บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

งานรักษาพระศาสนา น้ำหนักอยู่ที่ใคร

งานรักษาพระศาสนา น้ำหนักอยู่ที่ใคร

———————————-

ระหว่าง “พระ” กับ “ชาวบ้าน”

ในมหาปรินิพพานสูตร พระพุทธองค์ตรัสแก่มารที่มาอาราธนาให้เสด็จดับขันธปรินิพพานว่า บัดนี้ สาวกของพระองค์ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มีความรู้ความสามารถพอที่จะรักษาพระศาสนาต่อไปได้แล้ว เป็นเวลาสมควรที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพานได้

ผู้นับถือพระพุทธศาสนาซึ่งถือว่าเป็น “กำลังพล” ของพระพุทธศาสนาแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ บรรพชิต และคฤหัสถ์ ใช้คำแทนง่ายๆ ก็คือ “พระ” กับ “ชาวบ้าน” 

ทั้ง ๒ ส่วนล้วนมีหน้าที่รักษาพระศาสนา 

แต่ต้องแบ่งงานกันทำให้เหมาะ ให้ถูก 

๑ งานรักษา “ตัวพระศาสนา” 

“ตัวพระศาสนา” คือพระธรรมวินัย การประพฤติดีปฏิบัติชอบถูกต้องตามพระธรรมวินัย เป็นหน้าที่ของพระ 

ชาวบ้านก็ต้องประพฤติดีปฏิบัติชอบถูกต้องตามพระธรรมวินัยด้วย แต่น้ำหนักจะไปตกอยู่ที่พระ 

ชาวบ้านกินเหล้า (ผิดพระธรรมวินัย) ไม่มีใครตำหนิว่าทำให้ศาสนาเสื่อม 

แต่ถ้าพระกินเหล้า รุมด่ากันทั้งประเทศว่าทำให้ศาสนาเสื่อม 

นี่คือบทพิสูจน์ว่าน้ำหนักแห่งการรักษาพระธรรมวินัยอยู่ที่กลุ่มไหน 

๒ งานรักษา “ที่ปรากฏตัวของพระศาสนา” 

(๑) ในด้านทำให้ผู้ได้อำนาจรัฐศรัทธาเลื่อมใส: น้ำหนักก็ยังคงตกอยู่ที่พระ 

ชาวบ้านหย่อนยานทางศีลธรรม (ผิดพระธรรมวินัย) ผู้ได้อำนาจรัฐยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่สนับสนุนพระศาสนาได้ไม่ถนัด เพราะผู้ได้อำนาจรัฐเองก็มีส่วนบกพร่องด้วย ในฐานะที่ปล่อยให้พลเมืองของรัฐหย่อนยานทางศีลธรรม

แต่ถ้าพระหย่อนยานทางพระธรรมวินัยกันทั่วไป (ผิดพระธรรมวินัย) ผู้ได้อำนาจรัฐอ้างได้เต็มปาก 

“พระหย่อนยานกันอย่างนี้ ยังจะมีหน้ามาขอให้รัฐสนับสนุนอีกหรือ” 

เราจะเถียงไม่ขึ้น

(๒) ในด้านหลักนิติรัฐ (ออกกฎหมาย): น้ำหนักต้องอยู่ที่ชาวบ้าน ชาวบ้านต้องเป็นตัวหลักในการบริหารจัดการ (วิ่งเต้น ติดต่อ ผลักดัน เคลื่อนไหว ฯลฯ) 

แต่ฐานก็ยังคงอยู่ที่พระอยู่นั่นเอง 

ถ้าพระหย่อนยานทางพระธรรมวินัยกันทั่วไป (ผิดพระธรรมวินัย) เราจะเอาเหตุผลอะไรไปอ้างเพื่อออกกฎหมายสนับสนุนพระศาสนา? 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

๑๓:๐๒

……………………………………………….

พระวินัยไม่ใช่แค่เรื่องของพระ หากแต่คฤหัสถ์ก็ต้องรับผิดชอบด้วยเพราะคือเสาค้ำพระศาสนาให้อยู่ได้

– บ้านป่า อกาลิโก 

(ความคิดเห็นท้ายโพสต์ “พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว” – ๑๙ พ.ย.๖๒)

……………………………………………….

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *