ฉันทาคติ (บาลีวันละคำ 2,574)
ฉันทาคติ
ลำเอียงเพราะรัก
อ่านว่า ฉัน-ทา-คะ-ติ
แยกศัพท์เป็น ฉันท + อคติ
(๑) “ฉันท”
บาลีเป็น “ฉนฺท” (ฉัน-ทะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ฉนฺทฺ (ธาตุ = ปรารถนา) + อ ปัจจัย
: ฉนฺทฺ + อ = ฉนฺท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความปรารถนา”
(2) ฉทฺ (ธาตุ = ปิด, บัง, ระวัง) + อ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น นฺ (ฉท > ฉํท > ฉนฺท)
: ฉทฺ + อ = ฉท > ฉํท > ฉนฺท (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “บทประพันธ์ที่ปกปิดโทษคือความไม่ไพเราะ”
“ฉนฺท” ในบาลีใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ –
(1) สิ่งกระตุ้นใจ, แรงดลใจ, ความตื่นเต้น; ความตั้งใจ, การตกลงใจ, ความปรารถนา; ความอยาก, ความประสงค์, ความพอใจ (impulse, excitement; intention, resolution, will; desire for, wish for, delight in)
(2) ความยินยอม, ความยอมให้ที่ประชุมทำกิจนั้นๆ ในเมื่อตนมิได้ร่วมอยู่ด้วย (consent, declaration of consent to an official act by an absentee) ความหมายนี้คือที่เราพูดว่า “มอบฉันทะ”
(3) ฉันทลักษณ์, กฎเกณฑ์ว่าด้วยการแต่งฉันท์, ตำราฉันท์; บทร้อยกรอง (metre, metrics, prosody; poetry) ความหมายนี้คือที่ภาษาไทยพูดว่า “กาพย์กลอนโคลงฉันท์” บาลีไม่ได้เรียกแยกชนิดเหมือนไทย คงเรียกรวมทุกอย่างว่า “ฉนฺท–ฉันท์” แต่มีชื่อเฉพาะสำหรับฉันท์แต่ละชนิด เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “คาถา”
ในที่นี้ “ฉนฺท” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)
(๒) “อคติ”
บาลีอ่านว่า อะ-คะ-ติ รากศัพท์มาจาก น + คติ
(ก) “น” (นะ) เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า ไม่, ไม่ใช่
เมื่อไปสมาสกับคำอื่น :
– ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ แปลง น เป็น อน (อะ-นะ)
– ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แปลง น เป็น อ (อะ)
ในที่นี้ “คติ” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ จึงแปลง น เป็น อ
(ข) “คติ” รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ติ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ
: คมฺ + ติ = คมติ > คติ แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาอันบุคคลพึงดำเนิน”
“คติ” (อิตถีลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การไป (going)
(2) การจากไป, การผ่านไป (going away, passing on)
(3) ทางไป, โดยเฉพาะหลังจากตายไป, ชะตากรรม, ที่เกี่ยวกับภพอื่น (course, esp after death, destiny, as regards another existence)
(4) ความประพฤติ, ภาวะหรือฐานะของความเป็นอยู่, ขอบเขตของภพ, ความเป็นอยู่, ธาตุ (behaviour, state or condition of life, sphere of existence, element)
(5) แดนแห่งความเป็นอยู่ 5 อย่างของสัตว์โลก (the five realms of existence) (คือ นรก สัตว์ดิรัจฉาน เปรต มนุษย์ และเทพ = คติ 5)
: น + คติ = นคติ > อคติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาอันบุคคลไม่พึงดำเนิน” (2) “การดำเนินอันไม่สมควร”
“อคติ” ขบความตามศัพท์เท่าที่ตาเห็น –
1 ไม่ไป, ไม่ถึง, ไม่อยู่
2 ไปไม่ได้, ไปไม่ถึง, เข้าไม่ได้, อยู่ไม่ได้
ความหมายในเชิงปฏิบัติของ “อคติ” คือ –
1 ไปในที่ไม่ควรไป, อยู่ในที่ไม่ควรอยู่, เข้าไปในที่ไม่ควรเข้า, ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ
2 ไม่ไปในที่ที่ควรไป, ไม่อยู่ในที่ที่ควรอยู่, ไม่เข้าไปในที่ที่ควรเข้า, ไม่ทำสิ่งที่ควรทำ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อคติ” ว่า –
(1) no course, no access (ไม่มีวิถีทาง, ไม่มีทางเข้า)
(2) a wrong course (ทางที่ผิด)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “อคติ” ว่า wrong course of behaviour; prejudice
“อคติ” เรามักพูดทับศัพท์ว่า อคติ หมายถึง ความลำเอียง, ความไม่เที่ยงธรรม, ความไม่ยุติธรรม
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อคติ : (คำนาม) ความลําเอียง มี ๔ อย่าง คือ ฉันทาคติ = ความลําเอียงเพราะรัก โทสาคติ = ความลําเอียงเพราะโกรธ ภยาคติ = ความลําเอียงเพราะกลัว โมหาคติ = ความลําเอียงเพราะเขลา. (ป.).”
ฉนฺท + อคติ = ฉนฺทาคติ > ฉันทาคติ แปลว่า “ลำเอียงเพราะรัก” (prejudice caused by love or desire; partiality)
ขยายความ :
“ฉันทาคติ” ลำเอียงเพราะรัก หมายความว่าอย่างไร
หนังสือ อธิบายธรรมวิภาคปริเฉทที่ 1 ฉบับมหามกุฎราชวิทยาลัย ขยายความไว้ดังนี้ –
…………..
ฉันทาคติ แปลว่า ลำเอียงเพราะรักใคร่กัน หรือเพราะชอบพอกัน เช่นการตัดสินคดีอธิกรณ์พิพาทต่างๆ ก็ดี การแบ่งปันสิ่งของก็ดี การพิจารณาให้ยศหรือรางวัลก็ดี ด้วยอำนาจความพอใจรักใคร่กัน โดยตัดสินให้ผู้ที่ชอบพอกันเป็นผู้ชนะทั้งๆ ที่ไม่ควรชนะ, ให้สิ่งของที่ดี ให้ยศหรือรางวัลแก่คนที่ชอบพอกันทั้งๆ ที่ไม่ควรจะได้ ซึ่งเป็นการไม่ยุติธรรมประการหนึ่ง.
…………..
ขอขยายความเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย
ปกติ “ฉันทะ” ในทางธรรมจะใช้ในความหมายที่ดี โดยเฉพาะเมื่อเทียบหรือจับคู่กับ “ตัณหา”
หนังสือ “มองดูฉันทะ – ตัณหา ไล่มาตั้งแต่แต่เจงกิสข่าน” ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) อธิบายความเทียบกันดังนี้ –
…………..
ฉันทะ คือ ความอยากให้สิ่งนั้นๆ อยู่ในภาวะที่ดีงามสมบูรณ์ของมัน แล้วก็อยากรู้อยากทำให้มันดีงามสมบูรณ์อย่างนั้น แปลง่ายๆ ว่า ใจรัก อยากทำ
ตัณหา คือ ความอยากได้อยากเอาสิ่งนั้นๆ มาเสริมขยายปรนเปรออัตตาของเรา จึงอยากเสพ อยากอวด อยากโอ่ อยากโก้ อยากบำรุงบำเรอ
…………..
แต่ในคำในชุดอคติ 4 นี้ “ฉันทะ” มีความหมายในทางเสีย คือมีใจรัก แต่ขาดปัญญาที่จะวินิจฉัยว่ารักอย่างไรควร รักอย่างไรไม่ควร ซ้ำบางทีก็เข้าใจไปว่าสิ่งที่ตนทำลงไปคือเมตตา แต่หารู้ไม่ว่ากำลังลำเอียง
ดูเพิ่มเติม: “ฉันทามติ” บาลีวันละคำ (552) 19-11-56
…………..
ดูก่อนภราดา!
: รัก ทำเพื่อตนและคนที่สุดเสน่หา
: เมตตา ทำเพื่อมนุษยชาติมวลชน
#บาลีวันละคำ (2,574)
30-6-62