บาลีวันละคำ

วสวัดดี (บาลีวันละคำ 3,505)

วสวัดดี

ในสวรรค์ก็มีมารที่คอยขัดขวางคนทำดี

อ่านว่า วะ-สะ-วัด-ดี

วสวัดดี” บาลีเป็น “วสวตฺตี” อ่านว่า วะ-สะ-วัด-ตี (ไทย เด็ก, บาลี เต่า) แยกศัพท์เป็น วส + วตฺตี

(๑) “วส” 

อ่านว่า วะ-สะ รากศัพท์มาจาก วสฺ (ธาตุ = ติดใจ, ชอบใจ) + (อะ) ปัจจัย

: วสฺ + = วส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความติดใจ” หมายถึง กำลัง, อำนาจ, การควบคุม, อิทธิพล (power, authority, control, influence)

บาลี “วส” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วสะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วสะ : (คำนาม) อํานาจ, กําลัง; ความตั้งใจ, ความปรารถนา. (ป.; ส. วศ).”

(๒) “วตฺตี” (วัด-ตี) รากศัพท์มาจาก วตฺตฺ (ธาตุ = เป็นไป) + ณี ปัจจัย, ลบ (ณี > อี)

: วตฺตฺ + ณี > อี = วตฺตี (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นไป” “ผู้ยัง-ให้เป็นไป” หมายถึง มีธุรกิจ, มีอำนาจ, ทำ, กระทำ (engaged in, having power over, making, doing)

วส + วตฺตี = วสวตฺตี (วะ-สะ-วัด-ตี) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังสัตว์ให้เป็นไปในอำนาจเป็นปกติ

วสวตฺตี” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) กรณีที่เป็นผู้ทำ: มีความหมายว่า มีอำนาจสูงสุด, ใช้อำนาจเหนือ, ใช้อำนาจสิทธิ์ขาด, มีอำนาจเต็มที่ (having highest power, domineering, autocrat, all-mighty)

(2) กรณีที่เป็นผู้ถูกทำ: มีความหมายว่า อยู่ในอำนาจ, ต้องอาศัย, อยู่ในบังคับ (being in one’s power, dependent, subject)

บาลี “วสวตฺตี” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วสวัดดี” (-วัดดี  ด เด็ก) และ “วสวัตตี” (-วัตตี ต เต่า) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วสวัดดี, วสวัตตี : (คำนาม) ผู้ยังสัตว์ให้อยู่ในอํานาจ; ชื่อของเทวบุตรมาร. (ป.).”

อภิปรายขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต สะกดคำนี้เป็น “วสวัตดี” และ “วสวัดดี” อธิบายไว้ดังนี้ –

…………..

วสวัตดี, วสวัดดี : ชื่อพระยามาร เป็นเทพในสวรรค์ชั้นสูงสุดแห่งระดับกามาวจร เป็นผู้คอยขัดขวางเหนี่ยวรั้งบุคคลไม่ให้ล่วงพ้นจากแดนกาม ซึ่งอยู่ในอำนาจครอบงำของตน; ดู มาร 2, เทวปุตตมาร 

…………..

ตามไปดูที่คำว่า “มาร 2” และ “เทวปุตตมาร” พจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ อธิบายไว้ดังนี้ –

…………..

มาร 2 : พระยามารที่มีเรื่องราวปรากฏบ่อยๆ ในคัมภีร์ คอยมาแทรกแซงเหตุการณ์ต่างๆ ในพระพุทธประวัติ เช่น ยกพลเสนามาผจญพระมหาบุรุษในวันที่จะตรัสรู้ พระองค์ชนะพระยามารได้ด้วยทรงนึกถึงบารมี ๑๐ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิฏฐาน เมตตา อุเบกขา มารในกรณีเช่นนี้ บางทีท่านอธิบายออกชื่อว่าเป็นวสวัตดีมาร ซึ่งครองแดนหนึ่งในสวรรค์ชั้นสูงสุดแห่งระดับกามาวจร คือปรนิมมิตวสวัตดี เป็นผู้คอยขัดขวางเหนี่ยวรั้งบุคคลไว้ มิให้ล่วงพ้นจากแดนกามซึ่งอยู่ในอำนาจครอบงำของตน อย่างไรก็ดี ผู้ศึกษาพึงพิจารณาเทียบจากมาร ๕ ในความหมายที่ 1. ด้วย

…………..

เทวปุตตมาร  มารคือเทพบุตร, เทวบุตรเป็นมาร เพราะเทวบุตรบางตนที่มุ่งร้ายคอยขัดขวางเหนี่ยวรั้งบุคคลไว้ไม่ให้สละกามสุขออกไปบำเพ็ญคุณธรรมที่ยิ่งใหญ่ ทำให้บุคคลนั้นพินาศจากความดี, คัมภีร์สมัยหลังๆ ออกชื่อว่า พญาวสวัตดีมาร (ข้อ ๕ ในมาร ๕)

…………..

มาร ๕ ในความหมายที่ 1” ที่พจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ บอกไว้ ท่านแสดงไว้ดังนี้ –

…………..

มาร 1 : สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ, ตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี มี ๕ คือ ๑. กิเลสมาร มารคือกิเลส ๒. ขันธมาร มารคือเบญจขันธ์ ๓. อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขารที่ปรุงแต่งกรรม ๔. เทวปุตตมาร มารคือเทพบุตร ๕. มัจจุมาร มารคือความตาย

…………..

อีกคำหนึ่งที่เกี่ยวข้อง คือ “ปรนิมมิตวสวัตดี” พจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ บอกไว้ดังนี้ –

…………..

ปรนิมมิตวสวัตดี : สวรรค์ชั้นที่ ๖ มีท้าวปรนิมมิตวสวัตดีปกครอง เทวดาชั้นนี้ปรารถนาสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ต้องนิรมิตเอง มีเทวดาอื่นนิรมิตให้อีกต่อหนึ่ง; พระยามารวสวัตดี เป็นเทพแห่งสวรรค์ชั้นนี้

…………..

เป็นอันว่า “วสวัดดี” คำเดียวโยงไปถึงมารต่างๆ ที่ควรรู้จักครบถ้วน ท่านผู้ใดประสงค์จะรู้จักมารชนิดไหนให้ละเอียดขึ้น โปรดค้นคว้าศึกษาต่อไปเทอญ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทุกครั้งที่จะขัดคอใคร 

อย่าลืมถามหัวใจ 

ว่าทำไมจึงคอยแต่จะขัดคอเขา

: ถ้าเพียงเพราะเขาเห็นไม่ตรงกับเรา 

ก็แล้วเราเองเล่า

ทำไมจึงเห็นไม่ตรงกับใคร

#บาลีวันละคำ (3,505)

16-1-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *