บรรพกาล (บาลีวันละคำ 3,503)
บรรพกาล
ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
อ่านว่า บัน-พะ-กาน
ประกอบด้วยคำว่า บรรพ + กาล
(๑) “บรรพ” (บัน-พะ-)
บาลีเป็น “ปุพฺพ” อ่านว่า ปุบ-พะ รากศัพท์มาจาก ปุพฺพฺ (ธาตุ = เต็ม) + อ (อะ) ปัจจัย
: ปุพฺพฺ + อ = ปุพฺพฺ (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่เต็ม” หมายถึง อดีต, แต่ก่อน, ก่อน (previous, former, before)
“ปุพฺพ” สันสกฤตเป็น “ปูรฺว”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปูรฺวฺว, ปูรฺว : (คำวิเศษณ์) ประถม, แรก, ก่อน; ฝ่ายตวันออก; ทั้งสิ้น, สกล; first, former, prior, initial; eastern, entire; – (คำบุรพบท) ข้างน่า; before, in front of; – (คำนามพหูพจน์) บรรพบุรุษ; ทิศตวันออก; โบราณคดี; ancestors, fore-fathers; the east; an ancient tradition.”
ในภาษาไทย ใช้ตามบาลีเป็น “บุพ-” หรือ “บุพพ-” ก็มี ใช้อิงสันสกฤตเป็น “บุรพ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) ก็มี และแผลงเป็น “บรรพ” เขียนเป็น “บรรพ์” (การันต์ที่ พ) ก็มี
“บุพ-” และ “บุรพ-” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
(1) บุพ-, บุพพ– : (คำวิเศษณ์) ก่อน, ทีแรก; เบื้องต้น, เบื้องหน้า. (ป. ปุพฺพ; ส. ปูรฺว).
(2) บุรพ– : (คำวิเศษณ์) บุพ. (ส. ปูรฺว; ป. ปุพฺพ).
“บรรพ-” และ “บรรพ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“บรรพ– ๒, บรรพ์ : (คำวิเศษณ์) ก่อน, ทีแรก, เบื้องต้น; ตะวันออก. (ป. ปุพฺพ; ส. ปูรฺว).”
(๒) “กาล”
บาลีอ่านว่า กา-ละ รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ, สิ้นไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ก-(ลฺ) เป็น อา (กลฺ > กาล)
: กลฺ + ณ = กลณ > กล > กาล (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน
“กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ :
1 เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)
2 เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กาล ๑, กาล– : (คำนาม) เวลา, คราว, ครั้ง, หน. (ป., ส.).”
ปุพฺพ + กาล = ปุพฺพกาล (ปุบ-พะ-กา-ละ) แปลว่า “กาลในเบื้องต้น” หมายถึง สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น ทำขึ้น หรือมีขึ้น ตั้งแต่สมัยก่อน หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ทำเป็นครั้งแรกหรือทำขึ้นก่อน และต่อมามีการทำเช่นนั้นอีก
ถ้าจับคู่เข้ากับคำว่า “อปรกาล” (อะ-ปะ-ระ-กา-ละ) จะเข้าใจได้ชัดขึ้น
ในภาษาบาลี “ปุพฺพกาล” คู่กับ “อปรกาล”
“ปุพฺพกาล” = ครั้งก่อน
“อปรกาล” = ครั้งหลัง
“ปุพฺพกาล” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บรรพกาล” อ่านว่า บัน-พะ-กาน
คำว่า “บรรพกาล” ไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เพิ่งจะมีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“บรรพกาล : (คำนาม) ดั้งเดิม.”
ขยายความ :
เรามักใช้คำว่า “บรรพกาล” ในความหมายว่า ครั้งก่อนนานมาแล้ว เช่น เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่บรรพกาล เรื่องนี้มีมาตั้งแต่บรรพกาล
ความหมายอีกอย่างหนึ่งของคำว่า “บรรพกาล” คือ “ครั้งก่อน” ที่คู่กับ “ครั้งหลัง” เหตุการณ์หรือการกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นในครั้งหนึ่งแล้ว ต่อมาเกิดเหตุการณ์หรือการกระทำเช่นนั้นขึ้นอีก เหตุการณ์หรือการกระทำในครั้งแรก นั่นคือเหตุการณ์ใน “บรรพกาล” = ครั้งก่อน ส่วนเหตุการณ์หรือการกระทำในครั้งหลังหรือครั้งต่อมา นั่นคือเหตุการณ์ใน “อปรกาล” = ครั้งหลัง
ตามนัยนี้ “บรรพกาล” อาจไม่ใช่เวลาที่นานมาแล้วเสมอไป เหตุการณ์ครั้งหลังเกิดขึ้นเมื่อไร เหตุการณ์ครั้งก่อนก็เป็น “บรรพกาล” ทันที
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “อปรกาล” ไว้ แต่มีคำว่า “อปรภาค” (อะ-ปะ-ระ-พาก) บอกไว้ดังนี้ –
“อปรภาค : (คำนาม) ส่วนอื่นอีก, เวลาอื่นอีก, ภายหลัง.”
คำว่า “ปุพฺพกาล” ที่เป็นรูปคำบาลี นักเรียนบาลีจะรู้จักกันดี กล่าวคือ ในวิชาวากยสัมพันธ์ เมื่อกล่าวถึงคำกริยาที่ทำก่อนและยังไม่จบประโยค มีคำกริยาที่ทำต่อมาอีก คำกริยาที่ทำก่อนเช่นนี้เรียกชื่อสัมพันธ์ว่า “ปุพฺพกาลกิริยา” แปลตรงตัวว่า “กิริยาที่ทำก่อน” เป็นคำกริยาที่ประกอบด้วย ตฺวา ปัจจัยเป็นพื้น
ถ้าอยากได้ความรู้แบบนี้ ต้องลองเรียนบาลีดู ไม่ยากอย่างที่มักกลัวกัน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คิดให้ดีก่อนที่จะลงมือทำชั่ว
: เพราะท่านอาจไม่มีโอกาสทำดีแก้ตัวเป็นครั้งที่สอง
#บาลีวันละคำ (3,503)
14-1-65
…………………………….