บาลีวันละคำ

ฆนะ (บาลีวันละคำ 2,572)

ฆนะ

วิวัฒนาการขั้นที่ 4 ของทารกในครรภ์

อ่านว่า คะ-นะ

ในพระไตรปิฎกมีข้อความที่เป็นพระพุทธพจน์ ดังนี้ –

…………..

ปฐมํ กลลํ โหติ

กลลา โหติ อพฺพุทํ 

อพฺพุทา ชายเต เปสิ

เปสิ นิพฺพตฺตตี ฆโน 

ฆนา ปสาขา ชายนฺติ

เกสา โลมา นขาปิ จ.

(ปะฐะมัง กะละลัง โหติ

กะละลา โหติ อัพพุทัง

อัพพุทา ชายะเต เปสิ

เปสิ นิพพัตตะตี ฆะโน

ฆะนา ปะสาขา ชายันติ

เกสา โลมา นะขาปิ จะ.)

ร่างกายนี้เกิดเป็นกลละก่อน

จากกลละเป็นอัพพุทะ

จากอัพพุทะเกิดเป็นเปสิ

จากเปสิเกิดเป็นฆนะ

จากฆนะเกิดเป็นปสาขา

(ต่อจากนั้น) จึงมีผม ขน และเล็บ …

ที่มา: อินทกสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 803

…………..

ฆนะ” เขียนแบบบาลีเป็น “ฆน” อ่านว่า คะ-นะ รากศัพท์มาจาก หนฺ (ธาตุ = ติด, ผูกพัน) + ปัจจัย, แปลง เป็น (หนฺ > ฆน)

: หนฺ + = หน > ฆน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ติดเนื่องกัน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “ฆน” ไว้ดังนี้ –

(1) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง แข็ง, แน่น, เป็นก้อน; ทึบ, หนา (solid, compact, massive; dense, thick)

(2) เป็นคำนาม (ปุงลิงค์) หมายถึง ลูกอ่อนหรือลูกในท้องในระยะหนึ่ง [จัดเป็นขั้น คือระยะสุดท้ายก่อนเกิด และถือเป็นระยะที่ 4 ตามที่ระบุไว้ในขั้นต่อไปนี้: กลล, อพฺพุท, เปสี, ฆน] (the foetus at a certain stage [the last before birth & the 4th in the enum. of the foll. stages: kalala, abbuda, pesī, ghana])

ความหมายในข้อ (2) นั้น พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความต่อไปอีกว่า The latter meaning is semantically to be explained as “swelling” & to be compared with Gr. bru/w to swell and e(/mbruon=embryo [the gravid uterus]

(ความหมายต่อมาอธิบายเกี่ยวกับความหมายของคำ เป็น “บวม” และเทียบได้กับ Gr. bru/w พองขึ้น และ e(/mbruon = ลูกซึ่งอยู่ในท้อง [มดลูก]).

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ฆน” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ฆน : (คำนาม) เมฆ; คทาเหล็ก; ตัว, ร่าง, องค์; แฝกหอม; ปริมาณ, จำนวน; ความพิสดาร, ความไพบูล; ความแข็ง; พัสดุ; (คำใช้ในองกวิทยา) กำลังสามของเลขจำนวนหนึ่ง; (คำใช้ในชยามิติหรือเรขาคณิต) ‘ฆน, ฆนผล, ฆนทรัพย์, สังฆาต;’ เศฺลษม์, เสมหะ; ตุ๊กต่ำ; ฉาบ; ระฆัง, กระดิ่ง; ฆ้อง; เหล็ก; หนัง, ผิว, เปลือก; a cloud; an iron club; the body; a fragrant grass; a number or quantity; extension, diffusion; hardness, solidity; substance or matter; (in arithmetic) the cube or a number; (in geometry) a solid, a solid content; phlegm; tale; a cymbal; a bell; a gong; iron; skin, rind, bark; – (คำวิเศษณ์) ตัน, แข็ง; หยาบ; แน่น; มั่น; อ้วน; เต็ม; แทงไม่ตลอด; เหนียว; หนา; ทุ้ม (ว่าด้วยเสียง); มาก, ยิ่ง; มีลาภ; นิรันตร์; solid; coarse; compact; firm; plump, fat; full; impenetrable; viscid; thick; deep (as sound); very much; fortunate, eternal, permanent.

…………..

คัมภีร์สารัตถปกาสินี (อรรถกถาสังยุตตนิกาย) ภาค 1 หน้า 407 ซึ่งอธิบายอินทกสูตรที่อ้างไว้ข้างต้น ขยายความสิ่งที่เรียกว่า “ฆนะ” ไว้ว่า –

…………..

สตฺตาหํ เปสิ ภวติ

ปริปกฺกํ สมูหตํ

วิวฏฺฏมานํ ตํ ภาวํ

ฆโน จ นาม ชายติ.

เป็นเปสิอยู่ 7 วัน

ครั้นแก่ข้นขึ้น

เปลี่ยนภาวะนั้น

เกิดเป็นฆนะ

ยถา กุกฺกุฏิยา อณฺฑํ

สมนฺตา ปริมณฺทลํ

เอวํ ฆนสฺส สณฺฐานํ

นิพฺพตฺตํ กมฺมปจฺจยา.

สัณฐานแห่งฆนะ

เป็นก้อนกลมเกลี้ยง

เหมือนไข่ไก่

เพราะกรรมเป็นปัจจัยจึงเกิดขึ้น

…………..

สรุปว่า “ฆนะ” ในที่นี้ก็คือวิวัฒนาการขั้นที่ 4 ของทารกในครรภ์ที่แปรสภาพมาจาก “เปสิ

การแปรสภาพตั้งแต่ต้น อาจพูดสั้นๆ ว่า “จากต่อมเป็นน้ำ จากน้ำเป็นเนื้อ จากเนื้อเป็นก้อน

ท่านว่า “ฆนะ” นี้มีอายุ 7 วัน ก็จะพัฒนาขึ้นเป็น “ปสาขา” ต่อไป

…………..

แถม :

คำว่า “ฆน” ในบาลีที่น่าจะคุ้นกันดีในหมู่ผู้ศึกษาธรรม คือ “ฆนสัญญา” (คะ-นะ-สัน-ยา) แปลว่า “ความสำคัญว่าเป็นก้อน” (perception of compactness; the idea of massiveness) หมายถึง ความสำคัญเห็นเป็นชิ้นเป็นอัน ซึ่งบังปัญญาไม่ให้เห็นภาวะที่เป็นอนัตตา

สิ่งที่บังไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ท่านแสดงไว้ดังนี้ –

(1) สันตติ (ความสืบต่อกันไป) บังอนิจจัง เพราะมีการสืบต่อกันไปไม่ขาดสาย เช่นเซลล์ใหม่เกิดสืบต่อแทนเซลล์เก่า ทำให้เข้าใจผิดว่าร่างกายนี้เที่ยง (นิจจัง) ทั้งๆ ที่เป็นอนิจจังคือเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

(2) อิริยาบถ (ความเคลื่อนไหวร่างกาย) บังทุกขัง เมื่อร่างกายเหน็ดเหนื่อยเมื่อยขบ รู้สึกว่าไม่สบาย แต่พอเปลี่ยนอิริยาบถคือได้พัก ทำให้เข้าใจผิดว่าชีวิตนี้มีสุขจริง (สุขัง) มองไม่เห็นทุกข์ ทั้งๆ ที่เนื้อแท้แล้วเป็นเพียงทุกข์ลดลงไปชั่วคราวเท่านั้น

(3) ฆนสัญญา (ความสำคัญหมายว่าเป็นก้อน) บังอนัตตา เพราะเห็นเป็นก้อนเป็นกลุ่ม ทำให้เข้าใจผิดว่ามีตัวที่แท้จริง (อัตตา) ทั้งๆ ที่ทุกสิ่งล้วนเป็นสิ่งที่ประสมกันจึงเกิดมีขึ้น แยกส่วนประสมออกก็ไม่มีตัวจริง

ฆนสัญญา” นี้มีอิทธิพลรุนแรงและกว้างลึกมาก ทำให้ยึดติดในภพภูมิคือความมีความเป็น อยากมีอยากเป็น อยากไปอยู่ในภพในภูมิหรือในโลกที่เป็นอมตะ ไม่มีวันแยกสลายกลายเป็นอื่น หากแต่อยู่ยั้งยืนยงคงที่เป็นนิรันดรตลอดกาล-ซึ่งไม่อาจมีอาจเป็นได้ตามหลักสัจธรรม

ผู้ยังติดยึดภพภูมิด้วยอำนาจ “ฆนสัญญา” เมื่อมาเห็นพระนิพพานในพระพุทธศาสนาก็เข้าใจไปว่าพระนิพพานนี่เองเป็นภพเป็นภูมิที่เป็นอมตะ ไม่แยกสลายกลายเป็นอื่น ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบเมื่อละจากโลกนี้แล้วก็จะได้ไปสถิตอยู่ในพระนิพพานเสวยบรมสุขตลอดไป

ผู้มีความเห็นคลาดเคลื่อนดังกล่าวนี้ เมื่อมาเห็นพุทธภาษิต “นิพฺพานปรมํ สุขํ” (นิพพานะปะระมัง สุขัง) ซึ่งแปลความว่า “นิพพานเป็นบรมสุข” จึงพอใจที่จะแปลเสริมเข้าไปทุกครั้งว่า “นิพพานเป็นบรมสุขอันถาวร” คือเกณฑ์ให้พระนิพพานเป็นภพภูมิชนิดหนึ่งที่มีความมั่นคง ยั่งยืน ถาวร และตนจะได้ไปสถิตอยู่เป็นนิรันดรตลอดไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้ายังเห็นพระนิพพานเป็นภพ

: ก็คือยังไม่พบพระนิพพาน

#บาลีวันละคำ (2,572)

28-6-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *