บาลีวันละคำ

ลักษณนาม (บาลีวันละคำ 1,752)

ลักษณนาม

ฤๅจะรอให้ฝรั่งมาสอน

อ่านว่า  ลัก-สะ-หฺนะ-นาม

แยกศัพท์เป็น ลักษณ + นาม

(๑) “ลักษณ

บาลีเป็น “ลกฺขณ” (ลัก-ขะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ลกฺขฺ (ธาตุ = กำหนด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, แปลง เป็น

: ลกฺขฺ + ยุ > อน = ลกฺขน > ลกฺขณ แปลตามศัพท์ว่า –

๑) “สภาวะอันธรรมดากำหนดไว้อย่างนั้นนั่นเอง

๒) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขาใช้กำหนดหมาย

ลกฺขณ” หมายถึง สัญลักษณ์, เครื่องหมาย, เครื่องหมายที่เด่นหรือลักษณะที่สำคัญ, คุณภาพ (sign, characteristic, mark, a distinguishing mark or salient feature, property, quality)

ลกฺขณ” ใช้ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ลักษณ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ลักษณ-, ลักษณะ : (คำนาม) สมบัติเฉพาะตัว เช่น น้ำมีลักษณะเป็นของเหลว ลูกบิลเลียดมีลักษณะกลม ลูกเต๋ามีลักษณะเหลี่ยม คนไทยมีลักษณะอ่อนโยน; ประเภท เช่น ใน ๓ ลักษณะ. (ส.; ป. ลกฺขณ).”

(๒) “นาม

บาลีอ่านว่า นา-มะ รากศัพท์มาจาก นมฺ (ธาตุ = น้อม) + ปัจจัย, ลบ , ยืดเสียง อะ ที่ -(มฺ) เป็น อา (นมฺ > นาม)

: นมฺ + = นมณ > นม > นาม แปลตามศัพท์ว่า “คำเป็นที่น้อมวัตถุเข้ามา” “คำที่น้อมไปหาวัตถุ” “คำที่ชาวโลกใช้เป็นเครื่องน้อมไปสู่ความหมายนั้นๆ” หมายถึง นาม, ชื่อ (name)

ความหมายในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นาม, นาม– : (คำนาม) ชื่อ, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระนาม; คําชนิดหนึ่งในไวยากรณ์ สําหรับเรียกคน สัตว์ และสิ่งของต่าง ๆ; สิ่งที่ไม่ใช่รูป คือ จิตใจ, คู่กับ รูป. (ป.).”

ลกฺขณ + นาม = ลกฺขณนาม > ลักษณนาม

โปรดสังเกต : “ลักษณ…” ไม่ต้องประวิสรรชนีย์ (ไม่ต้องมีสระ อะ) หลัง ณ

ลักษณนาม” ไม่ใช่ “ลักษณะนาม

ลักษณนาม” (a numerative noun) เป็นคำที่เราคิดขึ้นใช้ในหลักวิชาไวยากรณ์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ลักษณนาม : (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) (คำนาม) คำนามที่แสดงลักษณะของสิ่งต่าง ๆ เช่น คน ๓ คน แมว ๒ ตัว ขลุ่ย ๓ เลา ลูกคนโต หมวกใบใหญ่.”

…………..

อภิปราย :

คำว่า “คน” (หลังเลข ๓) “ตัว” “เลา” “ใบ” นั่นคือ “ลักษณนาม

คำอื่นๆ ที่เราพูดกันจนชินก็เช่น รถ 1 “คัน” บ้าน 1 “หลัง” ถัง 1 “ใบ” ไข่ 5 “ฟอง” น้ำ 3 “ขวด” ตำรวจ 5 “นาย” ผู้ร้าย 2 “คน”

คำในเครื่องหมาย “” นั่นคือลักษณนาม

ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ก็คือ คนไทย-โดยเฉพาะรุ่นใหม่-ใช้ลักษณนามกันไม่ค่อยถูก หรือที่จริงควรจะเรียกว่าใช้ไม่เป็น

ที่สะดุดหูอยู่เป็นประจำก็เช่น “ผลิตภัณฑ์ตัวนี้” “สินค้าตัวนี้”

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้อ่านหนังสือพิมพ์ออนไลน์ฉบับหนึ่ง ลงวันเดือนปีว่า Wednesday, March 22, 2017 หัวข้อข่าว “ชงตั้งเจ้าอาวาส พระนอกจานบิน” ข้อความตอนหนึ่งเขียนว่า –

“ตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 24 หากไม่มีรักษาการเจ้าอาวาส สามารถแต่งตั้งเจ้าอาวาสคนใหม่ได้”

“เจ้าอาวาสคนใหม่” – เดี๋ยวนี้เขาใช้ลักษณนามแบบนี้กันแล้วหรือ?

(อันที่จริงน่าจะบอกว่าหนังสือพิมพ์ชื่ออะไร แต่สังคมเรามีค่านิยมเกรงใจคนทำผิด กลัวเขาจะเสียหาย จึงขอไม่บอก นี่ก็เป็นผลเสียอีกอย่างหนึ่ง คือเท่ากับช่วยกันปกป้องคนผิด ทำให้คนทำผิดได้ใจ เพราะเชื่อว่าอย่างไรเสียความเสียหายก็ไม่มาถึงตัว)

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่เกิดมานานแล้วและยังคงเป็นอยู่ก็คือ ไม่ใช้ลักษณนาม แต่ใช้วิธีพูดแบบฝรั่ง เช่น “ผู้ต้องหา 2 คน” ก็พูด (หรือเขียน) ว่า “2 ผู้ต้องหา”

ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีลักณนาม ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งและเป็นความงามหรือเสน่ห์ของภาษา ควรช่วยกันศึกษาเรียนรู้แล้วใช้ให้ถูกต้อง

ภาษาเป็นส่วนหนึ่งของชาติ

การรักษาภาษาก็คือรักษาชาติ รักษาความเป็นไทย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่านอนใจว่าใช้ภาษาผิดก็ไม่เสียสิทธิ์ไปนิพพาน

: เพราะการใช้ภาษาไม่ถูก-เป็นการเหยียบจมูกยมบาล

22-3-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย