บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

งานบอกกล่าวชวนกันรักษาพระธรรมวินัย

งานบอกกล่าวชวนกันรักษาพระธรรมวินัย (๗)

งานบอกกล่าวชวนกันรักษาพระธรรมวินัย (๗)

————————————

หลัก “อนัตตา”

มากับปัญญาที่รู้เข้าใจ และทำการตามเหตุปัจจัย

หลักอนัตตา ปฏิเสธอัตตา

ที่ภาษาพราหมณ์เรียกว่า “อาตมัน”

ในการดูข้อความจากคัมภีร์ภาษาบาลีที่ถูกยกมาเป็นหลักฐานและคำแปลที่ใช้ยืนยันคำอ้างว่านิพพานเป็นอัตตาในหนังสือ “คู่มือ” ข้างต้นนั้น ว่าแปลผิดพลาด ไม่ตรงอย่างไร ควรมีความรู้เข้าใจหลัก อนัตตา พร้อมทั้งคำว่า อัตตา และอนัตตา เป็นพื้นฐานไว้ เพื่อให้มองเรื่องออก

หลักอนัตตา คือพระพุทธเจ้าทรงสอนหลักธรรมความจริงว่า สิ่งทั้งปวง ไม่ว่าอะไรๆ ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นอนัตตา คือไม่เป็นไม่มีอัตตา ทีนี้ อัตตานั้นแปลว่าตัวตน อนัตตาจึงแปลว่า ไม่เป็นไม่มีตัวตน

หลายคนพอได้ยินว่าไม่เป็นไม่มีตัวตน ก็นึกเอาว่าคือไม่มีอะไร อะไรๆ ก็ไม่มี แล้วก็นึกว่าพระพุทธศาสนาสอนว่า สิ่งทั้งหลายไม่มีจริง อะไรๆ ก็ไม่มีจริง แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิด ที่แท้นั้นตรงข้ามเลย

ตรงข้ามอย่างไร ที่ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงหรือทุกสิ่งทุกอย่างไม่เป็นไม่มีอัตตา ไม่เป็นไม่มีตัวตนนั้น ก็คือ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงหรือทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่นั้น เป็นสภาวธรรม จะพูดสั้นๆ ว่าเป็นสภาวะ ก็ได้

ที่ว่าเป็นสภาวะ∗ คือเป็นสิ่งที่มีภาวะของมันเอง หมายความว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ทุกสิ่งทุกอย่างมีภาวะของมัน เช่นสังขารทั้งหลายที่เป็นไปต่างๆ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เกิดจากองค์ประกอบ มีปัจจัยต่างๆ สืบต่อสัมพันธ์ปรุงแปลงสรรค์แต่งขึ้นมา ไม่ต้องและไม่อาจจะมีอัตตาตัวตนอะไรสิงซ่อนเป็นเจ้าของครอบครองบงการบัญชาให้มันเป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ตามอยากตามปรารถนาของตัวตนแทรกซ้อนเข้าไปได้ คำว่าตัวตน ตัวกู ตัวข้า ตัวเขา ฯลฯ เป็นข้อยึดถือหรือสมมติทางภาษา เพื่อความสะดวกที่จะรับสมอ้างในการสื่อสารเป็นต้นเท่านั้น

————————————

ดู “ธรรมกาย” แท้ของพระพุทธเจ้า

เข้าใจ “อนัตตา” ให้ตรงตามจริง

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ภาคผนวก หน้า ๕๗-๕๘

……………………

ดาวน์โหลดหนังสือ:

http://www.watnyanaves.net/th/book_search

๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๑

๑๑:๓๓

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *