ภินท์พัง (บาลีวันละคำ 1,843)
ภินท์พัง
ต่อให้ระวังก็ยังพังภินท์
อ่านว่า พิน-พัง
เป็นคำบาลีผสมไทย :
ภินท์ – บาลี
พัง – ไทย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำที่มาจากรากศัพท์เดียวกันไว้ดังนี้ –
(๑) ภิทะ, ภินท-, ภินท์ : (คำกริยา) แตก, ทําลาย. (ป., ส.).
(๒) ภินทน– : (คำนาม) การแตก, การทําลาย. (ป.).
(๓) ภินทนาการ : (คำนาม) อาการแตก. (ป.).
ในบาลี รากศัพท์ของ ภิทะ, ภินท-, ภินท์, ภินทน– มาจาก ภิทฺ ธาตุ = แตก, ตัด, ทำลาย
(๑) ภิทะ : เท่ากับตัวธาตุ คือ ภิทฺ > ภิทะ
(๒) ภินท-, ภินท์ : ลงนิคหิตที่ต้นธาตุ คือที่ ภิ- เป็น ภึท (พิง-ทะ) แล้วแปลงนิคหิตเป็น นฺ
: ภิทฺ > ภึท > ภินฺท (พิน-ทะ) เขียนแบบไทยเป็น ภินท-(พิน-ทะ-), ภินท์ (พิน)
(๓) ภินทน : ภิทฺ > ภึท > ภินฺท + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ภิทฺ > ภึท > ภินฺท + ยุ > อน = ภินฺทน (พิน-ทะ-นะ) เป็นภาวนามหรืออาการนาม แปลตามศัพท์ว่า “การแตก” “การพัง” “การทำลาย” หมายถึง แตกสลาย, เปราะ, พิบัติ (breaking up, brittle, falling into ruin)
(๔) ภินทนาการ : ภินฺทน + อาการ = ภินฺทนาการ มีความหมายเท่ากับ ภินทน
ภาษาไทยเอา “ภินท์” กับ “พัง” (พัง: ทลาย เช่น บ้านพัง ตึกพัง, ทำให้ทลาย เช่น พังบ้าน พังประตู) ประสมกันเป็น “ภินท์พัง” คงได้ความเท่ากับ “ภินท์” หรือ “พัง” นั่นเอง คือ พังทลาย ล่มสลาย ไม่สำเร็จสมปรารถนา ไม่เป็นไปอย่างที่ตั้งใจ ต้องยกเลิกหรือล้มเลิกไปในที่สุด
“ภินท์พัง” ไม่ใช่ภาษาพูด แต่เป็นภาษาเขียนในเชิงวรรณกรรม นิยมใช้ในบทกลอน หรือร้อยแก้วที่เป็นคำพรรณนาแบบรำพึงรำพันถึงความคาดหวังที่ลงท้ายก็ไม่เป็นจริง
“ภินท์พัง” เป็นคำที่ชวนหดหู่ สิ้นหวัง แต่ก็แสดงถึงสัจธรรมที่เรารู้จักกันดี คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป สอนให้รู้ว่าสรรพสิ่งมีเกิดมีดับ มีเจริญมีเสื่อม มีขึ้นมีลง คนเขลามักพลาด แต่คนฉลาดย่อมรู้ทัน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ขึ้นไปแล้วจึงหาทางลง ถือว่าประมาท
: คนฉลาด เตรียมตัวลงตั้งแต่ก่อนจะขึ้น
26-6-60