เทวสุคนธ์ (บาลีวันละคำ 4,416)
เทวสุคนธ์
อีกคำหนึ่งที่อ่านผิดร้อยทั้งร้อย
อ่านว่า ทะ-เว-สุ-คน
ประกอบด้วยคำว่า เทว + สุคนธ์
(๑) “เทว”
คำนี้บาลีเป็น “เทฺว” มีจุดใต้ ทฺ ซึ่งบังคับให้ ทฺ กับ ว ต้องออกเสียงควบกัน อ่านแบบบาลีออกเสียงเหมือนคำว่า ทวย หรือ ทัว-เอ ลองพูดคำไทยว่า “ทวย” หรือออกเสียงคำว่า ทัว-เอ นั่นคือเสียงที่ใกล้เคียงที่สุดของคำว่า “เทฺว”
บาลี “เทฺว” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านแบบภาษาไทยตามสะดวกปากว่า ทะ-เว
และโปรดเข้าใจไว้ว่า คำนี้ ภาษาไทยสะกดเป็น “เทว” (ไม่มีจุดใต้ ทฺ)ไม่ได้อ่าน เท-วะ ที่แปลว่า เทวดา อย่างที่ตามองเห็น แต่อ่านว่า ทะ-เว แปลว่า สอง
“เทฺว” เป็นศัพท์สังขยา คือคำนับจำนวน แปลว่า “สอง” (จำนวน 2)
(๒) “สุคนธ์”
เขียนแบบบาลีเป็น “สุคนฺธ” อ่านว่า สุ-คัน-ทะ แยกศัพท์เป็น สุ + คนฺธ
(ก) “สุ” ในภาษาบาลีเป็นคำจำพวก “อุปสรรค” นักเรียนบาลีในไทยท่องจำคำแปลได้ตั้งแต่ชั้นไวยากรณ์ว่า “สุ : ดี, งาม, ง่าย”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “สุ-” ไว้ว่า well, happily, thorough (ดี, อย่างมีสุข, ทั่วถึง)
(ข) “คนฺธ” อ่านว่า คัน-ทะ รากศัพท์มาจาก –
(1) คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ก ปัจจัย, แปลง คมฺ เป็น คนฺธ, ลบ ก
: คมฺ + ก = คมก > คนฺธก > คนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปในที่นั้น ๆ ได้ด้วยลม” “สิ่งอันลมพัดพาไป”
(2) คนฺธฺ (ธาตุ = ประกาศ, ตัด) + อ (อะ) ปัจจัย
: คนฺธ + อ = คนฺธ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ประกาศฐานะของตน” (2) “สิ่งที่ตัดความเหม็นด้วยความหอม ตัดความหอมด้วยความเหม็น”
“คนฺธ – คันธ-” หมายถึง กลิ่น, ของหอม (smell, perfume)
สุ + คนฺธ = สุคนฺธ (สุ-คัน-ทะ) แปลว่า “กลิ่นดี” คือ กลิ่นหอม
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุคนธ-, สุคนธ์, สุคันธ์ : (คำนาม) กลิ่นหอม; เครื่องหอม เช่น น้ำอบ น้ำปรุง น้ำร่ำ น้ำหอม, ราชาศัพท์ใช้ว่า เครื่องพระสุคนธ์. (ป., ส.).”
เทฺว + สุคนฺธ = เทฺวสุคนฺธ (ทะ-เว-สุ-คัน-ทะ) แปลว่า “กลิ่นหอมสองอย่าง”
ที่แสดงการประสมคำเช่นนี้เป็นการแสดงตามรูปศัพท์ ยังไม่พบว่ามีรูปศัพท์เช่นนี้ใช้ในคัมภีร์บาลี
“เทฺวสุคนฺธ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “เทวสุคนธ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เทวสุคนธ์ : (คำนาม) กลิ่นหอม ๒ อย่าง คือ กลิ่นที่เกิดจากรากบุนนาคและรากมะซาง.”
ขยายความ :
คำว่า “เทวสุคนธ์” พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกคำอ่านไว้ จึงเป็นที่คาดหมายได้ว่า คนที่เห็นคำนี้ร้อยทั้งร้อยจะต้องอ่านว่า เท-วะ-สุ-คน คืออ่านคำว่า “เทว” ว่า เท-วะ- ทั้งนี้เพราะเราคุ้นกับคำว่า “เทว” ที่หมายถึง เทวดา มากกว่า “เทว” ที่แปลว่า “สอง”
การที่พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกคำอ่านไว้ อาจเป็นเพราะพจนานุกรมฯ เก็บแม่คำของคำนี้ไว้ข้างต้นและบอกคำอ่านไว้แล้ว คือเก็บคำว่า “เทว” ไว้ 2 คำ ดังนี้ –
(1) เทว– ๑ [เทวะ-] : (คำแบบ) (คำนาม) เทวดา, มักใช้ประกอบหน้าศัพท์อื่น. (ป., ส.).
(2) เทว– ๒ [ทะเว-] : (คำแบบ) (คำนาม) สอง, มักใช้ประกอบหน้าศัพท์อื่น. (ป. เทฺว).
จะเห็นได้ว่า เขียนเหมือนกันทั้ง 2 คำ แต่บอกคำอ่านต่างกัน
เทว– ๑ อ่านว่า เท-วะ-
เทว– ๒ อ่านว่า ทะ-เว-
ขีด – ท้ายคำ บอกให้รู้ว่า ใช้รูปคำเช่นนี้เมื่อมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย
ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อไปเห็นคำที่มีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายและไม่ได้บอกคำอ่านไว้ คนอ่านจะรู้ได้อย่างไรว่า คำไหนอ่านว่า เท-วะ- คำไหนอ่านว่า ทะ-เว- ?
ในภาษาไทย “ทฺวิ” แปลงรูปเป็น “เทว” อ่านว่า ทะ-เว ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 นอกจากคำว่า “เทวสุคนธ์” แล้ว พบคำต่อไปนี้ –
…………..
(1) เทวตรีคันธา [ทะเวตฺรี-] : (คำนาม) พิกัดตัวยาประเภทหนึ่งในตำรายาไทย จำกัดจำนวนตัวยาอันมีกลิ่นหอม ๒ ชนิด ชนิดละ ๓ อย่าง คือ ดอกบุนนาค แก่นบุนนาค รากบุนนาค กับ ดอกมะซาง แก่นมะซาง รากมะซาง.
(2) เทวภาวะ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ดังนี้ –
“เทวภาวะ : (คำนาม) ความเป็น ๒, ความเป็นคู่; พยัญชนะที่ซ้อนกัน ๒ ตัว; ใช้ เทวภาพ ก็ได้.”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเป็นดังนี้ –
“เทวภาวะ : (คำนาม) ความเป็นคู่, ความเป็น ๒, สภาพที่เป็น ๒ คือ ความลังเลสงสัย, เขียนเป็น เทวภาพ ก็มี เช่น ทวีพิชทวีธารทรง สุรยเสพย ไส้แฮ เทวภาพเทวหกพ้น แว่นไว (ยวนพ่าย).”
(3) เทววาจิกสรณคมน์ [ทะเววาจิกะสะระนะคม] : (คำนาม) การเปล่งวาจาถึงรัตนะ ๒ คือ พระพุทธเจ้าและพระธรรมว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก เพราะเวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์ เป็นสรณคมน์ที่ตปุสสะและภัลลิกะกล่าวหลังจากที่ได้ถวายข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงแด่พระพุทธเจ้าในสัปดาห์ที่ ๔ หลังจากตรัสรู้.
…………..
คำว่า “เทวตรีคันธา” และ “เทววาจิกสรณคมน์” บอกคำอ่านไว้ด้วย แต่ “เทวภาวะ” และ “เทวสุคนธ์” ไม่ได้บอกคำอ่านไว้
เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการอ่านผิด ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอให้เปลี่ยนแปลงวิธีสะกดคำ นั่นคือ –
“เทว-” ที่หมายถึง เทวดา อ่านว่า เท-วะ- คงสะกดตามเดิมแบบนี้
“เทว-” ที่หมายถึง จำนวนสอง อ่านว่า ทะ-เว- ให้สะกดเป็น “ทเว” โดยยอมเสียหลักอักขรวิธีในการสะกดไปบ้าง (ท กับ ว ในคำนี้เป็นอักษรควบ แยกสระไม่ได้) เพื่อไม่ให้อ่านผิด
ขอให้เทียบกับคำว่า “ทวิ” หรือ “ทวี” ท กับ ว ก็เป็นอักษรควบเช่นเดียวกัน แต่รูปสระ อิ หรือสระ อี ก็อยู่บนอักษร ว ตัวเดียว มองไม่เห็นว่าควบไปถึงอักษร ท ด้วย เรายังใช้กันได้
“ทเว” สระ เอ ควบอักษร ว ตัวเดียว ไม่ได้ควบอักษร ท ด้วย ก็ไม่น่าจะเสียหายแต่ประการใด แต่ประโยชน์ที่สำคัญคือ สะกดเป็น “ทเว” ช่วยให้อ่านถูกต้องแน่นอน
“เทวตรีคันธา” สะกดเป็น “ทเวตรีคันธา”
“เทววาจิกสรณคมน์” สะกดเป็น “ทเววาจิกสรณคมน์”
“เทวภาวะ” สะกดเป็น “ทเวภาวะ”
“เทวสุคนธ์” สะกดเป็น “ทเวสุคนธ์”
ท่านผู้ใดเห็นด้วย กรุณายกมือ!!
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อ่านคำผิด อาจเสีย‘ตังค์
: อ่านคนผิด อาจเสียตัว
#บาลีวันละคำ (4,416)
15-7-67
…………………………….
…………………………….