บาลีวันละคำ

สังฆเภท (บาลีวันละคำ 1,327)

สังฆเภท

อ่านว่า สัง-คะ-เพด

ประกอบด้วย สังฆ + เภท

(๑) “สังฆ

บาลีเป็น “สงฺฆ” (สัง-คะ) รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น , แปลง หนฺ เป็น

: สํ > สงฺ + หนฺ > + = สงฺฆ แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” หมายความว่า ส่วนย่อยที่มีคุณสมบัติหลักๆ “ไม่แปลกกัน” คือมีคุณสมบัติตรงกัน เหมือนกัน ส่วนย่อยดังกล่าวนี้ไปอยู่รวมกัน คือเกาะกลุ่มกัน ดังนี้เรียกว่า “สงฺฆ

(2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” ความหมายนี้เล็งที่บรรพชิตหรือสาวกที่เป็นนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ต้องมีความคิดเห็นและความประพฤติลงรอยกันจึงจะรวมเป็น “สงฺฆ” อยู่ได้

สงฺฆ” จึงหมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า –

(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)

(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)

(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)

สงฺฆ” ภาษาไทยใช้ว่า “สงฆ์

สงฆ์” ในพระพุทธศาสนามีความหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) “สาวกสงฆ์” หมายถึงหมู่สาวกของพระพุทธเจ้า ที่ได้บรรลุธรรมในภูมิอริยบุคคลคือเป็นพระโสดาบันขึ้นไป ดังคำสวดในสังฆคุณที่ว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

(2) “ภิกขุสงฆ์” หมายถึงชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย

บางทีเรียกอย่างแรกว่า “อริยสงฆ์” อย่างหลังว่า “สมมติสงฆ์

(๒) “เภท

บาลีอ่านว่า เพ-ทะ รากศัพท์มาจาก ภิทฺ (ธาตุ = แตก, ทำลาย) + ปัจจัย, แปลง อิ ที่ ภิ-(ทฺ) เป็น เอ (ภิ > เภ)

: ภิทฺ + = ภิท > เภท แปลตามศัพท์ว่า “การแตก” “การทำให้แตก

เภท” ใช้ในความหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) การทำให้แตก, การพราก, การแยกออก, ความไม่สามัคคี, ความแตกร้าว (breaking, rending, breach, disunion, dissension)

(2) ประเภท, ชนิด (sort, kind), (คำคุณศัพท์) ประกอบด้วย, เหมือน (consisting of, like)

ในที่นี้ “เภท” มีความหมายตามข้อ (1)

สงฺฆ + เภท = สงฺฆเภท แปลตามศัพท์ว่า “การทำสงฆ์ให้แตก

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆเภท” ว่า causing dissension among the Order (ทำให้ขัดกันในคณะสงฆ์, การทำให้สงฆ์แตกแยกกัน)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

สังฆเภท (Saŋghabheda) : schism; causing dissension among the Order; the creation of a schism in the Sangha.

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

สังฆเภท : ความแตกแห่งสงฆ์, การทำให้สงฆ์แตกจากกัน (ข้อ 5 ในอนันตริยกรรม 5), กำหนดด้วยไม่ทำอุโบสถปวารณา และสังฆกรรมด้วยกัน.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังฆเภท : (คำนาม) การที่ภิกษุทําให้สงฆ์แตกหมู่แตกคณะออกไป, นับเป็นอนันตริยกรรมอย่าง ๑ ในอนันตริยกรรม ๕. (ป.).”

ข้อควรทราบ : ผู้ที่จะทำสังฆเภทได้ต้องเป็นภิกษุด้วยกันเท่านั้น

: ถ้าถือพระธรรมวินัยมั่นคง

ร้อยพันคำยุยงก็ไม่ทำให้สงฆ์แตกกัน

: ถ้าไม่ถือพระธรรมวินัย

ไม่มีใครทำอะไรก็แตกกันได้ทุกวัน

17-1-59

ต้นฉบับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *