บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

งานบอกกล่าวชวนกันรักษาพระธรรมวินัย

งานบอกกล่าวชวนกันรักษาพระธรรมวินัย (๘)

งานบอกกล่าวชวนกันรักษาพระธรรมวินัย (๘)

————————————

เพื่อช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้นอีก ขอยกคำอธิบาย “อนัตตา” ในพจนานุกรม (พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์, พ.ศ. ๒๕๖๑) มาให้ดู ตอนหนึ่งว่า

อนัตตา ไม่ใช่อัตตา, ไม่ใช่ตัวใช่ตน, ไม่เป็น

ไม่มีตัวตน; สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่เป็นไม่มีอัตตา

แต่เป็นสภาวะ ซึ่งมีภาวะของมันเอง ที่เป็นอยู่

เป็นไปตามธรรมดาของมัน ไม่มีตัวตนอะไรที่จะ

เป็นเจ้าของ ครอบครอง หรือสั่งการบัญชา ให้

เป็นไปอย่างใดๆ ตามความปรารถนาของใครๆ…

ตัวอย่างในจำพวกสังขตธรรม เช่น คนพูดว่า แขนของตน หรือว่าแขนของตัวเขา ดังที่เขาสั่งบังคับแขนนั้นให้หยิบ ให้ยก ให้ทำอะไรๆ ได้ตามปรารถนา แต่แท้จริงนั้น แขนนั้นเคลื่อนไหวเป็นไปต่างๆ อย่างนั้นๆ ได้ ตามเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์กัน ถ้าเหตุปัจจัยขาดหายหรือเป็นไปอย่างอื่น เช่น เส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อเส้นเอ็นเสียหาย แม้เขาจะร่ำว่า “แขนของฉัน แขนของข้า” เขาก็สั่งบังคับแขนนั้นไม่ได้ มันเป็นของเขาตามที่ถือกันหรือยึดถือเท่านั้น ไม่เป็นของเขาจริง 

ใครๆ ก็ไม่ได้ตามใจปรารถนาต่อสิ่งทั้งหลายที่เขาคิดยึดถือว่าเป็นตัวเขาเป็นของตัวเขา ว่ามันจงเป็นอย่างนี้ มันจงอย่าเป็นอย่างนั้น เพราะมันเป็นตัวเขา เป็นของตัวเขา ตามที่ยึดถือหรือตกลงยอมรับกันเท่านั้น แต่เมื่อเขาต้องการให้อะไรเป็นอย่างไร เขาต้องเรียนรู้เข้าใจเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นอย่างนั้น แล้วปฏิบัติจัดทำที่เหตุปัจจัย 

เมื่อรู้ความจริงว่ามันเป็นอนัตตา ว่ามันมีภาวะของมันเองแล้ว ก็จะไม่ทุกข์เมื่อสิ่งนั้นๆ ไม่เป็นไปตามตัณหาที่อยากที่ปรารถนา แต่รู้ตรงไปที่เหตุปัจจัยว่าแก้ไขได้หรือไม่ได้ และแก้ไขจัดการที่เหตุปัจจัยนั้นๆ

————————————

ดู “ธรรมกาย” แท้ของพระพุทธเจ้า

เข้าใจ “อนัตตา” ให้ตรงตามจริง

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ภาคผนวก หน้า ๕๘-๕๙

……………………

ดาวน์โหลดหนังสือ:

http://www.watnyanaves.net/th/book_search

๓ มกราคม ๒๕๖๑

๑๒:๒๑

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *