บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ถวายสังฆทาน – หลุมพรางของภาษา

ถวายสังฆทาน – หลุมพรางของภาษา

————————————-

คำว่า “สังฆทาน” มาจาก สังฆ + ทาน = สังฆทาน แปลว่า “ให้แก่สงฆ์” หรือให้เพื่อส่วนรวม

เมื่อรวมกับคำว่า “ถวาย” เป็น “ถวายสังฆทาน” จึงมีความหมายว่า “ถวายให้แก่สงฆ์” คือถวายให้เป็นของส่วนรวม ไม่จำเพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง 

โปรดสังเกตให้ดีๆ ว่า ความหมายที่ถูกต้องของคำว่า “ถวายสังฆทาน” ก็คือ “ถวายให้แก่สงฆ์” 

ถวายสังฆทาน” ไม่ใช่ถ้อยคำที่ระบุว่า “ถวายอะไร

ถ้าจะให้รู้ว่าถวายอะไร ก็ต้องระบุสิ่งนั้นๆ ลงไป เช่น –

“ถวาย ภัตตาหาร ให้แก่สงฆ์”

“ถวาย ไตรจีวร ให้แก่สงฆ์”

“ถวาย ศาลา ให้แก่สงฆ์”

“ถวาย ยารักษาโรค ให้แก่สงฆ์”

แต่เวลานี้ เราถูกคำว่า “ถวายสังฆทาน” หลอกความรู้สึกให้เข้าใจผิดกันทั่วไปว่า “สังฆทาน” เป็น “สิ่งของชนิดหนึ่ง

ถวายสังฆทาน” ก็คือ “ถวายสิ่งของชนิดหนึ่ง”

มีผู้เอาสินค้าบางชนิด เช่นยาสีฟัน ผงซักฟอก กระดาษชำระ ฯลฯ รวมทั้งอาหารกระป๋องเป็นต้น บรรจุลงในถังสีเหลือง แล้วเรียกชื่อถังนั้นว่า “ถังสังฆทาน” ต่อมาได้ปรับปรุงภาชนะที่ใช้บรรจุเป็นรูปแบบอื่นๆ แล้วเปลี่ยนคำเรียกเป็น “ชุดสังฆทาน

เวลานี้คนทั้งโลกพากันเข้าใจว่า สิ่งของหรือสินค้าดังที่กล่าวนั้นคือ “สังฆทาน

เมื่อเอาสิ่งของหรือสินค้าชนิดนั้นไปถวายพระ ก็พากันเข้าใจไปว่านั่นคือ “ถวายสังฆทาน” 

ซึ่งเป็นคนละความหมายกับคำเดิมที่ว่า “ถวายสังฆทาน” คือ “ถวาย-(สิ่งใดสิ่งหนึ่ง)-ให้แก่สงฆ์” 

เวลานี้คนที่ “ถวายสังฆทาน” ไม่มีความรู้และไม่สนใจที่จะรู้แม้แต่น้อยว่าตนกำลังถวายสิ่งนั้นให้แก่ใคร ขอเพียงให้มี “ชุดสังฆทาน” เท่านั้น ก็เข้าใจว่าได้ “ถวายสังฆทาน” แล้ว

คนส่วนมากจึงพากันตกหลุมพรางของคำว่า “ถวายสังฆทาน” กันอยู่ทั่วไป 

และมีน้อยนักที่คิดจะตะเกียกตะกายขึ้นมาจากหลุมพรางแห่งความเข้าใจผิดๆ นี้ 

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๓ มกราคม ๒๕๖๕

๑๕:๔๘

…………………………………………..

ถวายสังฆทาน – หลุมพรางของภาษา

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *