บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เกร็ดประโยค ๙

เกร็ดประโยค ๙

—————-

เล่ากันว่า นานมาแล้ว ข้อสอบวิชาแต่งไทยเป็นมคธของชั้น ป.ธ.๙ ปีหนึ่งมีข้อความภาษาไทยตอนหนึ่งว่า –

………………………………..

“นกแร้งตัวหนึ่ง …” 

………………………………..

นักเรียนรูปหนึ่งนึกศัพท์ว่า “แร้ง” ในภาษาบาลีไม่ออก จึงแต่งเป็นบาลีว่า –

………………………………..

เอโก “แร้ง” อิติ ทยฺยภาสาย ลทฺธนาโม สกุโณ

………………………………..

แปลว่า-นกตัวหนึ่งที่ได้นามโดยภาษาไทยว่า “แร้ง”

นักเรียนอีกรูปหนึ่งนึกศัพท์ว่า “แร้ง” ไม่ออกเช่นกัน แต่งไปว่า –

……………

เอโก แรโง

……………

ก็ยังพอแปลได้ว่า-แร้งตัวหนึ่ง

ว่ากันว่าใบตอบของนักเรียนทั้ง ๒ รูปนี้ทำความครึกครื้นให้กรรมการผู้ตรวจข้อสอบเป็นอันมาก

แต่ที่สำคัญคือ กรรมการยอมให้ผ่านเป็นเอกฉันท์ 

กรรมการมีเหตุผลประกอบว่า คนเราบทจะนึกไม่ออกมันก็ไม่ออกจริงๆ 

แต่ที่สำคัญ สำนวนบาลีในส่วนอื่นๆ ในใบตอบของนักเรียนทั้ง ๒ รูปนี้แต่งถูกต้องดีมาก จึงควรแก่การเห็นใจและควรแก่การอนุโมทนา

…………………………………………

ข้อสอบนักเรียนบาลีชั้นเปรียญธรรม ๙ ประโยค มี ๓ วิชา คือ –

๑ วิชาแต่งไทยเป็นมคธ

ข้อสอบเป็นภาษาไทยสมัยใหม่ ไม่มีกำหนดว่านำมาจากไหน ให้นักเรียนแต่งเป็นภาษาบาลี (คล้ายวิชาเรียงความ)

๒ วิชาแปลไทยเป็นมคธ

ข้อสอบเป็นภาษาไทยที่แปลมาจากคัมภีร์บาลีที่เป็นแบบเรียน ให้นักเรียนแปลกลับเป็นภาษาบาลี (นิยมเรียกกันว่า “วิชากลับ”)

๓ วิชาแปลมคธเป็นไทย

ข้อสอบเป็นภาษาบาลีจากคัมภีร์บาลีที่เป็นแบบเรียน ให้นักเรียนแปลเป็นภาษาไทย

ต้องสอบผ่านทั้ง ๓ วิชาในการสอบคราวเดียว จึงจะนับว่าเป็นการสอบได้

…………………………………………

แร้ง (a vulture) ภาษาบาลีว่า คิชฺฌ (คิด-ชะ)

คิชฺโฌ = แร้งตัวเดียว

คิชฺฌา = แร้งหลายตัว

คิชฺฌกูฏ = ภูเขาที่มียอดคล้ายแร้ง, ภูเขาที่มีแร้งอาศัยอยู่บนยอด

…………………………………………

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๔ มกราคม ๒๕๖๕

๑๘:๐๕

…………………………………………

เกร็ดประโยค ๙

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *