บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

วันสำคัญในความฝัน

วันสำคัญในความฝัน

——————–

ปีนี้วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ที่นิยมเรียกกันว่าวันวาเลนไทน์ ไม่ตรงกับมาฆบูชา 

บางปี วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ตรงกับมาฆบูชาหรือใกล้เคียงกันมาก เราก็จะได้ยินนักธรรมะอธิบายให้เห็นว่าวันมาฆบูชาเป็นวันแห่งความรัก 

โอวาทปาติโมกข์อันเป็นหลักธรรมที่พระพุทธทรงแสดงในวันมาฆบูชา จะถูกอธิบายโน้มน้าวให้เป็นหลักธรรมแห่งความรักไปทั้งหมด

สำนวนที่นิยมอธิบายกันมากก็เป็นทำนองนี้ – 

ถ้ามนุษย์มีความรักต่อเพื่อนมนุษย์และรักตนเอง 

เขาก็จะไม่ทำชั่ว 

เขาจะทำแต่ความดี 

และเขาก็จะพยายามทำจิตของตนให้ขาวรอบ

และด้วยวิธีอธิบายแบบนี้ ดีไม่ดี พระธรรมแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ที่พระพุทธองค์ต้องใช้เวลาบำเพ็ญพระบารมีนานถึงสี่อสงไขยแสนมหากัปจึงได้ตรัสรู้ และทรงใช้เวลาหลังจากนั้นตลอดพระชนมชีพตรัสแสดงแก่ชาวโลก อาจถูกดึงให้ไปรวมลงในความรักได้ทั้งหมดด้วยซ้ำไป

เป็นอันว่าพระสัพพัญญุญาณก็ยังไม่ประเสริฐเลิศล้ำเท่าความรักของท่าน Saint อะไรท่านหนึ่งของฝรั่ง

พระพุทธองค์ตรัสว่า ธรรมทั้งหมดรวมลงในความไม่ประมาท (เย  เกจิ  กุสลา  ธมฺมา  สพฺเพ  เต  อปฺปมาทมูลกา  อปฺปมาทสโมสรณา-ดู อัปปมาทวรรค สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 19 ข้อ 245-263 หน้า 62-67)  

พวกเราบอกกันว่า ธรรมทั้งหมดรวมลงในความรัก

หลักมี แต่ไม่ยึดหลัก 

ก็เพี้ยนกันไปหมดแหละขอรับ

ปีนี้วันมาฆบูชาไม่ตรงกับวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ 

จะมีนักธรรมะอธิบายวันมาฆบูชาให้เป็นวันแห่งความรักอยู่อีกหรือเปล่า ต้องคอยฟังกัน 

——————

เราท่านคงจะสังเกตเห็นได้ว่า เรากำหนดให้มีวันนั่นวันนี่ เช่น วันพ่อ วันแม่ วันครู วันเด็ก วันภาษาไทย

เราก็จะให้ความสำคัญแก่เรื่องนั้นๆ กันเพียงวันเดียว

กำหนดให้มีวันพ่อ

เราก็พูดถึงพ่อกันวันเดียว 

กำหนดให้มีวันแม่

เราก็พูดถึงแม่กันวันเดียว 

กำหนดให้มีวันครู

เราก็พูดถึงครูกันวันเดียว 

กำหนดให้มีวันเด็ก

เราก็พูดถึงเด็กกันวันเดียว 

กำหนดให้มีวันภาษาไทย

เราก็พูดถึงภาษาไทย เห็นความสำคัญของภาษาไทยกันวันเดียว 

แม้แต่วันวาเลนไทน์ที่คนส่วนหนึ่งในโลกนี้-รวมทั้งคนไทย-กำหนดให้เป็นวันแห่งความรัก

เราก็พูดถึงความรักกันวันเดียว 

คอยดูก็ได้

พอเลยวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ไปแล้ว

ก็จะไม่มีใครพูดถึงความรักอีกเลย-จนกว่าจะถึงปีหน้า

อันที่จริง ใครที่คิดให้มีวันนั่นวันนี่นั้นก็คิดด้วยเจตนาดี หวังจะให้เกิดผลดี คือกระตุ้นเตือนให้เห็นความสำคัญของเรื่องนั้นๆ

แต่เราปฏิบัติพลาดกันไปเอง คือไม่ได้พร่ำสอนคนของเราให้เห็นความสำคัญของเรื่องนั้นๆ ในฐานะเป็นสิ่งสำคัญประจำชีวิตจิตใจ 

นั่นคือสอนให้เห็นความสำคัญและให้ปฏิบัติต่อเรื่องนั้นสิ่งนั้นในฐานะเป็นเรื่องสำคัญทุกวัน 

ไม่ใช่ให้ความสำคัญเฉพาะวันนั้นวันเดียว

เพราะฉะนั้น เห็นว่าอะไรเป็นเรื่องสำคัญ

อย่าไปกำหนดให้มีวันนั้นๆ ขึ้นมาเป็นอันขาด

เพราะคนจะเห็นความสำคัญของเรื่องนั้นเพียงแค่วันเดียวเท่านั้น

แต่จงกระตุ้นเตือนผู้คนในสังคมให้เห็นความสำคัญของเรื่องนั้นทุกวัน-ในฐานะเป็นสิ่งสำคัญประจำชีวิตจิตใจ

——————

อีกวิธีหนึ่งที่นิยมทำกันมาก แต่ทำแล้วกลายเป็นการทำลายความสำคัญของเรื่องนั้นๆ ก็คือทำในรูป “โครงการ” 

ขอให้ดู “โครงการหมู่บ้านรักษาศีลห้า” เป็นตัวอย่าง

เจตนาดีของโครงการนี้ก็คือกระตุ้นเตือนให้ผู้คนเห็นความสำคัญของศีลห้า 

ในระหว่างดำเนินโครงการ มีกิจกรรมต่างๆ อึกทึกครึกโครมไปทั่วประเทศ 

และใช้งบประมาณไปเป็นอันมาก

พอจบโครงการ ก็ไม่มีใครพูดถึง-และไม่มีใครสนใจหมู่บ้านรักษาศีลห้ากันอีกต่อไป

หมู่บ้านรักษาศีลห้าเวลานี้ก็มีแต่ป้าย 

บางหมู่บ้านป้ายก็หาไม่เจอแล้ว

อธิบายในแง่ดีก็บอกได้เพียงว่า-ก็ยังดีที่ทำให้คนพูดถึงศีลห้าอยู่ได้ตั้ง ๓ ปี และอาจมีคนรักษาศีลห้าต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้อีกจำนวนหนึ่ง (แต่ไม่มีสถิติ และที่ไม่มีสถิติก็เพราะไม่มีใครบอกให้ทำ) 

ในความเห็นของผม วิธีที่จะทำให้เรื่องนั้นสิ่งนั้นเกิดผลสำเร็จยั่งยืน ก็คือต้องทำให้เป็นกิจวัตร

อะไรก็ตาม ถ้าทำให้เป็นกิจวัตร ก็ไม่จำเป็นต้องจัดให้เป็นกิจกรรมหรือทำเป็นโครงการ หรือแม้แต่กำหนดให้มีวันนั่นนี่แต่ประการใด 

กระตุ้นเตือนให้รักพ่อ รักแม่ รักครู รักเด็ก รักภาษาไทยกันทุกวัน

กระตุ้นเตือนให้เห็นความสำคัญของพ่อ ของแม่ ของครู ของเด็ก ของภาษาไทยในชีวิตประจำวัน

ถ้าไม่ทำอย่างนี้ 

กำหนดให้มีวันอะไรสักกี่วันก็ไม่มีความหมาย

——————

อย่างเรื่องรักษาศีลห้า ผมขอเสนอวิธีที่คณะสงฆ์ควรทำอย่างยิ่ง นั่นคือกำหนดนโยบายให้ทุกวัดจัดทำบุญวันพระตลอดทั้งปี 

พอพูดอย่างนี้ หลายวัดจะตอบทันทีว่า ทำไม่ได้

ความคิดว่า “ทำไม่ได้” นั่นเอง คือสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้ทำไม่ได้

ญาติมิตรโปรดทราบว่า ประเพณีชาวพุทธในเมืองไทย ในระหว่างเข้าพรรษาจะมีการทำบุญที่วัดทุกวันพระ ตั้งแต่เข้าพรรษาไปจนถึงสิ้นฤดูกฐิน คือกลางเดือน ๑๒ เป็นวันพระสุดท้าย แล้วก็หยุด ไปเริ่มกันใหม่เมื่อเข้าพรรษาปีหน้า

วัดทั่วไปนิยมทำกันอย่างที่ว่านี้

แต่มีบางวัด-หลายวัด จัดให้มีทำบุญวันพระตลอดทั้งปี

อย่างเช่นวัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรีบ้านผม

เมื่อก่อนก็เหมือนวัดทั่วไป คือทำบุญทุกวันพระเฉพาะระหว่างเข้าพรรษา พอออกพรรษาก็เลิก 

ต่อมามีผู้เสนอแนะให้ทดลองเชิญชวนญาติโยมว่า ออกพรรษาแล้วก็ขอให้มาทำบุญกันต่อไป 

ท่านเจ้าอาวาสบอกว่า จะมีคนมารึ แต่ท่านก็เห็นด้วย

ปรากฏว่า ก็มีคนมาทำบุญวันพระต่อเนื่องกันทุกวันพระตลอดทั้งปีจนกระทั่งทุกวันนี้

เป็นที่รู้กันว่าวัดมหาธาตุราชบุรีทำบุญวันพระตลอดปี 

กลายเป็นประเพณีของชาวบ้าน 

เป็นเหมือนสมบัติของชุมชน

และที่แน่ๆ มีคนมาถือศีลเต็มศาลาทุกวันพระ

ไม่ต้องยกป้าย

ไม่ต้องทำโครงการ

ไม่ต้องใช้งบประมาณแม้แต่บาทเดียว

เป็นการถือศีลที่ยั่งยืน เพราะทำกันทั้งปี ทำกันตลอดไป

ใครมายกเลิกก็ไม่ได้ เพราะเป็นสมบัติของชุมชน

และที่ประเสริฐมากๆ ก็คือ มีโรงเรียนเทศบาลตั้งอยู่ภายในวัดมหาธาตุ หลวงพ่อท่านให้นโยบายแก่ผู้บริหารไปว่า วันพระที่ไม่ตรงกับวัดหยุด ขอให้โรงเรียนจัดเด็กหมุนเวียนกันมาร่วมพิธีทำบุญวันพระด้วย

ผู้บริหารชุดนี้ก็รับลูกดีจริงๆ จัดเด็กมาร่วมทำบุญตั้งแต่ชั้นเด็กเล็ก ชั้นอนุบาล ไปจนถึงมัธยม หมุนเวียนกันมาทุกวันพระ 

และไม่ใช่จัดมาเฉพาะเด็ก ครูก็มาด้วย

ตัว ผอ.เองนั้นมาร่วมทำบุญทุกวันพระ

หลวงพ่อท่านบอกว่า เด็กๆ อาจจะยังไม่รู้ไม่เข้าใจอะไรมาก สั่งให้มาก็มา และมาแล้วก็อาจจะเล่นกันบ้าง ไม่เรียบร้อยไปบ้าง ก็ขอให้ทนๆ เอาหน่อย พอเขาโตขึ้นเขาจะระลึกได้ เกิดความผูกพัน เขาจะรักวัด ห่วงวัด รักพระศาสนา และจะรักษาพระศาสนาสืบต่อไป

เป็นกิจวัตรที่ควรแก่การอนุโมทนาอย่างยิ่ง

ไม่ใช่มีคนถือศีลห้าแค่ ๓ ปี 

แต่เป็นการสร้างทายาทรักษาพระศาสนาให้ยั่งยืนตลอดกาลนานเทอญ

ผมจึงขอเสนอว่า ให้คณะสงฆ์กำหนดนโยบายให้ทุกวัดจัดทำบุญวันพระตลอดทั้งปี

จะทำได้หรือไม่ได้ ทำได้มากได้น้อย ไม่เป็นประมาณ

เพียงแต่ขอให้รับรู้กันว่า-เป็นนโยบาย 

และเป็นนโยบายยืนตลอดไป

ก็เหมือนสมัยหนึ่งที่รู้กันว่า พระสังฆาธิการรูปไหนสร้างโบสถ์ สร้างศาลา สร้างโรงเรียน คณะสงฆ์จะพิจารณาความดีความชอบเป็นพิเศษ เสนอให้ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครู เป็นเจ้าคุณ

พระสมัยหนึ่งนั้นก็ขยันสร้างกันจริงๆ

แล้วก็ได้รับสมณศักดิ์กันจริงๆ

เราก็ใช้นโยบายแบบเดียวกัน

วัดไหนมีการทำบุญวันพระทั้งปี ชักชวนญาติโยมให้มาทำบุญถือศีลที่วัดได้ทั้งปี คณะสงฆ์จะพิจารณาความดีความชอบเป็นพิเศษ 

แต่ผลต่างก็คือ สร้างโบสถ์ สร้างศาลา ก็เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำความดี สร้างแล้วไม่มีคนมาทำความดีให้คุ้มค่า จะมีประโยชน์อะไร (หลายๆ วัด ณ เวลานี้ โบสถ์ศาลากลายเป็นที่อยู่ของนกพิราบ หาพระเณรมาดูแลรักษาทำความสะอาดก็แทบจะไม่ได้)

แต่การชักชวนคนไปทำบุญวันพระเป็นตัวทำความดีตรงๆ เป็นการพิสูจน์ว่ามีคนไปทำความดีแน่ๆ 

ส่วนสมณศักดิ์ที่จะพึงได้ ก็เป็นเพียงสมบัติส่วนตัวของผู้สร้าง คนอื่นๆ ไม่พลอยได้ประโยชน์ไปด้วย 

แต่การชวนคนไปทำบุญทุกวันพระเป็นการทำให้ผู้คนได้สร้างประโยชน์ให้แก่ตัวเขาเอง คนเหล่านั้นได้ประโยชน์แน่ๆ-แม้ตัวผู้ชวนจะไม่ได้รับสมณศักดิ์อะไรเลย แต่ก็ได้บุญไปด้วย

ผลพลอยได้ที่อาจเกินคาดก็คือ วันพระจะกลับมาเป็นวันสำคัญของชาวพุทธ-เหมือนในอดีตกาล

——————

ผมรู้ดีว่าข้อเสนอนี้เป็นแค่ความฝัน

เพราะผู้บริหารการพระศาสนาทุกวันนี้ไม่รับฟังข้อเสนอใดๆ

แม้รับฟังก็ไม่เห็นด้วย

เห็นด้วยก็ไม่เอาไปทำ

เอาไปทำก็ทำเหยาะๆ แหยะๆ ไร้วิญญาณ

แต่ก็ขอเสนอไว้ เผื่อเทวดาที่รักษาพระศาสนาท่านอาจจะได้ยินบ้าง

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

๑๖:๔๑

————–

[๒๕๓]  สาวตฺถีนิทานํ  ฯ  เสยฺยถาปิ  ภิกฺขเว  ยานิ  กานิจิ  ชงฺคลานํ  ปาณานํ  ปทชาตานิ  สพฺพานิ  ตานิ  หตฺถิปเท  สโมธานํ  คจฺฉนฺติ  หตฺถิปทํ  เตสํ  อคฺคมกฺขายติ  ยทิทํ  มหนฺตตฺเตน  ฯ  เอวเมว  โข  ภิกฺขเว  เย  เกจิ  กุสลา  ธมฺมา  สพฺเพ  เต  อปฺปมาทมูลกา  อปฺปมาทสโมสรณา  อปฺปมาโท  เตสํ  ธมฺมานํ  อคฺคมกฺขายติ  ฯ  อปฺปมตฺตสฺเสตํ  ภิกฺขเว  ภิกฺขุโน  ปาฏิกงฺขํ  อริยํ  อฏฺฐงฺคิกํ  มคฺคํ  ภาเวสฺสติ  อริยํ  อฏฺฐงฺคิกํ  มคฺคํ  พหุลีกริสฺสตีติ  ฯ  

ปทสูตร 

กุศลธรรมทั้งปวงมีความไม่ประมาทเป็นมูล  

[๒๕๓] สาวัตถีนิทาน. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลาย ผู้สัญจรไปบนแผ่นดิน ชนิดใดชนิดหนึ่ง ทั้งหมดนั้นย่อมถึงความประชุมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้างบัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่ารอยเท้าเหล่านั้น เพราะเป็นรอยใหญ่ แม้ฉันใด กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งหมดนั้นมีความไม่ประมาทเป็นมูล รวมลงในความไม่ประมาท ความไม่ประมาท บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่ากุศลธรรมเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ไม่ประมาทพึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘. 

ปทสูตร สํ. มหาวารวคฺโค พระไตรปิฎกเล่ม 19 ข้อ 253 หน้า 65

พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล เล่ม 30 หน้า 132

อัปปมาทวรรค สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 19 ข้อ 245-263 หน้า 62-67

[๓๗๙]   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า    ดูก่อนมหาบพิตร  คือ  ความไม่ประมาท.

         ดูก่อนมหาบพิตร     รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายที่สัญจรไปบนแผ่นดิน

ชนิดใดชนิดหนึ่ง   รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมด   ย่อมรวมลงในรอยเท้าช้าง   รอย

เท้าช้าง    ย่อมกล่าวกันว่า    เป็นเลิศกว่ารอยเท้าเหล่านั้น   เพราะเป็นของใหญ่

ข้อนี้มีอุปนา   ฉันใด  ดูก่อนมหาบพิตร  ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์

ทั้ง ๒ คือ  ประโยชน์ปัจจุบัน   และประโยชน์ในภายหน้า  คือความไม่ประมาท

ก็มีอุปไมยฉันนั้น.

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ – หน้าที่ 479

๗.  ปฐมอัปปมาทสูตร

————–

วันวาเลนไทน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วันนักบุญวาเลนไทน์ (อังกฤษ: Saint Valentine’s Day) หรือที่มักเรียกว่า วันวาเลนไทน์ (อังกฤษ: Valentine’s Day) ตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี วันวาเลนไทน์มีการเฉลิมฉลองในหลายประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นประเทศทางตะวันตก แม้จะยังเป็นวันทำงานในทุกประเทศเหล่านั้นก็ตาม

“วันนักบุญวาเลนไทน์” แต่เดิมเป็นเพียงวันฉลองนักบุญในศาสนาคริสต์ยุคแรกที่ชื่อ วาเลนตินัส (แต่นักบุญชื่อนี้มีหลายองค์) ความหมายโรแมนติกโดยนัยสมัยใหม่นั้นกวีเพิ่มเติมในอีกหลายศตวรรษต่อมาทั้งสิ้น วันวาเลนไทน์ถูกำหนดขึ้นครั้งแรกโดยสมเด็จพระสันตะปาปาเกลาซิอุสที่ 1 ใน ค.ศ. 496 ก่อนจะถูกลบออกจากปฏิทินนักบุญทั่วไปของโรมัน (General Roman Calendar of saints) ในปี ค.ศ. 1969 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6

วันวาเลนไทน์มาข้องเกี่ยวกับรักแบบโรแมนติกเป็นครั้งแรกในแวดวงสังคมของเจฟฟรีย์ ชอเซอร์ ช่วงกลางสมัยกลาง (High Middle Ages) เมื่อประเพณีรักเทิดทูน (courtly love) เฟื่องฟู จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 วันวาเลนไทน์ได้วิวัฒนา มาเป็นโอกาสซึ่งคู่รักจะแสดงความรักของพวกเขาแก่กันโดยให้ดอกไม้ ขนมหรือลูกกวาด และส่งการ์ดอวยพรกัน[1][2]

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *