คำสอนที่สวนทาง (๓)
เรื่องสร้างศาสนสถานใหญ่โต
———————
เรื่องสร้างศาสนสถานใหญ่โต
————-
หมายเหตุ
ผมเขียนเรื่อง “คำสอนที่สวนทาง” มาแล้ว ๒ ตอน
ตอนที่ ๑ เรื่องนิพพานเป็นอัตตา
ตอนที่ ๒ เรื่อง บริจาคมากได้บุญมาก
————-
(ต่อไปนี้เป็นตอนที่ ๓)
เรื่องนี้มีที่มาจากเพจที่ชื่อ พุทธสามัคคี ซึ่งเป็นเพจที่สนับสนุนวัดพระธรรมกาย โพสต์เมื่อ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๘ สรรเสริญการสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่ว่ามีประโยชน์มากมายหลายอย่าง
ข้อความตอนหนึ่งว่าดังนี้ –
………..
สถานศึกษาจะมีหลายขนาด เช่น สถานศึกษาในหมู่บ้าน ก็เป็นโรงเรียนประถม ในตำบล ในอำเภอ ในจังหวัด ก็เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ขึ้นจนถึงมัธยม บางจังหวัดก็มีสถาบันระดับอาชีวะและอุดมศึกษา ส่วนในระดับประเทศก็มีมหาวิทยาลัยใหญ่ บางแห่งใช้งบก่อสร้างหลายหมื่นล้านบาท ใช้งบดำเนินการปีละหลายพันล้าน
หากทั้งประเทศมีแต่โรงเรียนประชาบาล ไม่มีมหาวิทยาลัย ก็คงยากที่จะพัฒนาการศึกษาและคุณภาพประชากรได้ สถานศึกษาต้องมีหลายระดับ ต่างทำหน้าที่ตามบทบาทของตน
วัดก็เช่นเดียวกัน มีทั้งวัดในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เป็นเหมือนโรงเรียนสอนศีลธรรมในชุมชน และต้องมีวัดใหญ่ๆ เพื่อเป็นเหมือนมหาวิทยาลัยสอนศีลธรรม เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของวัดต่างๆ เพื่อนำไปขยายผลต่อไปยังประชาชนทั่วประเทศ เป็นแหล่งสร้างสรรค์กิจกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการปลูกฝังศีลธรรม เป็นเหมือนหัวรถจักรที่ฉุดขบวนรถไฟให้เคลื่อนตัวไป
……
เราจึงควรช่วยกันสร้างวัดใหญ่ๆเพิ่มขึ้น ชวนคนเข้าวัดปฏิบัติธรรมให้มากๆและชวนคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถมาบวชเป็นพระภิกษุให้มากขึ้นด้วย
………..
————–
ผมได้เขียนวิจารณ์ไปแล้วในบทความชื่อ “วิธีรักษาพระศาสนา” ญาติมิตรที่ประสงค์จะทราบรายละเอียด โปรดตามไปอ่านที่ลิงก์ข้างล่างนี้
————–
ที่ยกประเด็นการสร้างศาสนสถานที่ใหญ่โตมาไว้ในชุดคำสอนที่สวนทางก็เพราะว่าการสร้างวัดหรือศาสนสถานใหญ่ๆ นั้นเป็นเรื่องที่มีกล่าวไว้ในคัมภีร์
เพื่อเจริญปัญญาสัมมาทิฐิ ขอเชิญศึกษาจากข้อความในคัมภีร์ดังต่อไปนี้
————–
-๑-
ตถารูปายเอว ปริสาย ปณีตปิณฺฑปาตสฺส ปตฺเต ปูเรตฺวา ทินฺนทานโตปิ สปฺปิเตลาทีนํ ปตฺเต ปูเรตฺวา ทินฺนเภสชฺชทานโตปิ มหาวิหารสทิสานํ วิหารานํ โลหปาสาทสทิสานญฺจ ปาสาทานํ อเนกานิ สตสหสฺสานิ กาเรตฺวา ทินฺนเสนาสนทานโตปิ อนาถปิณฺฑิกาทีหิ วิหาเร อารพฺภ กตปริจฺจาคโตปิ อนฺตมโส จตุปฺปทิกาย คาถาย อนุโทนวเสนาปิ ปวตฺติตํ ธมฺมทานเมว เสฏฺฐํ. กึการณา? เอวรูปานิ หิ ปุญฺญานิ กโรนฺตา ธมฺมํ สุตฺวาว กโรนฺติ, โน อสฺสุตฺวา; สเจ หิ อิเม สตฺตา ธมฺมํ น สุเณยฺยุํ, อุฬุงฺกมตฺตํ ยาคุํปิ กฏจฺฉุมตฺตํ ภตฺตํปิ น ทเทยฺยุํ; อิมินา การเณน สพฺพทาเนหิ ธมฺมทานเมว เสฏฺฐํ.
ที่มา :
สกฺกเทวราชวตฺถุ (๒๔๙) ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๘
คำแปล :
ทานที่ทายกบรรจุบาตรให้เต็มด้วยบิณฑบาตอันประณีตแล้วถวายแก่บริษัท (คือพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวก) เห็นปานนั้นนั่นแหละก็ดี
เภสัชทานที่ทายกบรรจุบาตรให้เต็มด้วยเนยใสและน้ำมันเป็นต้นแล้วถวายก็ดี
เสนาสนทานที่ทายกให้สร้างวิหารเช่นกับมหาวิหารและปราสาทเช่นกับโลหปราสาทตั้งหลายแสนแล้วถวายก็ดี
การบริจาคที่บุคคลทั้งหลาย เช่นที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นต้นริเริ่มสร้างวัดทั้งหลายแล้วได้บริจาคออกไปก็ดี
ธรรมทาน (คือการประกาศธรรมเผยแพร่ธรรม) ที่ผู้รู้ทั้งหลายกระทำกัน แม้จนชั้นต่ำที่สุดการกล่าวคำอนุโมทนาด้วยพระคาถาเพียง ๔ บาท (ซึ่งเป็นเรื่องเล็กน้อยเหลือเกิน) ก็ยังประเสริฐกว่าทานและการบริจาคดังที่กล่าวมานั้น
เพราะเหตุไร ? เพราะว่าชนทั้งหลายเมื่อจะทำบุญเห็นปานนั้น ต่อฟังธรรมแล้วเท่านั้นจึงทำได้, ไม่ได้ฟังก็หาทำได้ไม่; ก็ถ้าว่าสัตว์เหล่านี้ไม่พึงฟังธรรมไซร้, เขาก็ไม่พึงถวายข้าวยาคูประมาณกระบวยหนึ่งบ้าง ภัตประมาณทัพพีหนึ่งบ้าง; เพราะเหตุนี้ ธรรมทานนั่นแหละจึงประเสริฐที่สุดกว่าทานทุกชนิด.
-๒-
อามิสปูชา จ นาเมสา สาสนํ เอกยาคุปานกาลมตฺตํปิ สนฺธาเรตุํ น สกฺโกติ มหาวิหารสทิสญฺหิ วิหารสหสฺสํปิ มหาเจติยสทิสํ เจติยสหสฺสํปิ สาสนํ สนฺธาเรตุํ น สกฺโกติ เยน กตํ ตสฺเสว โหติ สมฺมาปฏิปตฺติ ปน สตฺถุ อนุจฺฉวิกา ปูชา ฯ สา หิ เตน ปฏฺฐิตา เจว สกฺโกติ จ สาสนํ สนฺธาเรตุํ ฯ
ที่มา :
ปูชากถา มังคลัตถทีปนี ภาค ๑ ข้อ ๖๙ หน้า ๗๖
คำแปล :
ก็ชื่อว่าอามิสบูชานั่นไม่อาจดำรงพระศาสนาไว้ได้ชั่วกาลแม้เพียงดื่มยาคูอึกหนึ่ง, ความจริงวิหารนับพันเช่นมหาวิหารก็ดี เจดีย์นับพันเช่นมหาเจดีย์ก็ดี หาอาจดำรงพระศาสนาไว้ได้ไม่; ผู้ใดทำ, อานิสงส์ก็มีแก่ผู้นั้นเท่านั้น. ส่วนสัมมาปฏิบัติเป็นบูชาสมควรแก่พระศาสดา. เพราะสัมมาปฏิบัตินั้นพระองค์โปรดด้วย อาจดำรงพระศาสนาไว้ได้ด้วย.
————
ข้อพิจารณา
คัมภีร์อันเป็นที่มาของข้อความที่ยกมานี้เป็นคัมภีร์ที่ใช้ศึกษาในหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ ชั้น ป.ธ.๓ และ ป.ธ.๔
นั่นหมายถึงว่า พระมหาเปรียญทุกรูปจะต้องได้ศึกษาเรื่องนี้มาแล้ว และนั่นหมายถึงว่าวัดพระธรรมกายก็ย่อมจะได้ศึกษาเรื่องนี้มาแล้วด้วย
ประเด็นของผมอยู่ตรงนี้-ตรงที่ —
คัมภีร์บอกว่า วัดใหญ่โตมโหฬารก็รักษาพระศาสนาไว้ไม่ได้
ธรรมกายบอกว่า วัดใหญ่โตมโหฬารรักษาพระศาสนาไว้ได้
ประเด็นไม่ใช่อยู่ที่ว่า-สร้างวัดใหญ่โตดีหรือไม่ดี
ถ้าจะอภิปรายประเด็นนี้ก็ต้องไปพูดกันอีกวงหนึ่ง
แต่ประเด็นอยู่ที่-ธรรมกายคิดอย่างไรจึงสอนสวนทาง?
เพจที่สนับสนุนวัดพระธรรมกายสรุปว่า –
……..
เราจึงควรช่วยกันสร้างวัดใหญ่ๆเพิ่มขึ้น ชวนคนเข้าวัดปฏิบัติธรรมให้มากๆและชวนคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถมาบวชเป็นพระภิกษุให้มากขึ้นด้วย
……..
ข้อเสนอแนะนี้มีกิจที่ควรทำ ๓ อย่าง คือ –
๑ ช่วยกันสร้างวัดใหญ่ๆ เพิ่มขึ้น
๒ ชวนคนเข้าวัดปฏิบัติธรรมให้มากๆ
๓ ชวนคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถมาบวชเป็นพระภิกษุให้มากขึ้น
โปรดสังเกตว่า กิจทั้ง ๓ อย่างนี้ไม่จำเป็นต้องขึ้นแก่กันและกัน เช่นต้องสร้างวัดใหญ่ๆ ก่อนจึงจะชวนคนเข้าวัดปฏิบัติธรรมให้มากๆ ได้
แต่ผู้เขียนข้อความนี้ใช้วิธีเรียงลำดับความจูงความคิดว่า-ถ้าอยากให้มีคนเข้าวัดปฏิบัติธรรมมากๆ ก็ต้องสร้างวัดใหญ่ๆ เพิ่มขึ้นก่อน
————
ประเด็นนี้ต้องถอยไปตั้งหลักกันให้ถูกก่อนว่า-เข้าวัดปฏิบัติธรรมคืออย่างไร
เวลานี้เรามักเข้าใจว่า การปฏิบัติธรรม ก็คือ ต้องไปอยู่ ณ สถานที่ซึ่งจัดไว้ ต้องแต่งกายตามชุดที่กำหนด ต้องอยู่ ๓ วัน ๗ วัน ต้องยืนเดินนั่งนอนตามอิริยาบถที่กำหนด จนกระทั่งบางทีต้องหายใจตามวิธีการที่กำหนดด้วย ต้องทำดังว่ามานี้จึงจะเรียกว่า “ปฏิบัติธรรม”
เวลานี้คำว่า “เข้าวัดปฏิบัติธรรม” คนทั้งหลายพากันเข้าใจหมายความตามที่ว่านี้ไปทั่วกันหมดแล้ว ถ้าใครไม่ได้ทำตามนี้ ก็เข้าใจไปว่าไม่ได้ปฏิบัติธรรม หรือปฏิบัติธรรมไม่ได้
ปฏิบัติธรรมที่แท้จริงในพระพุทธศาสนาไม่ได้กำหนดว่าต้องทำอย่างที่ว่านี้เลย
ปฏิบัติธรรมตามที่เข้าใจกันนั้นควรจะเรียกว่า ภาคฝึกปฏิบัติธรรม หรือแบบฝึกหัดปฏิบัติธรรม
ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ควร-หรือต้อง-ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน สามารถปฏิบัติได้ทุกเวลาทุกสถานที่-พูดหยาบๆ อย่างที่ผู้รู้ท่านว่า-แม้แต่ขณะเข้าห้องน้ำก็ปฏิบัติธรรมได้ เมื่อได้ผ่านการฝึกปฏิบัติธรรมจนเข้าใจถูกต้องแล้วว่าปฏิบัติธรรมคืออะไร
แต่เพราะเราช่วยกันสร้างภาพตอกย้ำว่า ปฏิบัติธรรมต้องแต่งชุดขาว ต้องไปอยู่ที่สำนักนั่น ๓ วัน ๗ วัน ฯลฯ จึงทำให้เกิดความเข้าใจว่า จะปฏิบัติธรรมแต่ละทีต้องไปวัด ต้องแต่งชุดขาว ปฏิบัติธรรมเป็นคนละเรื่องกับชีวิตประจำวัน
ทั้งๆ ที่ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นเนื้อเป็นตัวของชีวิตประจำวันเลยทีเดียว ไม่ต้องแบ่งเวลาออกจากชีวิตประจำวันเลย
แทนที่เราจะแนะวิธีปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องว่า เจริญสติแบบนี้นะ กำหนดจิตแบบนี้นะ เมื่อเข้าใจดีแล้วโยมอยู่ที่ไหนก็ทำที่นั่นแหละ ทำได้ตลอดเวลา กำลังทำงานก็ทำได้ กำลังขับรถอยู่ก็ทำได้ กำลังทำกับข้าวอยู่ในครัวก็ทำได้ แม้กำลังพูดคุยกับใครอยู่ก็ทำได้
แต่เราพากันบอกย้ำว่า ปฏิบัติธรรมคือต้องไปวัด ต้องไปเข้าหลักสูตร ต้องไปชุมนุมกันที่วัดเท่านั้น และถ้าไปกันเป็นหมื่นเป็นแสนก็ยิ่งดี เป็นการปฏิบัติธรรมที่ยิ่งใหญ่
จากปฏิบัติธรรมที่ทำในชีวิตประจำวัน
กลายเป็นปฏิบัติธรรมต้องแยกตัวออกจากชีวิตประจำวัน
ก็เลยกลายเป็นว่าถ้าจะให้คนปฏิบัติธรรมมากๆ ก็ต้องสร้างวัดใหญ่ๆ ไว้รองรับ
ถ้าไม่สร้างวัดใหญ่ๆ ไว้รองรับ คนก็จะไม่มีสถานที่ปฏิบัติธรรม และจะไม่ได้ปฏิบัติธรรม
พูดอย่างนี้อย่าเข้าใจผิดไปอีกว่า การปฏิบัติธรรมไม่ต้องไปทำที่วัด ชาวพุทธไม่ต้องไปวัดก็ได้ หรือถ้าอย่างนี้ไม่ต้องมีวัดก็ได้
ประเดี๋ยวจะมีคนชวนให้ทะเลาะกับวัดที่มีกิจกรรมปฏิบัติธรรมเข้าอีก
ใครจะไปปฏิบัติธรรมที่วัดไหนหรือสำนักไหน ก็เชิญตามสะดวก เพียงแต่ขอได้โปรดเข้าใจให้ถูกต้องว่า เมื่อเรียนรู้วิธีปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องแล้วจะปฏิบัติที่ไหนก็ได้ ปฏิบัติแล้วสงสัยอะไร จะไปศึกษาสอบถามหรือลองปฏิบัติที่วัดอีกก็ได้
หลักสำคัญก็คือศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจถูกต้องว่าวิธีปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานั้นคือทำอย่างไร
หลักสำคัญของการปฏิบัติธรรมก็คือ อยู่กับชีวิตจริง ทำกับชีวิตจริง ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอนชีวิตจริงทำอะไร ก็ปฏิบัติธรรมควบคู่ไปกับชีวิตจริงๆ นั่นเลย
ถ้าการปฏิบัติธรรมจะต้องมีโลกส่วนตัวโดยเฉพาะที่แยกออกจากชีวิตประจำวัน ธรรมของพระพุทธเจ้าก็จะมีประโยชน์น้อยที่สุด เพราะจะมีคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะมีโอกาสสร้างโลกส่วนตัวไว้ปฏิบัติธรรมได้ตลอดเวลา
สรุปว่า การสร้างวัด การไปวัด การไปทำกิจต่างๆ ที่วัด เป็นวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ยังต้องมี ต้องทำ ยังต้องควรชักชวนกันทำ เลิกไม่ได้ วัดยังมีความจำเป็นสำหรับวิถีชีวิตของคนไทย
เรายังจำเป็นต้องมีวัดไว้รองรับวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต
แต่ไม่ใช่มีวัดไว้รองรับการปฏิบัติธรรมตามความหมายที่คลาดเคลื่อนที่คนส่วนมากพากันเข้าใจ
————
คำเสนอแนะที่ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งก็คือที่บอกว่าให้ชวนคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถมาบวชเป็นพระภิกษุให้มากขึ้น
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่ง ควรเป็นนโยบายของคณะสงฆ์ที่จะสร้างบุคลากรทางศาสนาขึ้นมาให้บริบูรณ์ ไม่ใช่รอเก็บตกเอาจากคนที่บวชเข้ามาตามโอกาส
ถ้าจะว่าไปแล้วเป็นสิ่งที่ต้องทำด้วย ไม่ใช่แค่ “ควรทำ”
ปัญหาที่กำลังเผชิญหน้าชาวพุทธในเมืองไทย-โดยเฉพาะเผชิญหน้าคณะสงฆ์-อยู่ในเวลานี้ก็คือ พระภิกษุสามเณรตามวัดต่างๆ มีจำนวนลดลงไปเรื่อยๆ อย่างน่าวิตก
การจัดกิจกรรมบวชพระหมื่นรูปแสนรูปที่ธรรมกายทำอยู่นั้น ก็ดีในบางแง่
แต่ถ้าจะให้ดีอย่างถาวร ยั่งยืน ธรรมกายควรใช้ศักยภาพที่มีอยู่ดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถอย่างที่ว่านั่นมาบวชถวายชีวิตไว้ในพระพุทธศาสนา โดยดำเนินการให้มีคนบวชเพิ่มขึ้นตามวัดต่างๆ หรือบริหารจัดการให้วัดต่างๆ ที่มีอยู่แล้วทั่วประเทศมีพระเพิ่มขึ้น
ให้เพิ่มขึ้นจนถึงกุฏิไม่พออยู่เหมือนในอดีตได้ยิ่งดี เพราะจะได้มีเหตุให้สร้างเสนาสนะจนถึงสร้างวัดเพิ่มขึ้นต่อไปอีก-ตรงตามแนวคิดที่เสนอไว้
รวมทั้งฟื้นฟูการศึกษาพระปริยัติธรรมในวัดต่างๆ ให้มีคุณภาพ พระจะได้สอนชาวบ้านและชักชวนชาวบ้านในกิจที่ถูกต้องตรงตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา
————-
ตามที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า ไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่จะต้องโหมกระหน่ำสร้างศาสนสถานที่ใหญ่โตมโหฬาร
โปรดสังเกตภาพประกอบของเพจที่อ้างถึง จะเห็นเจตนาว่ามุ่งแสดงให้เห็นความใหญ่โตมหึมาอลังการของสถานที่โดยเทียบกับศาสนาอื่น
เหมือนกับจะบอกว่า-ต้องขนาดนี้จึงจะเทียบกับเขาได้
และเราต้องสร้างวัดใหญ่ๆ ขนาดนี้ให้มากๆ ผู้คนจึงจะมีสถานที่ปฏิบัติธรรม และจึงจะรักษาพระศาสนาไว้ได้
……
————
ผมเขียนเรื่อง “คำสอนที่สวนทาง” มา ๓ ตอน
ตอนที่หนึ่ง
พระไตรปิฎกบอกว่านิพพานเป็นอนัตตา
ธรรมกายบอกว่า นิพพานเป็นอัตตา
ตอนที่สอง
พระไตรปิฎกบอกว่า บริจาคทรัพย์น้อยก็ได้บุญมากถ้าจิตผ่องใสและมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่สมบูรณ์
ธรรมกายบอกว่า บริจาคมากได้บุญมาก บริจาคน้อยได้บุญน้อย
ตอนที่สาม
คัมภีร์บอกว่า วัดใหญ่โตมโหฬารก็รักษาพระศาสนาไว้ไม่ได้
ธรรมกายบอกว่า วัดใหญ่โตมโหฬารรักษาพระศาสนาไว้ได้
ผู้ที่ไม่รู้ว่าเรื่องแบบนี้มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ ก็คงจะชื่นชมกับคำสอน ประกอบกับคุณภาพในการสร้างสรรค์องค์ประกอบทางกายภาพ เช่น อาคารสถานที่ กิจกรรมต่างๆ ที่ล้วนแต่อภิมหาอลังการ และระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ย่อมก่อให้เกิดศรัทธาได้อย่างท่วมท้น จนไม่มีใครนึกถึงหลักคำสอนที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา
ประเด็นของผมก็อยู่ตรงที่-ทำไมธรรมกายจึงสอนสวนทางกับคัมภีร์
————
คำตอบ
——–
ประเด็นเหล่านี้ถ้าวัดพระธรรมกายหรือชาวธรรมกายมีคำตอบให้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เป็นประโยชน์แก่สังคมที่จะได้ศึกษาหลักคำสอนที่ถูกต้อง และเป็นประโยชน์แก่ธรรมกายเองที่ย่อมต้องพึงประสงค์ให้สังคมเข้าใจธรรมกายให้ถูกต้องด้วย
ถ้าธรรมกายมีคำตอบอยู่แล้ว หรือเคยตอบเคยอธิบายมาแล้ว ก็ควรช่วยกันโหมกระหน่ำทำให้คำตอบนั้นให้ปรากฏชัดเจนแก่สายของสังคม โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้
จัดให้มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์เผยแพร่คำตอบคำอธิบายของธรรมกายอย่างยิ่งใหญ่อภิมหาอลังการเหมือนกับที่ใช้กับวิธีทำกิจกรรมให้ผู้คนตื่นตาตื่นใจนั่นเลย
เก่งในทางทำให้คนเลื่อมใสได้ขนาดไหน
ก็ใช้ความเก่งในทางทำให้คนเข้าใจคำสอนที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้าให้ได้ขนาดนั้น
อย่าให้คนทั้งหลายพากันมองธรรมกายแบบติดลบอยู่ในทุกวันนี้ (เว้นไว้แต่ธรรมกายจะคิดว่า ใครจะมองติดลบหรือใครจะไม่เลื่อมใสก็ไม่แคร์ เพราะคนเลื่อมใสธรรมกายมีอยู่มากมายทั่วโลก)
………..
ความจริง ปัญหาดังที่กล่าวมาชาวธรรมกายก็มีคำตอบ ไม่ใช่ไม่มี แต่เป็นคำตอบที่พอจะเรียกได้ว่า เฉไฉ
เช่นเรื่องนิพพานเป็นอัตตา ชาวธรรมกายบอกว่านี่เป็นผลจากการปฏิบัติ หลวงพ่อท่านปฏิบัติมานานเท่านี้ๆ ท่านจึงได้เห็นผล และผลจากการปฏิบัติย่อมสำคัญกว่าถูกต้องกว่าปริยัติ
เวลานี้นิยมอ้างผลจากการปฏิบัติมายืนยันความถูกต้องของตนกันมากขึ้น
การอ้างเช่นนี้มีผลเท่ากับบอกว่า (๑) พระไตรปิฎกผิด ข้าพเจ้าและอาจารย์ของข้าพเจ้าถูก (๒) ข้าพเจ้าไม่เชื่อและไม่นับถือพระไตรปิฎก อย่างน้อยก็พระไตรปิฎกตอนที่ว่าด้วยเรื่องนี้ (๓) ผู้ที่เรียนปริยัติเป็นพวกที่ปฏิบัติไม่เป็น หรือเป็นพวกที่ไม่เคยปฏิบัติ มีแต่พวกข้าพเจ้าเท่านั้นที่ปฏิบัติและเห็นผลจากการปฏิบัติได้
นอกจากอ้างผลจากการปฏิบัติแล้ว ก็เฉไฉต่อไปว่าเรื่องนิพพานเป็นเรื่องละเอียด ควรที่จะรับฟังความเห็นของนักปราชญ์ราชบัณฑิตให้ทั่วถึง ไม่ควรด่วนลงความเห็นกันง่ายๆ
………
เรื่องนี้ผู้รู้ท่านชี้หลักให้เห็นเพื่อจับประเด็นให้ถูกมานานแล้วว่า พระพุทธศาสนาเถรวาทมีพระไตรปิฎกบาลีเป็นมาตรฐาน ต้องยึดหลักไว้อย่างนี้
และพระไตรปิฎกเถรวาทระบุไว้ชัดว่า นิพพานเป็นอนัตตา ชัดเจนแน่นอนอยู่แล้ว ไม่ต้องตีความหรือต้องรอฟังความเห็นของใครก่อน
เมื่อจับหลักอย่างนี้แล้ว ต่อจากนี้ใครจะเป็นว่านิพพานเป็นอัตตาโดยอ้างผลจากการปฏิบัติของตนหรือของใคร หรือใครจะอ้างความเห็นของท่านโปรเฟรสเสอร์สำนักไหน หรือความเห็นของนักปราชญ์ราชบัณฑิตจากสถาบันไหน หรือแม้แต่จะอ้างคัมภีร์ของศาสนาไหนๆ อีกด้วย ก็อ้างไป ตลอดจนตัวเองจะเชื่อถือตามคำของใคร ก็เชื่อไป ทั้งนี้ย่อมเป็นสิทธิเสรีภาพโดยสมบูรณ์
แต่ความจริงที่ว่าพระไตรปิฎกเถรวาทบอกว่านิพพานเป็นอนัตตาก็ยังคงเป็นความจริงอยู่เช่นนั้น และเป็นมาตรฐานแห่งคำสอนของพระพุทธศาสนาเถรวาทอยู่เช่นนั้นเสมอไป เมื่อจะอ้างคำสอนเรื่องนิพพานเป็นอนัตตา ก็จึงต้องอ้างพระไตรปิฎก
ถ้าจะบอกว่าพระไตรปิฎกตรงนี้ผิด ก็ต้องแสดงเหตุผลว่าผิดเพราะอะไร แต่ไม่ใช่อ้างว่าผิดเพราะไม่ตรงกับการผลการปฏิบัติของตน หรือผิดเพราะไม่ตรงกับความเห็นของท่านผู้นั้นผู้โน้น
แม้แต่ท่านผู้ใดไม่พอใจคำสอนในพระไตรปิฎกตรงนั้นตรงโน้น หรือแม้กระทั่งไม่พอใจพระไตรปิฎกทั้งหมด ก็มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธพระไตรปิฎกได้ เพียงแต่ขอให้มีความซื่อตรง หรือตรงไปตรงมา
ตามปกติ เมื่อเราใช้สิทธิ์เข้าเป็นสมาชิกของสังคมใด นั่นก็คือเราพร้อมที่จะนับถือและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ของสังคมนั้น
ถ้าไม่เห็นด้วยกับกติกามารยาทของสังคมนั้น เราก็มีสิทธิ์ที่จะแสดงออกอย่างซื่อตรง คือไม่เข้าไปเป็นสมาชิก ไม่ไปเกี่ยวข้องด้วย
แต่เมื่อเข้าไปเป็นสมาชิกแล้ว กลับบอกว่า กฎข้อนั้นไม่ถูก ระเบียบข้อนี้ไม่เหมาะ เราไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้นเราจะขอไม่ปฏิบัติตาม แต่จะทำตามที่เราเห็นควร-อย่างนี้คือความไม่ซื่อตรง
เวลานี้ที่เกิดปัญหาก็เพราะไม่ซื่อตรงนี่แหละ คือพยายามจะบอกคนทั้งหลายว่า ที่ข้าพเจ้าเชื่อและปฏิบัติอยู่นี่แหละคือพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องแท้จริง
พระพุทธศาสนาที่ถูกต้องแท้จริงเป็นอย่างที่ข้าพเจ้าเชื่อและปฏิบัติอยู่นี่ ไม่ใช่อย่างที่บอกไว้ในพระไตรปิฎก
ถ้าสิบคนร้อยคนอ้างผลการปฏิบัติของตนสิบอย่างร้อยอย่างว่านี่แหละคือพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องแท้จริง
ถ้าอย่างนี้ก็คือทำให้เกิดความฟั่นเฟือน หรือที่ท่านเรียกว่าเป็นการประทุษร้ายทางปัญญาต่อสังคม ทำให้เกิดความสับสนอลหม่านว่าอันไหนกันแน่คือพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องแท้จริง
นี่คือเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องยึดพระไตรปิฎกไว้เป็นมาตรฐาน
การยึดถือพระไตรปิฎกด้วยเหตุผลดังว่านี้ไม่ใช่การยึดตำราหรือติดตำรา ประเดี๋ยวจะมีคนยกเอากาลามสูตรขึ้นมาแย้งอีก
เรื่องอ้างกาลามสูตรนี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ควรทำความเข้าใจให้ตรง
ถ้าไม่เอาพระไตรปิฎกเป็นมาตรฐาน ก็จะไม่รู้ว่าคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร ก็เท่ากับไม่มีพระพุทธศาสนานั่นเอง
———
เรื่องบอกว่าทำบุญบริจาคมากๆ ได้ผลมาก ก็มีคำตอบว่า วัดธรรมกายไม่ได้สอนอย่างนี้ หลวงพ่อท่านบอกว่ามีเงินบาทเดียวก็ทำบุญได้
ข้อเท็จจริงก็คือ คนศรัทธาวัดธรรมกายบริจาคจนหมดตัวก็มีให้เห็นกันมากมาย สามีภรรยาทะเลาะกันเรื่องเอาทรัพย์สินไปทำบุญกับธรรมกายก็มีให้เห็น ทำบุญด้วยวิธีผ่อนส่ง ใครไม่เคยเห็นก็มีให้เห็นที่วัดพระธรรมกาย ตั้งสหกรณ์ขึ้นมาในวัดเพื่อให้คนกู้เงินไปทำบุญ วัดพระธรรมกายก็ทำแล้ว
ถ้าบาทเดียวก็ทำบุญได้ แล้วทำไมจึงเป็นเช่นนี้
———
ผมบอกว่า …. เราไม่เคยได้ยินธรรมกายบอกว่า-ญาติโยมทั้งหลาย อยู่ใกล้วัดไหน สะดวกวัดไหน หรือศรัทธาวัดไหน ก็ขอให้ไปทำบุญกันที่วัดนั้นแหละ ไม่ต้องมาที่วัดธรรมกายหรอก ….
มีชาวธรรมกายท่านแย้งว่า คำแบบนั้นหลวงพ่อธัมมชโยท่านบอกเสมอ ไม่ใช่ไม่บอก ผมไปเอาอะไรมาพูด
……
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ทุกวันนี้สำนักธรรมกายก็ยังใช้วิธีไปเที่ยวดูดพระเณรตามวัดต่างๆ ให้ไปรวมกันในกิจกรรมของธรรมกายอยู่เหมือนเดิม ล่าสุดตักบาตรสามเณรที่ราชบุรีก็ไปดูดสามเณรมาจากที่อื่นเป็นคันรถๆ
อย่างนี้จะอธิบายว่ากระไรจึงจะสมเหตุสมผลกับคำที่ว่า หลวงพ่อท่านบอกเสมอว่า อยู่ใกล้วัดไหนก็ให้ไปทำบุญวัดนั้น
ในเมื่อ “วัดนั้น” ธรรมกายดูดเอาพระเณรไปหมดวัดอยู่เรื่อย?
———-
เรื่องชวนให้สร้างศาสนสถานใหญ่โต ยังไม่ทราบว่าธรรมกายจะตอบอย่างไร แต่คำยืนยันที่เป็นของจริงดูได้ที่วัดพระธรรมกายเอง อภิมโหฬารเหนือคำบรรยาย ธรรมกายที่ราชบุรีก็ไม่เบา กำลังไล่ที่ชาวบ้านเพื่อขยายอาณาจักรออกไปเรื่อยๆ
กรณีวัดอยู่ไกล กรณีโยมมาทำบุญที่ไม่พอนั่ง กรณีห้องน้ำไม่พอ กรณีห้องเรียนไม่พอกับจำนวนพระเณร เป็นต้น-กรณีเช่นว่านี้เป็นคนละประเด็นกับที่มีคนตั้งคำถามเชิงประชดว่า จะไปสวรรค์ไปนิพพานในศาสนาพุทธนี่ต้องดูดคนมารวมกันเป็นหมื่นเป็นแสนก่อนจึงจะไปได้กระนั้นหรือ
……..
ที่ว่ามาทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างที่ยืนยันว่า คำยืนยันกับข้อเท็จจริงบางทีก็ไม่ตรงกัน
————
ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ผมไม่มีความประสงค์จะรับโต้เถียงกับท่านผู้ใด เพียงแต่นำหลักต่างๆ ตามที่ผมรู้ผมเห็นมาแสดง เพื่อให้ช่วยกันพิจารณา เป็นการศึกษา
ประเด็นไหนส่วนไหนที่ท่านเห็นว่าผมเข้าใจผิด หรือพูดผิด ทุกท่านย่อมมีสิทธิ์อธิบายด้วยเหตุด้วยผลด้วยข้อเท็จจริง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นการช่วยกันบูรณาการองค์ความรู้ที่ถูกต้องให้แก่สังคม
………
การพูดถึงธรรมกายของผมจึงไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานแห่งอคติใดๆ ทั้งสิ้น
ผมเพียงแต่เห็นว่า ในท่ามกลางกระแสเช่นนี้ควรถือเป็นโอกาสที่จะกระตุ้นเตือนกันและกันให้ศึกษาทำความเข้าใจ
มีคำสอนบางเรื่องของสำนักธรรมกายที่ผมอยากให้สังคมทำความเข้าใจและรู้ทันข้อเท็จจริง
มิใช่เพื่อให้เลิกนับถือหรือยกขบวนไปต่อต้าน
ท่านผู้ใดจะยังคงนับถือ ก็นับถือไป เพราะศรัทธาบังคับกันไม่ได้
การต่อต้านใดๆ ในลักษณะที่ไม่สุภาพ เช่นใช้คำหยาบคายด่าว่า เป็นสิ่งไม่ควรทำ แต่ควรมองกันด้วยเมตตาไมตรี
เมื่อการนับถือศาสนาห้ามศรัทธากันไม่ได้ การทำความเข้าใจเพื่อรู้ทันน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด
ทำความเข้าใจ-คือศึกษาเรียนรู้ว่า คำสอนที่ธรรมกายยกขึ้นมาเชิดชูนั้น ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทท่านแสดงไว้อย่างไร
เมื่อศึกษาเข้าใจแล้ว มีพื้นฐานพอที่จะรู้ทัน คือรู้ว่าผิดหรือถูก รู้ว่าตนควรมีท่าทีอย่างไรต่อคำสอนนั้นแล้ว ต่อจากนั้นก็เป็นสิทธิเสรีภาพของแต่ละคนที่จะใช้วิจารณญาณได้เอง
เท่านี้ก็น่าจะพอ
………
นั่นเป็นคำที่ผมบอกไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มเรื่องของบทความชุด “คำสอนที่สวนทาง” นี้ ขออนุญาตนำมาเป็นคำปิดเรื่องในที่สุดนี้ด้วยครับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๓๐ เมษายน ๒๕๕๙
๑๘:๓๔
…………………………….