ความคิดของนกแก้วนกขุนทองตัวหนึ่ง
ความคิดของนกแก้วนกขุนทองตัวหนึ่ง
————————————-
นักเรียนไทยรุ่นอายุ ๖๐ ปีขึ้นไปต้องเคยทำสิ่งที่เรียกว่า “ท่องอาขยาน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า –
……………………………………….
อาขยาน : (คำนาม) บทท่องจํา; การเล่า, การบอก; การสวด; เรื่อง, นิทาน. (ส.; ป. อกฺขาน).
……………………………………….
ความหมายที่รู้กันดีของ “อาขยาน” ในภาษาไทยก็คือ บทท่องจํา เรียกกันว่า “ท่องอาขยาน”
ผมได้รับการศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลในสมัยที่นักเรียนต้องท่องอาขยานทุกวันในชั่วโมงสุดท้ายก่อนเลิกเรียน
น่าประหลาดที่แม้เวลาจะล่วงเลยมาถึง ๖๐ ปี ก็ยังจำบทอาขยานต่างๆ ได้ทั้งๆ ที่ตลอดเวลาเหล่านั้นก็ไม่ได้ทบทวนเพื่อไม่ให้ลืมแต่ประการใดเลย
การให้นักเรียนท่องอาขยานเป็นตัวอย่างสำคัญที่นักการศึกษาสมัยใหม่ยกขึ้นตำหนิติเตียนวิธีศึกษาแบบเก่า คำตำหนิที่นิยมยกไปอ้างกันมากก็คือ “เป็นการให้นักเรียนท่องจำเหมือนนกแก้วนกขุนทอง”
นักการศึกษาสมัยใหม่อ้างว่า การศึกษาที่ถูกต้องต้องสอนให้นักเรียนเข้าใจและรู้จักคิดได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่สอนให้จำหรือให้ท่องจำ
ผมมีความเห็นว่า ในการศึกษาเล่าเรียนอะไรก็ตาม นักเรียนต้องจำสิ่งที่ตนเรียนได้ จะไม่จำอะไรเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ นักเรียนยังไม่มีข้อมูลอะไรอยู่ในสมองมาก่อนเลย การจำคือการรับและเก็บข้อมูล นี่คือ “กฎ”
แต่ทำอย่างไรจึงจะจำได้ จะใช้วิธีการ ใช้เทคนิค หรือใช้ศิลปะอย่างไร จึงจะช่วยให้จำได้ นี่คือ “กรอบ” ที่อาจพลิกแพลงหรือเปลี่ยนแปลงได้
คนเก่าใช้วิธีท่องจำ ถ้าคนใหม่มีวิธีที่ฉลาดกว่า ช่วยให้จำได้ดีกว่า ก็สามารถปรับแก้ ที่เรียกกันว่า “คิดนอกกรอบ” ได้
การที่จะจำได้ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีท่องเสมอไป นี่คือ “คิดนอกกรอบ”
แต่-การศึกษาเล่าเรียนไม่จำเป็นต้องจำอะไร นี่คือ “คิดนอกกฎ”
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทราบ เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักท่องอาขยานกันแล้ว
และเป็นที่น่าสังเกตว่า ในหมู่เด็กรุ่นใหม่ ฉันทะอุตสาหะที่จะจดจำอะไรไว้ในสมอง-เหมือนคนรุ่นก่อน-ก็ลดน้อยลงไปทุกที
………………………………………
ที่เห็นได้ชัดมากๆ ก็คือ ชาวพุทธในไทยสมัยนี้สวดมนต์ด้วยวิธีกางหนังสืออ่าน ไม่มีใครเห็นความจำเป็นที่จะต้องท่องบทสวดมนต์
………………………………………
มนุษย์คิดค้นอุปกรณ์เครื่องช่วยจำที่ทันสมัยขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วมนุษย์ก็ฝากความจำไว้กับ “เครื่อง” ไม่ได้เก็บไว้ในสมองตัวเอง
อีกไม่เกิน ๓๐๐ ปี สมองคนจะหมดศักยภาพในการจำ
แต่ละคนจะพกเครื่องช่วยจำติดตัว และเครื่องช่วยจำจะถูกประดิษฐ์ให้มีรูปแบบแนบเนียนชนิดที่ไม่รู้สึกเลยว่าเป็นภาระในการพกพาและยุ่งยากต่อการใช้งาน ชนิดที่-คลิกเดียว หรือใช้คำไทยว่า-ชั่วพริบตา เรียกความจำที่ต้องการได้ทันที-จากเครื่อง ไม่ใช่จากสมอง
ภาระหนักไม่ใช่การจำ แต่ภาระหนักคือระวังอย่าให้เครื่องพัง ระวังอย่าให้แบตหมด
ถึงตอนนั้นคงสนุกกันใหญ่
มนุษย์มีขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
๑ รูป = ธาตุทั้ง ๔
๒ เวทนา = ความรู้สึกสุข-ทุกข์ ชอบ-ชัง-เฉย
๓ สัญญา = ความจำ
๔ สังขาร = ความคิดปรุงแต่ง
๕ วิญญาณ = ความรู้เข้าใจแจ้งชัด
ถึงตอนนั้นมนุษย์จะเหลือขันธ์แค่ ๔ ขันธ์
สัญญา = ความจำ ไม่ต้องใช้ จึงไม่ต้องมี
ชื่อตัวเองก็ไม่ต้องจำ
ทุกอย่างฝากไว้ในเครื่อง
นกแก้วนกขุนทองสูญพันธุ์
อยากให้ถึง ๓๐๐ ปีเร็วๆ ครับ
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๐ มกราคม ๒๕๖๕
๑๑:๕๖
…………………………………………
ความคิดของนกแก้วนกขุนทองตัวหนึ่ง