานเป็นอัตตา”) มาแสดง
การยกข้อความในคัมภีร์มาแสดงเช่นนี้ มีบางท่านบางฝ่ายจัดการ “ประทับตรา” ลงไปว่า “อ๋อ ก็เป็นเพียงความคิดเห็นของสมเด็จประยุทธ์ท่าน” และเหมือนกับจะบอกต่อไปว่า ใครๆ ก็แสดงความคิดเห็นกันได้ ไม่แปลกอะไร
น่าจะเป็นเพราะอย่างนี้ ท่านเจ้าพระคุณจึง “ดักคอ” ไว้ก่อนว่า “ไม่ใช่เป็นเรื่องของความคิดเห็น”
เมื่อไม่ใช่เป็นเรื่องของความคิดเห็น แล้วเป็นเรื่องอะไร?
ก็เป็นเรื่องที่ต้องยกเอาหลักคำสอนขึ้นมาพิจารณากัน
ยังไง?
นิพพานเป็นอนัตตา หรือนิพพานเป็นอัตตา ตัดสินกันด้วยหลักคำสอน ไม่ใช่ตัดสินด้วยความเห็นของ “สมเด็จประยุทธ์” หรือด้วยคำสอนของสำนักไหน
ถ้ายังงงอยู่ ก็ฟังต่อไป
พระพุทธศาสนาคือคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ หรือแม้แต่เมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว แต่เกิดขึ้นมา ๒,๖๐๐ ปีมาแล้ว ตัวผู้สอนคือพระพุทธเจ้าก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน ๒,๖๐๐ ปีมาแล้ว เราท่านทุกวันนี้ล้วนไม่เคยได้ฟังคำสอนจากพระโอษฐ์ของพระองค์ด้วยกันทั้งนั้น
แล้วเรารู้จักคำสอนของท่านได้อย่างไร
ก็รู้ได้ด้วยการนำสืบๆ กันมา จากรุ่นสู่รุ่น
๔๐๐ ปีแรก นำสืบกันมาด้วยความทรงจำ หลังจากนั้นจึงจารึกคำสอนเป็นลายลักษณ์อักษร และเรียกรู้กันโดยคำรวมว่า “พระไตรปิฎก” ที่เรารู้จักกันในวันนี้
“พระไตรปิฎก” นั้นบันทึกไว้เป็นภาษาบาลี เป็นภาษาที่มีกฎเกณฑ์แม่นยำเคร่งครัด เพื่อไม่ให้ความหมายของคำสอนแปรเปลี่ยนหรือที่เรียกว่า “ดิ้นได้” ไปตามกาลเวลา
ใครอยากรู้จักหลักคำสอนจากต้นฉบับตรงๆ ก็ต้องเรียนภาษาบาลี
ในเมืองไทยเรานิยมเรียนบาลีกันก็ด้วยความมุ่งหมายนี้ คือเพื่อรู้จักหลักพระธรรมวินัยจากต้นฉบับตรง เพื่อจะได้ประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้อง
แต่ทุกวันนี้ความมุ่งหมายของการเรียนบาลีผิดเพี้ยนเบี่ยงเบนไปหมดแล้ว – ประเด็นนี้หยุดไว้แค่นี้ก่อน พูดไปก็กระทบใจกันหลายคน
สำหรับผู้ที่ไม่รู้บาลี ก็ต้องเรียนรู้จากคำแปล-ซึ่งจะต้องระลึกไว้เสมอว่า ไม่ใช่ต้นฉบับตรง คำแปลนั้นอาจผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้เสมอ
เพราะฉะนั้นถ้ามีปัญหาอะไรก็ต้องไปตัดสินกันที่พระไตรปิฎกต้นฉบับภาษาบาลี
พูดอย่างนี้ก็ไปเข้าทางของท่านจำพวกหนึ่งที่มีความเห็นว่า ไม่ควรยึดติดตำรา ไม่ควร-อะไรๆ ก็อ้างพระไตรปิฎก อะไรๆ ก็อ้างคัมภีร์ ในกาลามสูตรพระพุทธเจ้ายังตรัสสอนเอาไว้ว่าไม่ให้เชื่อคัมภีร์
ก็จึงต้องทำความเข้าใจกันก่อนด้วยว่า พระไตรปิฎกหรือคัมภีร์เป็นต้นฉบับ เป็นแหล่งกลางที่รวมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ชาวโลกยอมรับกันแล้ว เราจึงต้องมุ่งหน้าไปที่นั่น ไปตัดสินกันที่นั่น
แต่เมื่ออ้างพระไตรปิฎกแล้ว เราจะเชื่อพระไตรปิฎกหรือไม่เชื่อ หรือเราจะเชื่อคำสอนของใครสำนักไหน ย่อมเป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ของเรา ไม่มีใครบังคับให้เราต้องเชื่อพระไตรปิฎก
เพียงแต่ขอให้มีความซื่อตรง คือพระไตรปิฎกว่าอย่างไร ก็เอามาแสดงให้ตรงไปตรงมาตามนั้น ต่อจากนั้น เราเชื่อหรือไม่เชื่อก็ว่าไปตรงๆ หรือเราเชื่อเลื่อมใสคำสอนแบบไหน ของใคร ก็ว่าไปตรงๆ ตามนั้น – นี่คือความซื่อตรง
เวลานี้ที่เป็นอันตรายมากก็คือ เอาความเห็นของสำนัก ของอาจารย์ หรือแม้แต่ความเห็นความเข้าใจของตัวเองมายืนยันว่า นี่แหละคือคำสอนของพระพุทธเจ้า
ผู้ที่ไม่ได้เรียนคำสอนของพระพุทธเจ้าจากต้นฉบับตรง หรือผู้ที่รู้ไม่ทัน ก็จะพากันเข้าใจผิด ถือผิดตามไป ว่าคำสอนของสำนักนั้น ของอาจารย์นั้น-นั่นแหละคือคำสอนของพระพุทธเจ้า นั่นแหละคือพระพุทธศาสนา
เวลานี้เป็นอย่างนี้กันมากแล้ว
เพราะฉะนั้น จึงควรเน้นย้ำกันไว้ว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ในพระไตรปิฎก ใครจะเชื่อคำสอนนั้นหรือไม่เชื่อ ตลอดจนจะเห็นว่าพระไตรปิฎกก็เชื่อไม่ได้ ย่อมเป็นเสรีภาพโดยสมบูรณ์ของผู้นั้น แต่เมื่อจะอ้างจะยืนยันว่าอะไรเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ต้องตัดสินกันที่พระไตรปิฎก
ต่อจากนั้น ใครจะสอนอะไร แบบไหน หรือใครจะเชื่อจะเลื่อมใสคำสอนแบบไหน ก็บอกกันไปตามตรงว่า เป็นคำสอนของใคร แต่จะอ้างไม่ได้เลยว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
ถ้าจะอ้างว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็ต้องตรวจสอบและตัดสินกันด้วยพระไตรปิฎก
หรือหากจะมีแนวคิดชนิดใดๆ ปฏิเสธพระไตรปิฎกทั้งหมดว่าไม่ใช่ที่มาหรือแหล่งกลางที่ประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วตั้งทฤษฎีขึ้นใหม่ว่าคำสอนของพระพุทธเจ้ามีที่มาจากที่นั่นที่นี่ที่โน่นหรือที่ไหน – หากเป็นแบบนี้ ก็ต้องว่ากันไปอีกเวทีหนึ่ง ใครมีที่มาหรือมีหลักฐานอะไรก็ยกมาแสดงกันได้เต็มที่
แต่ ณ เวลานี้ หลักกลางหรือแหล่งรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ยอมรับกันเป็นสากลแล้ว คือพระไตรปิฎกบาลี
นี่คือสิ่งที่ต้องเข้าใจให้ตรงกัน
……………………
ทีนี้มาดูหนังสือ – ดู “ธรรมกาย” แท้ของพระพุทธเจ้า เข้าใจ “อนัตตา” ให้ตรงตามจริง – ที่ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) เขียน
ได้บอกแล้วว่า ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ท่านยกข้อความจากคัมภีร์ คือพระไตรปิฎก และอรรถกถา ฎีกา ที่เกี่ยวกับประเด็น “นิพพานเป็นอนัตตา” (ซึ่งสำนักแห่งหนึ่งสอนตรงกันข้ามว่า “นิพพานเป็นอัตตา”) มาแสดง
ข้อความจากต้นฉบับเหล่านั้นเป็นภาษาบาลี คนที่รู้ภาษาบาลีอ่านแล้วก็เข้าใจได้ทันที คือเข้าใจได้เลย ไม่ต้องแปล
ก็เหมือนคนที่รู้ภาษาอังกฤษ เวลาอ่านหนังสือที่ต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ อ่านไปก็เข้าใจไปพร้อมๆ กันเลย ส่วนคนที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษ ถ้าอยากอ่านก็ต้องอ่านฉบับแปล – นี่ก็แบบเดียวกัน
ทีนี้ คนส่วนใหญ่เมืองไทยไม่รู้ภาษาบาลีถึงขนาดที่อ่านภาษาบาลีก็เข้าใจได้ทันที เพราะฉะนั้นเมื่อยกบาลีมาแล้วท่านก็ต้องแปลเป็นไทย
ตรงนี้ก็เป็นจุดสำคัญที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า คำแปลเป็นไทยนั้นก็ไม่ใช่ “ความคิดเห็นของสมเด็จประยุทธ์ท่าน” แต่เป็นหลักกลางที่มีมาในคัมภีร์ “สมเด็จประยุทธ์” เพียงแต่นำหลักกลางนั้นมาแสดงให้เห็นเท่านั้น
หน้าที่ของพวกเราคือพิจารณาหลักกลางนั้นว่า ท่านว่าไว้อย่างไร สอดคล้องหรือขัดแย้งกับ “นิพพานเป็นอนัตตา” หรือ “นิพพานเป็นอัตตา” อย่างไร
ต่อจากนั้นก็มาถึงหน้าที่สำคัญของเรา คือพิจารณาตรวจสอบดูว่า คำสอนของใครว่าอย่างไร คำสอนที่เราเชื่อเรานับถือว่าอย่างไร แล้วหลักกลางในพระไตรปิฎกท่านว่าไว้อย่างไร ตรงนี้แหละที่เราต้องใช้สติปัญญาตรวจสอบดู
และตรงนี้แหละที่-ขออภัยที่จะต้องพูดกันตรงๆ ว่า-ชาวพุทธในเมืองไทยเราอ่อนด้อยกันอย่างยิ่ง คือขาดความรู้หลักวิชาที่จะใช้เป็นเครื่องวินิจฉัยว่าอะไรถูก-ผิด ดี-ชั่ว จริง-เท็จ ได้อย่างแม่นยำชัดเจน
ตัวอย่างง่ายๆ ที่อาจเห็นได้ในชีวิตประจำวัน – เมื่อเช้าใส่บาตร แล้วลืมกรวดน้ำ จะได้บุญไหม? – ปัญหาประจำวันแค่นี้ เราส่วนมากก็วินิจฉัยกันไม่ถูกแล้ว
และแม้จะตอบออกมาได้ ก็หาได้ใช้หลักคำสอนที่ถูกต้องเป็นเกณฑ์วินิจฉัยไม่ หากแต่เอาความเห็นความเข้าใจส่วนตัวเป็นคำวินิจฉัยกันเป็นส่วนมาก
ดังจะเห็นได้จากคำตอบว่า ..ฉันว่าได้บุญนะ .. ผมว่าน่าจะไม่ได้นะ ..
แต่ทำไมจึงได้ หรือทำไมจึงไม่ได้ เอาหลักอะไรมาตอบ .. ไม่รู้
พวกเราส่วนมากเป็นอย่างนี้ คือมีศรัทธาเป็นตัวนำ ปัญญาเป็นตัวตาม และมีเป็นอันมากที่ศรัทธาเป็นตัวนำโดดเดี่ยว โดยไม่มีปัญญาเป็นตัวตามหนุนประกอบ เช่นนี้ จึงเป็นโอกาสให้ผู้ที่ฉลาดในการสร้างศรัทธาชักพาไปได้โดยง่าย ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป
ข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งที่ควรพิจารณาก็คือ เราส่วนมากเกิดศรัทธาในคำสอนหรือแนวปฏิบัติของตัวบุคคลก่อน โดยที่ยังไม่มีความรู้ในหลักคำสอนที่ถูกต้องแท้จริงว่าเรื่องนั้นๆ พระพุทธศาสนาสอนไว้อย่างไร
และส่วนมากอีกเช่นกันที่เมื่อศรัทธาเลื่อมใสในตัวบุคคลแล้วก็ไม่มีใจหรือไม่ใส่ใจที่จะศึกษาสืบสวนหลักคำสอนที่ถูกต้องแท้จริงต่อไปอีก คงพอใจอยู่กับคำสอนและแนวปฏิบัติของบุคคลที่ตนเลื่อมใสศรัทธาอยู่เท่านั้น นี่คือที่มาของสิ่งที่เรียกว่า “ลัทธิอาจารย์”
กล่าวได้ว่า เมืองไทยมีวัดหรือมีสำนักเรียนธรรมปฏิบัติธรรมอยู่เท่าไร ก็มีจำนวนลัทธิอาจารย์อยู่เท่านั้น
พระพุทธศาสนาในเมืองไทยจึงขาดเอกภาพอย่างยิ่ง
(มีต่อตอน ๒)
————————————
ดู “ธรรมกาย” แท้ของพระพุทธเจ้า
เข้าใจ “อนัตตา” ให้ตรงตามจริง
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
……………………
ดาวน์โหลดหนังสือ:
http://www.watnyanaves.net/th/book_search
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๑
๑๖:๑๒
…………………………….