บาลีวันละคำ

สากล (บาลีวันละคำ 326)

สากล

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า “สากล” คือ

ทั่วไป, ทั้งหมด, ทั้งสิ้น, เช่น สากลโลก สากลจักรวาล; เป็นที่นิยมทั่วไป เช่น เครื่องแต่งกายชุดสากล, สามัญหมายถึงแบบซึ่งเดิมเรียกว่า ฝรั่ง เช่น มวยฝรั่ง เรียก มวยสากล, ใช้แทนคํา ‘ระหว่างประเทศ’ ก็มี เช่น สภากาชาดสากล น่านน้ำสากล

พจน.42 ยังบอกด้วยว่า “สากล” มาจากบาลีสันสกฤตว่า “สกล

สกล” บาลีอ่านว่า สะ-กะ-ละ ไทยอ่านว่า สะ-กน

แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไปพร้อมกับส่วนย่อยทั้งหลาย

หมายความว่า ไม่ว่าจะมี “ส่วนย่อย” อยู่ที่ไหน “สิ่ง” ที่ว่านี้ก็จะรวมส่วนย่อยนั้นเข้ามาไว้ทั้งหมด

สกล” จึงหมายถึง ทั้งหมด, ทั้งปวง, ทั้งสิ้น, ทั่วไปหมด (all, whole, entire)

สกล” ผ่านกรรมวิธีทางไวยากรณ์เป็น “สากลฺย” อ่านว่า สา-กัน-ยะ (“กัน” เอาลิ้นดันเพดานปาก) แปลว่า “ความเป็นสกล” หรือจะว่า “ความเป็นสากล” ก็ได้ คือความเต็มที่หรือทั้งหมดสิ้น (totality)

สกล” = “สากลฺย” เขียนแบบไทยเป็น “สากลย์” แล้วลดรูปเหลือ “สากล” อ่านว่า สา-กน หมายถึง เป็นที่นิยมทั่วไป, ปฏิบัติกันทั่วไปในนานาประเทศ ด้วยประการฉะนี้

: อย่าหลงสากล จนลืม “ตัวตน” ของตัวเอง

บาลีวันละคำ (326)

3-4-56

สกล = สากล, ทั้งปวง, ทั้งสิ้น

สห กลาหิ อวยเวหิ วตฺตตีติ สกลํ สิ่งที่เป็นไปพร้อมกับส่วนย่อยทั้งหลาย

ส + กล + อ

สกล (บาลี-อังกฤษ)

ทั้งหมด, ทั้งปวง, ทั้งสิ้น all, whole, entire

สกล ค.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ทั่ว, ทั้งหมด, ทั้งสิ้น.

สกล, สกล-

 [สะกน, สะกนละ-] ว. สากล. (ป., ส.).

สกลมหาสังฆปริณายก

 [สะกนมะหาสังคะปะรินายก] (กฎ) น. ตําแหน่งของสมเด็จพระสังฆราชในฐานะที่ทรงเป็นประมุขแห่งคณะสงฆ์ทั้งปวง ทรงมีอํานาจบัญชาการคณะสงฆ์ ทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม.

สกลโลก

น. ทั้งโลก, โลกทั้งสิ้น, ทั่วโลก.

สกล ทั่ว, ทั้งหมด, ทั้งสิ้น หรือสิ้นเชิง

สากลฺย  สากัลยะ แผลงเป็น สากลย์, ปวง, ทั้งปวง, สิ้นเชิง (สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน)

สากลฺย (บาลี-อังกฤษ)

ความเต็มที่หรือทั้งหมดสิ้น totality

ตรงข้ามกับ เวกลฺย (= เวกลฺล จาก วิกล = บกพร่อง, ขาดแคลน, ถูกตัด, ปราศจาก) ความขาดหรือบกพร่อง deficiency

เวกลฺล นป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ความบกพร่อง, ความขาดทุน, ความวิบัติ.

สุเทสิตานีติ  สมาสพฺยาสสากลฺยเวกลฺยาทีหิ  เตหิ  เตหิ  นเยหิ  สุฏฺฐุ  เทสิตานิ ฯ บทว่า  สุเทสิตานิ  ความว่า อันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้วด้วยดี ด้วยนัยทั้งหลายเหล่านั้นๆ มีโดยย่อ โดยพิสดาร โดยสากล (ทั่วทั้งหมด) และโดยเวกล (ตัดมาเฉพาะเรื่อง) เป็นต้น

(คำอธิบายรตนสูตร ปรมตฺถโชติกา ขุทฺทกปาฐวณฺณนา  หน้า ๒๕๐, ปรมตฺถโชติกา ภาค ๒ สุตตนิปาตวณฺณนา หน้า ๔๑)

สากล

ว. ทั่วไป, ทั้งหมด, ทั้งสิ้น, เช่น สากลโลก สากลจักรวาล; เป็นที่นิยมทั่วไป เช่น เครื่องแต่งกายชุดสากล, สามัญหมายถึงแบบซึ่งเดิมเรียกว่า ฝรั่ง เช่น มวยฝรั่ง เรียก มวยสากล, ใช้แทนคํา “ระหว่างประเทศ” ก็มี เช่น สภากาชาดสากล น่านน้ำสากล. (ป., ส. สกล).

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย