แสนยานุภาพ (บาลีวันละคำ 1,665)
แสนยานุภาพ
อ่านว่า แสน- ยา-นุ-พาบ
ประกอบด้วย แสนย + อานุภาพ
(๑) “แสนย”
บาลีเป็น “เสนิย” (เส-นิ-ยะ) ประกอบมาจาก เสนา + อิย ปัจจัย
“เสนา” (เส-นา) รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = ผูก, มัด) + น ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ สิ) เป็น เอ, ลง อา เครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สิ > เส + น = เสน + อา = เสนา แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้ที่ผูกกันไว้” คือ ผู้ที่ต้องเกาะกลุ่มกันเป็นพวก เป็นหมู่ เป็นกอง จึงจะสามารถปฏิบัติงานได้
(2) “ผู้เป็นเหตุให้ผูกมัดข้าศึกได้” คือ เมื่อมีข้าศึกศัตรูมารุกราน (หรือจะไปรุกรานบ้านเมืองอื่น) ต้องอาศัยหมู่คนชนิดเช่นนี้จึงจะสามารถจับข้าศึกได้
“เสนา” หมายถึง กองทัพ
เสนา + อิย ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือลบ อา ที่ (เส)-นา (เสนา > เสน)
: เสนา > เสน + อิย = เสนิย (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “อันตั้งอยู่ในกองทัพ” หมายถึง จอมทัพ, แม่ทัพ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เสนิย” ว่า belonging to an army (อันเป็นของกองทัพ) และหมายถึง soldier (ทหาร)
บาลี “เสนิย” สันสกฤตเป็น “ไสนฺย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“ไสนฺย : (คำนาม) กองทัพ (บก); ทหารถืออาวุธ; ทหารยาม; an army; a soldier under arms; a guard or sentinel.”
(๒) “อานุภาพ”
บาลีเป็น “อานุภาว” (อา-นุ-พา-วะ) รากศัพท์มาจาก อนุ (คำอุปสรรค = เนืองๆ) + ภู (ธาตุ = ไป, ถึง, บรรลุ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ อ-(นุ) เป็น อา (อนุ > อานุ), แผลง อู ที่ ภู เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อาว (ภู > โภ > ภาว)
: อนุ + ภู + ณ = อนุภูณ > อนุภู > อนุโภ > อนุภาว > อานุภาว แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ยังผู้พร้อมมูลด้วยสิ่งนั้นให้เจริญร่ำไป”
วิธีสรุปความหมายจากคำแปลตามศัพท์ : อานุภาว
– “สิ่งนั้น” คือเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นคุณธรรมเป็นต้น
– มีบุคคลที่มีเหตุปัจจัยเช่นนั้นพร้อมมูล
– มีภาวะอย่างหนึ่งทำให้บุคคลเช่นว่านั้นเจริญอยู่ร่ำไป
– จึงเรียก “ภาวะ” นั้นว่า “อานุภาว”
“อานุภาว” หมายถึง ความยิ่งใหญ่, ความดีเด่น, อานุภาพ, ความวิเศษ (greatness, magnificence, majesty, splendour)
เสนิย > ไสนฺย เราเอามาแปลงรูปเป็น “แสนย”
แสนย + อานุภาพ = แสนยานุภาพ แปลว่า “อานุภาพแห่งกองทัพ” หรือ “ความยิ่งใหญ่แห่งกำลังทหาร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“แสนยานุภาพ : (คำนาม) อํานาจทางทหาร เช่น ทหารเดินสวนสนามเพื่อแสดงแสนยานุภาพของกองทัพ. (ส. ไสนฺย + อานุภาว).”
อภิปราย:
ชาติต่างๆ ต้องมีกองทัพไว้ป้องกันประเทศ
ในกองทัพนั้นจะต้องมีกำลังพลประเภทหนึ่งทำหน้าที่ให้กำลังใจแก่ปวงทหาร (ในกองทัพไทยเรียกกำลังพลประเภทนี้ว่า “อนุศาสนาจารย์”)
ทหารที่ขาดกำลังใจอาจทำให้กองทัพพ่ายแพ้ยับเยินทั้งๆ ที่อาวุธเต็มมือ อาหารเต็มท้อง
หนทางที่ช่วยให้ทหารมีกำลังใจมั่นคงดีที่สุดก็ไม่มีสิ่งใดประเสริฐไปกว่าคุณธรรมทางพระศาสนา
คุณธรรมทางพระศาสนาทำให้คนเป็นคนดี-มิใช่เฉพาะทหาร แต่ทุกคน
คุณธรรมความดีเป็นพื้นฐานที่มั่นคงของกำลังใจ
และกำลังใจเป็นพื้นฐานที่มั่นคงของ “แสนยานุภาพ” – กำลังทหาร
…………..
ดูก่อนภราดา!
: กำลังทหารช่วยให้ประเทศชาติมีชัย
: กำลังใจช่วยให้ประชาชนมีสุข
25-12-59