หิตาย สุขาย (บาลีวันละคำ 3,502)
หิตาย สุขาย
เขียนแบบบาลี อ่านแบบไทย
ก็สนุกไปอีกแบบ
อ่านว่า หิ-ตา-ยะ สุ-ขา-ยะ
ไม่ใช่ หิ-ตาย (ตาย-คู่กับเป็น)
ไม่ใช่ สุ-ขาย (ขาย-คู่กับซื้อ)
(๑) “หิตาย”
บาลีอ่านว่า หิ-ตา-ยะ รูปคำเดิมคือ “หิต” อ่านว่า หิ-ตะ รากศัพท์มาจาก ทหฺ (ธาตุ = ทรงไว้, ตั้งไว้) + ต ปัจจัย, ลบ ท– ต้นธาตุ (ทหฺ > ห), ลง อิ อาคมหน้าปัจจัย (ทหฺ + อิ + ต)
: ทหฺ + อิ + ต = ทหิต > หิต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาตั้งไว้”
“หิต” ในบาลี ถ้าเป็นคำนาม (ปุงลิงค์) หมายถึง เพื่อน, ผู้มีบุญคุณ (a friend, benefactor) และคำนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง คุณประโยชน์, พร, ความดี (benefit, blessing, good)
“หิต” ถ้าใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง มีประโยชน์, เหมาะสม, เป็นประโยชน์, เป็นมิตร (useful, suitable, beneficial, friendly)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“หิต, หิต– : (คำนาม) ความเกื้อกูล, ประโยชน์. (ป., ส.).”
(๒) “สุขาย”
บาลีอ่านว่า สุ-ขา-ยะ รูปคำเดิมคือ “สุข” อ่านว่า สุ-ขะ รากศัพท์มาจาก –
(1) สุ (ดี, งาม, สะดวก) + ขมฺ (ธาตุ = อดทน, อดกลั้น) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ ม ที่สุดธาตุ
: สุ + ขมฺ = สุขม + กฺวิ = สุขมกฺวิ > สุขม > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ทนได้ง่าย”
(2) สุ (ดี, งาม, สะดวก) + ขนฺ (ธาตุ = ขุด) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ น ที่สุดธาตุ
: สุ + ขนฺ = สุขน + กฺวิ = สุขนกฺวิ > สุขน > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ขุดความทุกข์ด้วยดี”
(3) สุ (ดี, งาม, สะดวก) + ขาทฺ (ธาตุ = เคี้ยวกิน) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ ท ที่สุดธาตุ, ลดเสียง อา ที่ ขา-(ทฺ) เป็น อะ
: สุ + ขาทฺ = สุขาท + กฺวิ = สุขาทกฺวิ > สุขาท > สุขา > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่เคี้ยวกินความทุกข์ด้วยดี”
(4) สุขฺ (ธาตุ = สุขสบาย) + อ (อะ) ปัจจัย
: สุขฺ + อ = สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ยังบุคคลให้สุขสบาย”
(5) สุ (ง่าย, สะดวก) + ข (โอกาส)
: สุ + ข = สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ให้โอกาสได้ง่าย”
“สุข” เราแปลทับศัพท์กันจนอาจจะไม่เคยคิดว่าหมายถึงอะไร
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สุข” ไว้ดังนี้ –
(1) agreeable, pleasant, blest (เป็นที่พอใจ, รื่นรมย์, ได้รับพร)
(2) wellbeing, happiness, ease (ความผาสุก, ความสุข, ความสบาย)
(3) ideal, success (อุดมคติ, ความสำเร็จ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุข, สุข– : (คำนาม) ความสบายกายสบายใจ เช่น ขอให้อยู่ดีมีสุข เกิดมาก็มีสุขบ้างทุกข์บ้าง, มักใช้เข้าคู่กับคำ เป็น เช่น ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข ขอให้เป็นสุข ๆ นะ. (คำวิเศษณ์) สบายกายสบายใจ เช่น เดี๋ยวนี้เขาอยู่สุขสบายดี. (ป., ส.).”
ขยายความ :
(๑) “หิต” ในที่นี้ใช้เป็นคำนาม แปลว่า “ประโยชน์” แจกด้วยวิภัตตินามที่สี่ (จตุตถึวิภัตติ) นปุงสกลิงค์ เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “หิตาย” อ่านว่า หิ-ตา-ยะ แปลว่า “เพื่อประโยชน์”
(๒) “สุข” ในที่นี้ใช้เป็นคำนาม แปลว่า “ความสุข” แจกด้วยวิภัตตินามที่สี่ (จตุตถึวิภัตติ) นปุงสกลิงค์ เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “สุขาย” อ่านว่า สุ-ขา-ยะ แปลว่า “เพื่อความสุข”
โปรดสังเกตคำแปล –
“หิต” แปลว่า “ประโยชน์”
“หิตาย” แปลว่า “เพื่อประโยชน์” ไม่ใช่ “ประโยชน์” เฉยๆ
“สุข” แปลว่า “ความสุข”
“สุขาย” แปลว่า “เพื่อความสุข” ไม่ใช่ “ความสุข” เฉยๆ
คำว่า “เพื่อ-” ที่เพิ่มเข้ามา นี่คือที่ภาษาบาลีไวยากรณ์เรียกว่า “อายตนิบาต” มีความหมายว่า “คำเชื่อม”
วิภัตตินามแต่ละตัวจะมี “อายตนิบาต” ประจำวิภัตติที่แตกต่างกันออกไปตามหน้าที่ของวิภัตตินั้นๆ
จตุตถึวิภัตติมีคำเชื่อมในภาษาไทยว่า “แก่, เพื่อ, ต่อ”
ในที่นี้เลือกใช้คำว่า “เพื่อ”
“หิตาย สุขาย” เขียนแบบคำอ่านเป็น “หิตายะ สุขายะ” ในที่นี้จงใจเขียนแบบบาลีเพื่อชี้ให้เห็นปัญหา
ปัญหาก็คือ ผู้ที่ไม่คุ้นกับวิธีอ่านคำบาลี มาเห็นคำที่เขียนเป็น “หิตาย สุขาย” ก็จะอ่านแบบคำไทย
“หิตาย” อ่านว่า หิ-ตาย เหมือนคำว่า “ตาย” ในภาษาไทย (เป็น-ตาย, ตาย-เกิด)
“สุขาย” อ่านว่า สุ-ขาย เหมือนคำว่า “ขาย” ในภาษาไทย (ซื้อ-ขาย, ขายของ)
ความจริง หลักการอ่านคำบาลีที่เขียนแบบบาลีอักษรไทยนั้นไม่ยากและไม่มากเลย กำหนดจดจำเพียงเล็กน้อยก็จะสามารถอ่านได้คล่อง
แต่เกิดปัญหาตรงที่เราขาดอุตสาหะในการที่จะกำหนดจดจำ
ภาษาอังกฤษ ทั้งตัวอักษร ทั้งการออกเสียง ไม่ใช่ของไทยเลย หลักการอ่านก็ซับซ้อนกว่าบาลี แต่เราสามารถกำหนดจดจำกันได้ ไม่มีใครบ่น ไม่มีใครย่อท้อ เป็นเรื่องที่ประหลาดอย่างยิ่ง
อีกเรื่องหนึ่งที่ขอให้ช่วยกันตั้งข้อสังเกต คือคำแปลคำว่า “หิตาย สุขาย” ในคำถวายทาน เช่นการถวายภัตตาหารให้เป็นของสงฆ์ (ที่เรียกกันเพลินไปว่า “ถวายสังฆทาน”) คำถวายที่เป็นสามัญมีคำว่า “หิตาย สุขาย” ปรากฏอยู่ด้วย ว่าดังนี้ –
(ในที่นี้ขอเขียนแบบคำอ่าน)
…………..
อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัญเจวะ มาตาปิตุอาทีนัญจะ ญาตะกานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ.
…………..
คำแปลที่เป็นสามัญว่าดังนี้ –
…………..
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งภัตตาหาร พร้อมทั้งของบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์ จงรับ ซึ่งภัตตาหาร พร้อมทั้งของบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย “เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข” แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย และแก่ญาติทั้งหลาย มีมารดาบิดาเป็นต้น ตลอดกาลนานเทอญ
…………..
เท่าที่ผู้เขียนบาลีวันละคำสังเกตมา พิธีกรแทบทุกคนจะแปล “หิตาย สุขาย” ว่า “เพื่อประโยชน์ และความสุข”
ถามว่า เอาคำว่า “และ” มาจากไหน?
คำว่า “และ” เป็นคำแปลคำบาลีว่า “จ” (จะ) ตรงกับคำอังกฤษว่า and
ในที่นี้คำบาลีว่า “หิตาย สุขาย” ไม่มีคำว่า “จ” ควบอยู่ด้วย
ถ้าสมมุติว่าคำบาลีเป็น “หิตาย จ สุขาย จ” หรือตามสูตรวิธีใช้ “จ” เป็น “หิตาย เจว สุขาย จ” แบบนี้ แปลว่า “เพื่อประโยชน์ และความสุข” ได้ตรงๆ เลย
จึงต้องถามคำเดิมว่า “หิตาย สุขาย” แปลว่า “เพื่อประโยชน์ และความสุข” เอาคำว่า “และ” มาจากไหน?
ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยได้รับคำตอบว่า แปลคุดเข้ามาเพื่อความสละสลวย
ถ้าถามต่อไปว่า “เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข” ยังไม่สละสลวยอีกหรือ? เรื่องก็จะยาว
ขอฝากเป็นข้อคิดข้อเพียงว่า ถ้าเราปล่อยให้งอกออกมาเพราะไม่รักษาต้นฉบับกันแบบนี้ สิ่งแปลกปลอมก็จะแทรกเข้ามาได้เรื่อยๆ จากตรงนี้เดี๋ยวก็ไปที่ตรงนั้น และต่อไปที่ตรงโน้น นานไปของเดิมก็กลายเป็นอื่นไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ปัญหาใหญ่ๆ
: มักเกิดจากการวางใจว่าเป็นเรื่องเล็กๆ
#บาลีวันละคำ (3,502)
13-1-65
…………………………….