บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

กติกามารยาทในอริยวินัย

กติกามารยาทในอริยวินัย

————————–

มีญาติมิตรส่งเรื่องราวมาถามผมกรณีพระธัมมชโย ข้อความตอนหนึ่งมีว่า

…………

โฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่า จากการตรวจสอบมติ มส.เมื่อปี 2542 จาก พระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชฯ ทำให้ทราบว่าเมื่อ พระธัมมชโย ยอมคืนทรัพย์สินและที่ดินกว่า 900 ล้านบาทให้กับวัดพระธรรมกายแล้ว ไม่จำเป็นต้องปาราชิก และสามารถเป็นเจ้าอาวาสวัดได้ต่อไป แต่เนื่องจากมีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นอีกครั้ง จึงจะเสนอให้ที่ประชุมมหาเถรสมาคมพิจารณาในวันพรุ่งนี้ (20 ก.พ.)

…………

ผมขอเสนอแนะกรอบแห่งการศึกษาในประเด็นนี้ดังนี้ –

ข้อ ๑ พระ-เอาทรัพย์สินของวัดไปเป็นของส่วนตัว ผิดวินัยสงฆ์หรือเปล่า 

– ศึกษาบทบัญญัติข้อนี้ในพระธรรมวินัยให้ชัดเจน

ข้อ ๒ กรณีนี้พระ-เอาทรัพย์สินของวัดไปเป็นของส่วนตัว จริงหรือเปล่า 

– ตรวจสอบหลักฐานและพิสูจน์ข้อเท็จจริง

ข้อสรุป –

ก. ถ้าพระ-เอาทรัพย์สินของวัดไปเป็นของส่วนตัว ผิดวินัยสงฆ์ และกรณีนี้ข้อเท็จจริงคือพระ-เอาทรัพย์สินของวัดไปเป็นของส่วนตัว จริง ก็คือผิดวินัยสงฆ์จริง 

การผิดวินัยสงฆ์ดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดจากความเห็นหรือคำตัดสินของใคร เพราะหลักพระธรรมวินัยและข้อเท็จจริงเป็นคำตัดสินอยู่ในตัวเสร็จแล้ว ไม่ว่าใครจะมีความเห็นอย่างไรหรือตัดสินอย่างไร หลักพระธรรมวินัยและข้อเท็จจริงก็คงยืนอยู่เช่นนั้น

ข. ถ้าพระ-เอาทรัพย์สินของวัดไปเป็นของส่วนตัว ไม่ผิดวินัยสงฆ์ ก็ดี หรือผิดวินัยสงฆ์ก็จริง แต่กรณีนี้ข้อเท็จจริงคือพระ-ไม่ได้เอาทรัพย์สินของวัดไปเป็นของส่วนตัว ก็ดี อย่างนี้ก็คือไม่ผิดวินัยสงฆ์

การไม่ผิดวินัยสงฆ์ดังกล่าวนี้ก็ไม่ได้เกิดจากความเห็นหรือคำตัดสินของใคร เพราะหลักพระธรรมวินัยและข้อเท็จจริงเป็นคำตัดสินอยู่ในตัวเสร็จแล้วเช่นกัน ไม่ว่าใครจะมีความเห็นอย่างไรหรือตัดสินอย่างไร หลักพระธรรมวินัยและข้อเท็จจริงก็คงยืนอยู่เช่นนั้น

ข้อ ๓ ถ้าพระ-เอาทรัพย์สินของวัดไปเป็นของส่วนตัวจริง และถ้าผิดวินัยสงฆ์จริง แต่ภายหลังนำมาคืน ตามหลักพระธรรมวินัยถือว่าพ้นผิดหรือไม่ 

– ศึกษาบทบัญญัติข้อนี้ให้ชัดเจน

ถ้ามีบทบัญญัติกรณีเช่นว่านี้ และว่าไว้อย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามนั้น ไม่ขึ้นกับความเห็นของใคร 

ถ้าไม่มีบทบัญญัติกรณีเช่นว่านี้ว่าไว้ตรงๆ คราวนี้อาจเป็นเรื่องที่ต้องขึ้นอยู่กับความเห็น คือต้องช่วยกันแสดงความเห็นว่ามีหลักพระธรรมวินัยข้อไหนบ้างที่อาจนำมาบังคับใช้กับกรณีเช่นว่าได้ (ปกติกรณีที่เป็นแง่มุมต่างๆ เช่นนี้ ท่านจะมีคำอธิบายกำกับไว้ด้วยเสมอว่าอย่างไรแค่ไหนผิด อย่างไรแค่ไหนไม่ผิด)

———–

แหล่งที่จะศึกษาเรียนรู้หลักพระธรรมวินัยเกี่ยวกับกรณีนี้หรือกรณีอื่นใดอีกก็ตาม ในบัดนี้มีปรากฏอยู่โดยเปิดเผย สามารถเข้าถึงได้เป็นสาธารณะ ไม่ใช่ว่าเฉพาะพระสงฆ์เท่านั้นที่รู้ ชาวบ้านรู้ไม่ได้หรือห้ามรู้ 

อย่างกรณีปาราชิกฐานลักทรัพย์นี้ก็ศึกษาได้จากคัมภีร์มหาวิภังค์ พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๗๙ เป็นต้นไป

ถ้าจะศึกษาให้รู้เรื่องในพระไตรปิฎกและคำอธิบายของอรรถกถาด้วยก็ขอแนะนำพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด ๙๑ เล่ม เรื่องนี้อยู่ในเล่มที่ ๒ ของชุด ตั้งแต่หน้า ๑ ถึงหน้า ๒๕๓

ถ้าจะอ่านทางเว็บไซต์ ก็เปิดไปที่

(พระไตรปิฎกและอรรถกถา)

http://www.dhammahome.com/tipitaka/topic/2

หรือ

(พระไตรปิฎก)

http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=01&A=6087&Z=6234

(อรรถกถา)

http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=1&i=79&p=

เมื่อได้ศึกษาเรื่องเหล่านี้ แม้หากจะไม่พบเรื่องที่ตรงกับกรณีนี้ ก็ยังจะได้ความรู้อันเป็นพื้นฐาน ช่วยให้เข้าใจกฎระเบียบของสังฆมณฑลโดยรวม 

ขอเพียงอย่าเบื่อหน่ายที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจเท่านั้น

ผมเป็นคนสูงวัยและไม่เป็นประสากับโลกออนไลน์ไฮเทคยังพอคลำไปถึงแห่งข้อมูลความรู้ได้บ้าง ญาติมิตรที่เป็นคนสมัยใหม่จึงไม่ควรมีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งความรู้เหล่านี้ให้ได้ลึกกว่านี้และกว้างขวางกว่านี้อีกหลายๆ เท่า

เพราะฉะนั้น ไม่ควรใช้วิธีเพียงแค่ตั้งคำถามแล้วนั่งรอคำตอบจากคนอื่นท่าเดียว แต่ควรลงมือศึกษาสืบค้นด้วยตัวเองด้วย ต่อเมื่อไปพบเงื่อนแง่ที่ไม่สันทัดหรือไม่เข้าใจจึงค่อยปรึกษาสอบถามจากกันและกันหรือจากแหล่งความรู้อื่นๆ ต่อไป

โดยเฉพาะท่านทั้งปวงที่มีความรู้ทางภาษาบาลี คุ้นกับการศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์ โอกาสที่จะพิสูจน์ความรู้ความสามารถในการช่วยให้ผู้คนมีความรู้ทางพระศาสนา และพิสูจน์ความรับผิดชอบต่อการพระศาสนาของท่าน มาถึงแล้ว

———-

มีข้อสังเกตที่ใคร่ขอเสนอแนวทางที่เป็นหลักในการพิจารณาบางประเด็นดังนี้ –

(๑) ผิด หรือไม่มีความผิด-ตามแง่ไหน

หลักกฎหมายกับหลักพระธรรมวินัยบางแง่มีข้อแตกต่างที่ต้องระวัง มิเช่นนั้นอาจหลงทาง 

ตัวอย่างเช่น :

นาย เอ. ฆ่าคนตาย ฆ่าจริง ครบองค์ประกอบแห่งการฆ่าทุกอย่าง เมื่อคดีไปสู่ศาล ฝ่ายนาย เอ. นำพยานหลักฐานมาต่อสู้ว่า นาย เอ. ไม่ได้ทำผิดตามข้อกล่าวหา (เช่นอ้างสถานที่อยู่ อ้างวันเวลา และมีพยานยืนยัน) ในที่สุดศาลตัดสินว่า นาย เอ. ไม่มีความผิด

กรณีเช่นนี้ นาย เอ. ก็เป็นผู้บริสุทธิ์ มีศักดิ์และสิทธิ์เช่นเดียวกับคนบริสุทธิ์ทั้งหลาย แต่เป็นความบริสุทธิ์ตามหลักกฎหมาย

พระภิกษุ เอ. ฆ่าคนตาย ฆ่าจริง ครบองค์ประกอบแห่งการฆ่าทุกอย่าง เมื่อคดีไปสู่ศาล ฝ่ายพระภิกษุ เอ. นำพยานหลักฐานมาต่อสู้ว่า พระภิกษุ เอ. ไม่ได้ทำผิดตามข้อกล่าวหา (เช่นอ้างสถานที่อยู่ อ้างวันเวลา และมีพยานยืนยัน) ในที่สุดศาลตัดสินว่าพระภิกษุ เอ. ไม่มีความผิด

กรณีเช่นนี้ พระภิกษุ เอ. ก็เป็นผู้บริสุทธิ์ มีศักดิ์และสิทธิ์เช่นเดียวกับคนบริสุทธิ์ทั้งหลาย แต่เป็นความบริสุทธิ์ตามหลักกฎหมาย ไม่ใช่ความบริสุทฺธิ์ตามหลักพระธรรมวินัย

เพราะหลักพระธรรมวินัยมีอยู่ว่า ภิกษุฆ่ามนุษย์ ถ้าครบองค์ประกอบแห่งการฆ่า ก็ต้องอาบัติปาราชิกทันที ไม่ว่าจะมีใครรู้เห็นหรือไม่ ไม่ว่าจะมีการฟ้องคดีหรือไม่ และไม่ว่าศาลจะตัดสินว่าอย่างไร

กรณีเช่นนี้ แม้ฝ่ายพระภิกษุ เอ. จะนำเอาคำตัดสินของศาลมายืนยันว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็ไม่อาจทำให้พ้นจากการต้องอาบัติปาราชิกฐานฆ่ามนุษย์ไปได้เลยเป็นอันขาด

นี่คือข้อแตกต่างระหว่างหลักกฎหมายกับหลักพระธรรมวินัย

อาบัติปาราชิกในฐานความผิดข้ออื่นๆ รวมทั้งอาบัติอื่นๆ ก็พึงเทียบเคียงโดยนัยเดียวกัน

(๒) ตามเรื่องที่เป็นข่าว กล่าวว่า “พระธัมมชโย ยอมคืนทรัพย์สินและที่ดินกว่า 900 ล้านบาทให้กับวัดพระธรรมกายแล้ว” 

ควรอย่างยิ่งที่จะต้องหาความกระจ่างในประเด็นนี้ :

1 ถ้า “คืนให้แล้ว” ก็แปลว่าได้มีการ “เอาไป” มาก่อนแล้วใช่หรือไม่ เพราะถ้าไม่ได้เอาไป แล้วจะเอาอะไรมาคืน ?

2 การ “เอาไป” ดังกล่าวถือว่าได้กระทำความผิดสำเร็จไปแล้วหรือยัง 

ถ้ายัง เพราะเหตุไรจึงยัง 

และถ้าสำเร็จแล้ว เพราะเหตุไรจึงสำเร็จแล้ว

กรุณาอย่าลืมศึกษาหาความจริงตรงประเด็นนี้กันด้วยนะครับ

(๓) ปัญหาที่คนส่วนมากกังวลก็คือ ถ้าไปเจอพระภิกษุที่ท่านเรียกเป็นคำบาลีว่า “ทุมฺมงฺกุ” (ทุม-มัง-กุ) ซึ่งแปลกันว่า “ผู้เก้อยาก” (“staggering in a disagreeable manner” evil-minded) หรือที่บางท่านใช้คำว่า “คนหน้าด้าน” ซ้ำยังมีแรงมาก มีกำลังหนุนมาก 

หลักพระธรรมวินัยจะทำอะไรได้ ?

สิ่งที่สามารถจะทำได้ก็คือ ทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า พระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนานั้นเป็นหลักของมนุษย์ที่เจริญแล้ว 

บางแห่งท่านเรียกว่า “อริยวินัย” ซึ่งก็หมายถึงวินัยของผู้ที่เจริญแล้ว

ใครเป็นคนประเภท “ทุมมังกุ” ก็เท่ากับประกาศให้สังคมรู้ว่า ตนไม่เหมาะสมและไม่มีเกียรติพอที่จะอยู่ในอริยวินัยนั่นเอง

เมื่อเรารู้เท่าทันเช่นนี้ จะทำอะไรได้หรือจะทำอะไรไม่ได้ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรตระหนก เพราะการกระทำของเจ้าตัวเป็นคำตัดสินที่เด็ดขาดชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว

เพียงแต่ขอให้ช่วยกันรู้เท่าทัน และช่วยกันและกันให้มีความรู้ให้มากๆ เพราะเป็นที่เห็นประจักษ์แล้วว่า ความไม่รู้นั่นเองคือปุ๋ยที่ช่วยบำรุงให้เรื่องราวทำนองนี้เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และเจริญงอกงามขึ้นได้เรื่อยๆ

———-

แต่ถ้ารู้สึกว่า รู้เท่าทันก็ยังไม่พอ หลักที่ท่านปฏิบัติกันมาก็คือ การขออารักขา

คำว่า “ขออารักขา” หมายความว่าขอให้ทางบ้านเมืองเข้ามาช่วยดำเนินการ ดังตัวอย่างเช่นกรณีภิกษุที่เป็นพวกเดียรถีย์ปลอมบวชในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช กรณีนั้นทางฝ่ายบ้านเมืองเข้ามาจัดการเต็มที่ ปัญหาจึงสงบ 

แต่วิธีนี้ผู้ปกครองบ้านเมืองจะต้องเป็นสัมมาทิฐิด้วย

(๔) ถ้าปรากฏว่าผู้ปกครองบ้านเมืองไม่ได้เป็นสัมมาทิฐิ ก็ต้องทำใจว่าถึงคราววิบัติแล้ว 

หนทางที่จะทำได้ต่อไปนี้ก็คือพยายามรักษาตัวให้รอด โดยยึดหลักอย่างน้อย ๒ ข้อ คือ –

๑ ประคองตัวให้อยู่ในคลองแห่งสัมมาทิฐิให้มั่นคง อย่าพลอยตกไปในอิทธิพลชั่ว หรือเป็นกำลังให้ฝ่ายทุมมังกุไปด้วย

๒ พยายามศึกษาหลักพระธรรมวินัยตลอดจนหลักความรู้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้พอที่จะรักษาตัวและปฏิบัติตัวให้เป็นสุจริตได้มั่นคง

เมื่อตั้งอยู่ในหลักดังกล่าวนี้ได้แล้ว ต่อจากนี้จะคิดอ่านอย่างไรต่อไปก็พึงใช้สติปัญญาพิจารณาตามควรแก่กรณีเทอญ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *