บาลีวันละคำ

ปทัจเฉท – ตัดบท (บาลีวันละคำ 3,504)

ปทัจเฉท – ตัดบท

“ตัดบท” คำไทยอาจไม่ใช่ “ปทัจเฉท”

ปทัจเฉท” อ่านแบบไทยว่า ปะ-ทัด-เฉด

ปทัจเฉท” เขียนแบบบาลีเป็น “ปทจฺเฉท” อ่านว่า ปะ-ทัด-เฉ-ทะ ประกอบด้วยคำว่า ปท + เฉท 

(๑) “ปท” 

อ่านว่า ปะ-ทะ รากศัพท์มาจาก ปทฺ (ธาตุ = บรรลุ, ถึง) + (อะ) ปัจจัย

: ปทฺ + = ปท แปลตามศัพท์ว่า (1) “สภาวะอันพระอริยะบรรลุ” = นิพพาน (2) “สิ่งเป็นเหตุเป็นไปแห่งผล” = เหตุ, เค้ามูล, ปัจจัย (3) “อวัยวะเป็นเครื่องเดินไป” = เท้า

ปท” ในบาลีใช้ในความหมายอะไรบ้าง :

(1) เท้า (foot)

(2) การก้าว, รอยเท้า, ทาง (step, footstep, track)

(3) หนทาง, ช่องทาง (way, path)

(4) ตำแหน่ง, สถานที่ position, place 

(5) กรณี, โชคชะตา, หลักการ, ส่วน, องค์ประกอบ, ลักษณะ, ส่วนประกอบ, รายการ, สิ่งของ, มูลฐาน (case, lot, principle, part, constituent, characteristic, ingredient, item, thing, element)

(6) ในบทร้อยกรองหมายถึง คำ, ฉันท์ [หรือหนึ่งในสี่ของฉันท์], โศลก, บท, ประโยค (a word, verse [or a quarter of a verse], stanza, line, sentence)

ในที่นี้ “ปท” ใช้ในความหมายตามข้อ (6) 

ปท” ในภาษาไทยมักใช้ทับศัพท์ว่า “บท” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “บท” ในภาษาไทยไว้ดังนี้ –

(1) ข้อความเรื่องหนึ่ง ๆ หรือตอนหนึ่ง ๆ เช่น บทที่ ๑ บทที่ ๒.

(2) กําหนดคําประพันธ์ที่ลงความตอนหนึ่ง ๆ เช่น โคลง ๔ สุภาพ ๔ บาท เป็น ๑ บท

(3) คําที่ตัวละครพูด เช่น บอกบท.

(4) คําประพันธ์ที่เขียนขึ้นสําหรับเล่นละคร มีทั้งบทร้องและบทเจรจา เช่น บอกบท เขียนบท.

(5) คราว, ตอน, ในคําเช่น บทจะทําก็ทํากันใหญ่ บทจะไปก็ไปเฉย ๆ บทจะตายก็ตายง่ายเหลือเกิน.

(๒) “เฉท

บาลีอ่านว่า เฉ-ทะ รากศัพท์มาจาก ฉิทฺ (ธาตุ = ตัด, แบ่ง) + (อะ) ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ฉิ-(ทฺ) เป็น เอ ( ฉิทฺ > เฉท)

: ฉิทฺ + = ฉิท > เฉท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การตัด” หมายถึง การตัด, การทำลาย, การสูญเสีย (cutting, destruction, loss)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

เฉท : (คำแบบ) (คำนาม) การตัด, การฟัน, การฉีก, การเด็ด, การขาด, เช่น เฉทเฌอ. (ม. คําหลวง ทานกัณฑ์). (ป., ส.).”

ปท + เฉท ซ้อน จฺ ระหว่างศัพท์เพราะศัพท์หลังขึ้นต้นด้วย เป็นพยัญชนะวรรค และกำหนดให้ ซ้อนหน้า

: ปท + จฺ + เฉท = ปทจฺเฉท (ปะ-ทัด-เฉ-ทะ) แปลตามศัพท์ว่า “การตัดซึ่งบท” หมายถึง การตัดคำ (separation of words)

อภิปรายขยายความ :

ปทจฺเฉท” เขียนแบบไทยเป็น “ปทัจเฉท” อ่านว่า ปะ-ทัด-เฉด แปลตรงตัวว่า “ตัดบท

ในภาษาไทยมีคำว่า “ตัดบท” เช่น พูดตัดบท

คำว่า “ตัดบท” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

ตัดบท : (คำกริยา) พูดให้ยุติเรื่องกัน; แยกคําออก.”

ความหมายที่ว่า “แยกคําออก” นี่คือตรงกับความหมายของ “ปทัจเฉท” ในบาลี 

แต่ความหมายที่ว่า “พูดให้ยุติเรื่องกัน” อาจจะไม่ตรงกับ “ปทัจเฉท” ในบาลี

ผู้เขียนบาลีวันละคำมีความเห็นว่า “ตัดบท” ที่หมายถึง “พูดให้ยุติเรื่องกัน” น่าจะมาจากกระบวนการเล่นละครของไทยที่มีการ “บอกบท” ประกอบการแสดง

บท” ในที่นี้หมายถึง “คําประพันธ์ที่เขียนขึ้นสําหรับเล่นละคร มีทั้งบทร้องและบทเจรจา เช่น บอกบท เขียนบท” (ดูความหมายคำว่า “บท” ข้างต้น)

ความหมายของ “ตัดบท” ในภาษาไทยที่ว่า “พูดให้ยุติเรื่องกัน” สันนิษฐานว่า น่าจะมีต้นเหตุมาจากการแสดงละครที่มีบทร้องหรือบทเจรจา กำลังร้องบทหนึ่งอยู่ แล้วตัดบทนั้นออกเพื่อไปดำเนินเรื่องในบทใหม่ด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นเพื่อทำให้เรื่องราวกระชับเข้าหรือจบเร็วขึ้น ทำให้เรื่องตรงนั้นขาดไป 

เมื่อใครพูดให้เรื่องที่กำลังดำเนินอยู่หยุดลง จึงเอาวิธีในบทละครมาใช้เรียกการกระทำเช่นนั้นว่า “ตัดบท” 

ส่วน “ตัดบท” ที่มาจาก “ปทัจเฉท” ในบาลี พึงดูตัวอย่างในบทขัดรตนสูตรซึ่งมีความตอนหนึ่งเป็นคำบาลีว่าดังนี้ –

…………..

จณฺฑหตฺถิอสฺสมิคโคณกุกฺกุรอหิวิจฺฉิกมนิสปฺปทีปิอจฺฉตรจฺฉสุกรมหิสยกฺขรกฺขสาทีหิ …

…………..

เขียนเป็นคำอ่านดังนี้ –

…………..

จัณฑะหัตถิอัสสะมิคะโคณะกุกกุระอะหิวิจฉิกะมะนิสัปปะทีปิอัจฉะตะรัจฉะสุกะระมะหิสะยักขะรักขะสาทีหิ …

…………..

ขอเชิญนักเรียนบาลีทั้งหลายทดสอบความสามารถ “ตัดบท” ศัพท์บาลีในบทขัดนี้ดูเถิด แล้วจะรู้ว่า “ปทจฺเฉท” ในบาลีมีรสชาติโอชะนักแล

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าจะแยกคำบาลี ท่านให้ทำสิ่งที่เรียกว่า “ปทัจเฉท”

: แต่ถ้าจะระงับเหตุไม่ให้ขัดใจกัน ท่านให้ “ตัดบท”

#บาลีวันละคำ (3,504)

15-1-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *