บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ช่องโหว่ขนาดมหึมา

ช่องโหว่ขนาดมหึมา

———————

นักศึกษาธรรมยกธรรมะข้อนั้นข้อนี้ขึ้นมาสนทนากัน คุยไปคุยมาก็มักจะขัดแย้งกัน พูดแบบประนีประนอมว่า-คุยไปคุยมาก็มีมุมมองที่ต่างกัน

พระอรหันต์ท่านก็ยกธรรมะขึ้นมาสนทนากัน แต่ท่านไม่เคยขัดแย้งกันเรื่องธรรมะ

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะพระอรหันต์ท่านเข้าถึงธรรมะแล้ว รู้ความจริงแล้ว

ความจริงในธรรมะย่อมเป็นจริงหนึ่งเดียว ใครเข้าถึงความจริงของธรรมะก็จะรู้ตรงกันเป็นหนึ่งเดียว จึงไม่ต้องมีอะไรที่จะขัดแย้งกัน

จากข้อเท็จจริงนี้ทำให้เราได้หลัก

หลักนั้นก็คือ-ถ้าไม่ต้องการจะให้เกิดความขัดแย้งกันก็จงเข้าถึงความจริงของปัญหานั้นๆ ให้ได้ก่อน

ทุกวันนี้เรามักทำตรงกันข้าม คือแสดงความชอบความชัง-เห็นด้วยหรือคัดค้านนำหน้าออกมาก่อน ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ตรวจสอบให้เข้าใจความจริงในเรื่องนั้นๆ 

ต่อจากนั้นก็ทะเลาะกันเพราะมองเรื่องนั้นไม่ตรงกัน

ทั้งเรื่องราวต่างๆ ปัญหาต่างๆ ทั้งตัวบุคคลต่างๆ เราใช้วิธีเดียวกันหมด 

คือแสดงความเห็นนำหน้า ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง และส่วนมากก็ไม่คิดจะตรวจสอบข้อเท็จจริงจริงๆ ด้วยซ้ำ จับเอาสิ่งที่ปรากฏให้เห็นให้ได้ยินว่าเป็นเรื่องจริง

ทั้งๆ ที่มีคำกล่าวเตือนไว้ เป็นที่รู้กันทั่วไป –

…………………………

สิ่งที่ท่านเห็น

อาจไม่เป็นอย่างที่ท่านคิด

…………………………

จึงตกเป็นเหยื่ออันโอชะของนักตัดแต่งต่อเติม หรือเรียกให้เพราะๆ ว่า สร้างชุดข้อมูลขึ้นมา แล้วเอาไปใส่หูใส่ตาให้ผู้คนพากันรับเอาไปปรุงออกมาเป็นท่าทีตามที่ต้องการให้คิดให้เข้าใจ

ลองคิดดู ทุกวันนี้เราเป็นกันอย่างนี้ใช่หรือไม่

ถ้าเอาเรื่องราวในประวัติศาสตร์มาเป็นแนวเทียบจะยิ่งเห็นชัด

เราในปัจจุบันเกิดไม่ทันเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เรารู้เรื่องราวในประวัติศาสตร์จากบุคคลที่เรียกกันว่า “นักประวัติศาสตร์”

นักประวัติศาสตร์ศึกษาหลักฐานต่างๆ ที่บันทึกไว้ แล้วนำมาบอกเล่า เราส่วนมากไม่เคยได้อ่านเอกสารหลักฐานฉบับจริงด้วยตัวเอง ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ไม่เคยเห็นด้วยซ้ำ

เราอ่าน เราฟัง แล้วเราก็เชื่อตามที่นักประวัติศาสตร์บอกเรา —

………………………………….

เมื่อผมเรียนชั้นประถมศึกษา (พ.ศ.๒๔๙๖-๒๔๙๙) วิชาประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัยบอกชื่อบุคคลท่านหนึ่งว่า “ขุนบางกลางท่าว” (-ท่าว ท ทหาร) 

นักเรียนรุ่นนั้นจำชื่อท่านผู้นั้นว่า “ขุนบางกลางท่าว” กันทั้งนั้น เวลาเอาไปเล่าไปพูดกัน เรียก “ขุนบางกลางท่าว” ก็เป็นที่รู้ตรงกัน 

ต่อมา ซึ่งผมแน่ใจว่านานแค่ไหน ก็มีผู้แสดงข้อมูลใหม่ว่า ชื่อ “ขุนบางกลางท่าว” นั้น เป็นชื่อที่ผิด ชื่อที่ถูกต้องคือ “ขุนบางกลางหาว” (-หาว ห หีบ) คนอ่านจารึกหรืออ่านเอกสารประวัติศาสตร์สมัยโน้นอ่านผิด เห็น ห หีบ เป็น ท ทหาร ซึ่งอาจเป็นเพราะลักษณะตัวอักษรหรือวิธีเขียนชวนให้เข้าใจไปเช่นนั้น 

ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันว่า บุคคลในประวัติศาสตร์ท่านนั้นชื่อ “ขุนบางกลางหาว” (-หาว ห หีบ)

นักเรียนชั้นประถมรุ่นโน้นถ้าไม่ได้เรียนต่อ หรือถ้าไม่ได้หาความรู้ให้ทันสมัย ก็จะยังคงเข้าใจอยู่ว่า บุคคลในประวัติศาสตร์ท่านนั้นชื่อ “ขุนบางกลางท่าว” (-ท่าว ท ทหาร) ถ้าให้คนรุ่นโน้นที่ยังคงยึดถือความรู้เก่ากับคนรุ่นใหม่คุยกันถึงเรื่องนี้ก็จะต้องขัดแย้งกันแน่นอน

ถ้าคนรุ่นโน้นมีเหตุผล ยอมรับข้อมูลใหม่ เรื่องก็จบด้วยดี

แต่ถ้าคนรุ่นโน้นมีทิฐิมานะ – ข้าเรียนของข้ามาอย่างนี้ ครูข้าสอนมาอย่างนี้ ข้าเชื่อครูข้า ข้าไม่เชื่อเอ็ง ขุนบางกลางหาวกลางเหวที่ไหนมี มีแต่ขุนบางกลางท่าว … เรื่องก็ไม่จบ จบก็คงไม่สวย

………………………………….

นี่เป็นเพียงตัวอย่างแค่จุดเดียว ที่เตือนเราว่า อะไรในประวัติศาสตร์ที่เราเคยรู้กันมา อย่าคิดว่าจะต้องเป็นจริงอย่างที่เคยรู้มาเสมอไป

แง่คิดยังมีต่อไปอีก – เอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั่นเองก็มีขอบเขตจำกัดอย่างยิ่ง คือบันทึกเฉพาะเรื่องที่ประสงค์จะบอกเล่าเท่านั้น ข้อเท็จจริงอีกเป็นอเนกอนันต์ที่เอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึก เพราะอยู่นอกขอบเขต

ขุนบางกลางหาวสูงกี่เมตร ผิวขาวหรือผิวคล้ำ นิสัยสุขุมหรือโผงผาง เสียงห้าวหรือเสียงเล็ก ชอบกินอะไร มีเมียกี่คน นอนกรนหรือเปล่า ฯลฯ เราไม่มีทางรู้เลย

แต่เชื่อหรือไม่ว่า ด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงที่จำกัดอย่างยิ่งนี่แหละ เราก็ชอบบุคคลในประวัติศาสตร์คนนั้น ไม่ชอบคนโน้น ชื่นชมคนนี้ ตำหนิคนนั้น ฯลฯ ราวกับว่าเรารู้จักบุคคลนั้นเป็นอย่างดี เห็นนิสัยใจคอในชีวิตประจำวันของเขาหมดสิ้นแล้วทุกแง่ทุกมุม

และเชื่อหรือไม่ว่า ด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงที่จำกัดอย่างยิ่งแบบเดียวกันนี่แหละ และด้วยวิธีคิดวิธีมองแบบเดียวกันนี่แหละ เราก็เอามาใช้กับบุคคล กับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันของเราอยู่ในทุกวันนี้ด้วย

ข้อแตกต่างที่สำคัญก็คือ ถ้าเราสงสัยหรืออยากรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับขุนบางกลางหาว เช่นท่านทำเรื่องนั้นหรือเปล่า ท่านสร้างสิ่งนั้นไว้หรือเปล่าเป็นต้น เราไม่สามารถจะไปถามกับตัวท่านตรงๆ ได้ เพราะท่านล่วงลับไปแล้ว 

แต่บุคคลในชีวิตประจำวันของเราที่ยังมีชีวิตอยู่แท้ๆ ที่เราชอบบ้าง ชังบ้าง ด้วยเหตุผลนั่นนี่โน่นสารพัดนี่แหละ เราเคยเข้าไปถามเขาตรงๆ กันบ้างหรือเปล่าว่า ที่ได้ฟังมาว่าเขาเป็น-เขาทำอย่างนั้นๆน่ะ จริงหรือเปล่า 

กับเหตุการณ์หรือเรื่องราวต่างๆ ก็ทำนองเดียวกัน เหตุการณ์เรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไปอยู่แท้ๆ นี่แหละ เราเคยเข้าไปตรวจสอบศึกษาให้รู้เข้าใจแจ้งจริงก่อนที่จะเห็นด้วยหรือก่อนที่จะคัดค้านกันบ้างหรือเปล่า

ผมว่าตรงนี้แหละที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก

นั่นคือเราส่วนมาก-หรืออาจพูดได้ว่าเราทั้งหมด-ไม่เคยทำเช่นนั้น เราชอบหรือชัง เห็นด้วยหรือคัดค้านไปตามชุดข้อมูลที่เรารับรู้มา (โดยที่เราแทบไม่ได้เฉลียวใจว่าข้อมูลนั้นมาจากไหน มาอย่างไร) เสมือนว่านั่นเป็นเรื่องจริงทั้งหมดและเสมือนว่าเรารู้ข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว 

ทั้งๆ ที่เรารู้ในขอบเขตที่จำกัดอย่างยิ่ง

และทั้งๆ ที่ต้นเรื่องต้นตอต้นเหตุทั้งหลายก็ยังมีอยู่ให้เราเข้าไปตรวจสอบสืบหาข้อเท็จจริงที่ถูกต้องได้นี่แหละ

แต่เราก็ไม่ทำ 

จริงไม่จริงไม่รู้ ไม่สน แต่ฉันจะด่ามันอย่างนี้แหละ ฉันจะชมมันอย่างนี้แหละ ฉันจะเห็นด้วย ฉันจะคัดค้าน ตามที่ฉันอยากทำนี่แหละ ใครจะทำไม 

นี่แหละที่ผมว่าน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก

และนี่เองคือช่องโหว่ขนาดมหึมาที่ทำให้เกิดการขัดแย้งกันในสังคม

คือ-การไม่ตรวจสอบสืบหาความจริงให้แจ่มชัด-ก่อนที่จะตัดสินเรื่องอะไร หรือตัดสินใคร

หลักการไม่สร้างความขัดแย้งก็คือ

……………………………………

ยังชมไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งด่า

ยังยกย่องไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งเหยียบย่ำ

ยังรักไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งเกลียด

……………………………………

วางใจเป็นกลาง ว่างๆ ไปพลางก่อน

จนกว่าจะประจักษ์แก่ใจตนถึงความจริง-ไม่ใช่เชื่อตามที่มีคนบอก

แม้ประจักษ์แจ้งแล้วก็จงมองคนทั้งหลายในฐานะ-เพื่อนร่วมทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน-มองอย่างเป็นพื้นฐานของใจจริง ไม่ใช่ท่องจำ

ต่อจากนั้นก็จะเห็นช่องทางด้วยตัวเองว่า ควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไร

นี่คือวิธีอุดช่องโหว่ 

วิธีที่ไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งกันในสังคม

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๓ มกราคม ๒๕๖๕

๑๑:๑๘

………………………………………….

ช่องโหว่ขนาดมหึมา

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *