บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จุดมหัศจรรย์ของเขื่อนริมน้ำ

จุดมหัศจรรย์ของเขื่อนริมน้ำ

—————————–

ใครที่เคยลงไปเดินเลียบเขื่อนริมน้ำในเขตเทศบาลเมืองราชบุรีจะต้องได้เห็นของจริงในภาพที่ผมเอามาประกอบเรื่องในวันนี้

รู้ข้อมูลสักหน่อยก่อน 

คือเมื่อก่อนนี้ริมน้ำแม่กลองช่วงที่ผ่านหอนาฬิกายังไม่มีเขื่อน

ต่อมาเทศบาลก็สร้างเขื่อนขึ้นมาช่วงหนึ่งสั้นๆ ตั้งชื่อว่า เขื่อนรัฐประชาพัฒนา เหตุผลก็เพื่อกันน้ำกัดเซาะตลิ่ง เนื่องจากตรงหอนาฬิกาเป็นโค้งน้ำ หน้าน้ำกระแสน้ำไหลลงจะพุ่งเข้าหาโค้งตรงนั้นเต็มๆ

ผมจำไม่ได้ว่าเมื่อสร้างทีแรกเป็นเขื่อนชั้นเดียวหรือสองชั้น

ชั้นเดียว หมายความว่าสร้างคันกั้นน้ำเป็นผนังทึบขึ้นมาตรงๆ เสมอพื้นถนน

สองชั้น หมายความว่า ชั้นบนเสมอพื้นถนน ชั้นล่างทำเป็นทางเดิน ด้านริมน้ำเป็นที่โล่ง ด้านในมีชั้นบนเป็นหลังคา (ดูภาพประกอบ)

ปัจจุบันปรับปรุงให้เป็นสองชั้นอย่างที่ว่านั้น

ต่อมาเทศบาลก็ขยายตัวเขื่อนให้ยาวต่อออกไปทั้ง ๒ ข้างตลอดริมน้ำ 

เป็นอันว่าริมน้ำแม่กลองตั้งแต่ตรงหน้าศาลากลางจังหวัดหลังเก่า (ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี) ไปจนถึงสะพานรถไฟเป็นเขื่อน ๒ ชั้นตลอดแนว (ดูภาพประกอบ)

แต่เนื่องจากเป็นการแบ่งตอนสร้างเป็นช่วงๆ เขียนผังวางแปลนต่างเวลากัน 

แปลนช่วงใหม่สร้างทีหลังก็เขียนเฉพาะส่วนของตน ไม่ได้คิดถึงของเดิมที่มีอยู่แล้ว – ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น

ผลงานที่เสร็จแล้วจึงเป็นดังภาพที่ประกอบเรื่องนี้

โปรดเลื่อนไปดูภาพก่อน แล้วค่อยมาอ่านต่อ

ตามภาพ จะเห็นว่า สุดเขตทางเดินชั้นล่างที่สร้างก่อน ตั้งเสาทำราวกั้นเขตอยู่แล้ว

ทางเดินที่สร้างทีหลัง พอมาสุดเขตที่เชื่อมกับส่วนที่สร้างไว้ก่อน (ซึ่งมีราวกั้นเขตอยู่แล้ว) ก็สร้างเสาใส่ราวของตนเองขึ้นมาอีกราวหนึ่ง เพราะแปลนที่ผู้ออกแบบเขียนขึ้นกำหนดไว้อย่างนั้น

กลายเป็นมีเสารั้วแนบขนานกันอยู่ ๒ รั้ว เหมือนเป็นคนละเจ้าของ

และกลายเป็นรั้วกั้นทางเดิน โดยอธิบายไม่ได้ว่า จะกั้นไว้เพื่อประโยชน์อะไร

ใครเดินมาถึงตรงนั้น จากที่เดินมาโล่งๆ ก็จะมาเจอรั้วกั้นที่ว่านี้

รั้วเดียวก็ประหลาดมากอยู่แล้ว นี่กั้นซ้อนกัน ๒ รั้ว เป็นสุดยอดของความคิดไปเลย เป็นจุดมหัศจรรย์ที่ ๑ ของเขื่อนแห่งนี้

แต่ยังดีที่มีช่องให้เบี่ยงตัวผ่านไปได้

ผ่านจุดมหัศจรรย์ที่ ๑ ไปแล้ว เดินต่อไปเรื่อยๆ ก็จะไปถึงช่วงหนึ่งที่ด้านริมน้ำจะไม่มีราวรั้วกัน แต่ก็ยังเดินได้ ไม่ต้องกลัวพลัดหล่นลงน้ำแต่ประการใด

เดินไปจนสุดทางที่ไม่มีราวรั้วกันนั้น ก็จะไปเจอราวรั้วขวางหน้าอีก (ดูภาพที่ ๑๓) อันเป็นช่วงตอนที่ทางเดินด้านริมน้ำขยายออกและมีราวรั้วกันแบบเดียวกับช่วงต้นๆ โน้น 

แต่คราวนี้ราวรั้วที่ขวางหน้าอยู่นั้นสร้างแบบปิดทาง ไม่มีช่องให้ผ่าน 

ถ้าจะผ่าน ต้องปีนรั้วข้ามไป 

เป็นสุดยอดของความคิดในการออกแบบสร้าง เป็นจุดมหัศจรรย์ที่ ๒ ของเขื่อนแห่งนี้

ปิดท้ายด้วยความคิดสุดยอดในการออกแบบก็คือ-ครั้นปีนข้ามราวรั้วกันตรงนั้นมาแล้ว เดินต่อไปก็จะไปสุดทางที่ใต้สะพาน 

สะพานตรงนี้มี ๒ สะพาน สร้างขนานกันข้ามแม่น้ำแม่กลองตามแนวเหนือ-ใต้ (ข้ามจากเหนือลงใต้หรือจากใต้ขึ้นเหนือ) คือ สะพานรถไฟ ชื่อสะพานจุฬาลงกรณ์ อยู่ด้านตะวันออก และสะพานรถยนต์ ชื่อสะพานธนะรัชต์ อยู่ด้านตะวันตก 

ตรงสุดทางนี้จะมีราวรั้วกั้น บอกให้รู้ว่าทางเดินริมน้ำด้านล่างสิ้นสุดลงแค่นี้

แล้วไง?

แล้วไงอะไร

อ้าว แล้วจะไปยังไงกันต่อไงล่ะ 

ถ้าเอาความคิดความรู้สึกของคนเดินเป็นหลัก พอสุดทางตรงนี้ก็ควรจะมีบันไดขึ้นไปด้านบน ไปสู่พื้นผิวถนนตามปกติ ต่อจากนั้นใครจะไปไหนต่อ ก็ตามแต่อัธยาศัย-แยกย้ายกันไป 

รวมทั้ง-ใครอยากจะเดินย้อนกลับทางเดิม ก็เชิญตามอัธยาศัย 

แต่หาใช่เช่นว่านั้นไม่ 

เพราะท่านปิดทางตันอยู่แค่นั้น 

ไม่มีทางขึ้น 

ไม่ทำทางขึ้น

ไม่มีทางออก

ทั้งๆ ที่พื้นที่ต่อจากตรงนั้นไม่ใช่พื้นที่หวงห้าม ไม่ใช่เขตสงวน ไม่ใช่ที่ส่วนบุคคลของใคร 

สามารถทำบันไดขึ้น-ลงได้อย่างสบาย

แต่ไม่ทำ (ใครจะทำไม) 

เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่า-แล้วไง? คำตอบก็คือ-ก็ต้องย้อนกลับสิขอรับ ไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น 

ถ้าใครไม่รู้มาก่อน เดินเรื่อยไปโดยคิดว่าจะมีทางขึ้น-ทางออกอยู่ข้างหน้า

ขอโทษ คุณถูกหลอกแล้วขอรับ ฮ่าๆๆ 

กรุณาย้อนกลับซะดีๆ เถิด

ถ้าใครอยากจะขึ้นด้านบนจากตรงนั้นก็ได้ แต่ต้องปืนราวรั้ว แล้วคลานขึ้นไปเหมือนลิง 

นับเป็นจุดมหัศจรรย์ที่ ๓ ของเขื่อนแห่งนี้

——————

ทั้งหลายทั้งปวงที่เล่าสู่กันฟังนี้ ถามว่าคนออกแบบสร้างเขื่อนคิดอย่างไร 

ท่านอาจมีเหตุผลที่ฉลาดลึกล้ำจึงทำอย่างนี้ ใครจะไปรู้ 

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ สภาพดังที่เล่าสู่กันฟังนี้ยังไม่ไปสู่การรับรู้ของผู้บริหาร

ผู้บริหารยังไม่รู้ว่าผลงานของท่านมีคนรู้สึกอย่างนี้ คิดอย่างนี้ 

หรือแม้-อาจจะ-ไปสู่การรับรู้ของผู้บริหารแล้ว แต่ท่านก็อาจจะเห็นว่ามันไม่ใช่ปัญหา และไม่เป็นปัญหา

ใครเห็นว่าเป็นปัญหา ก็เชิญเห็นไปตามสบาย แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่ใช่ปัญหา อะไรๆ ที่มันเป็นอย่างนั้น-อย่างที่เล่ามานั้น-มันก็ดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็ควรปล่อยให้เป็นอย่างนั้นต่อไป ไม่จำเป็นต้องไปทำอะไรกับมันอีก ใครไม่ชอบแบบนั้นก็เชิญไปเดินที่อื่น มีที่ให้เดินอีกตั้งเยอะแยะไป ไม่เห็นจะต้องมาเดือดร้อนอะไรเลย สวัสดี 

——————–

ผมมาคิดๆ ดู การบริหารงานของราชการ ดูๆ ไปก็ไม่ต่างไปจากการบริหารงานของคณะสงฆ์ 

ส่วนที่เหมือนกันอย่างยิ่งมี ๒ อย่าง คือ 

๑ ไม่รับรู้ปัญหา พูดให้ฟังดูดีหน่อยก็ว่า-ปัญหาไม่ไปสู่การรับรู้ คือท่านไม่รู้และไม่รับรู้ว่ามันมีปัญหาอย่างนั้นๆ อยู่นะ เพราะฉะนั้นท่านก็จะอยู่ของท่านไปนิ่งๆ เฉยๆ ไม่ทำอะไร เพราะท่านเห็นว่าไม่มีอะไรจะต้องทำ 

๒ แม้-อาจจะ-รับรู้ แต่ก็อย่าเพิ่งดีใจ เพราะถึงจะรับรู้แล้ว แต่ท่านก็อาจจะไม่เห็นว่ามันเป็นปัญหาที่ตรงไหนเลย ท่านเห็นว่าทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมดา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เรื่องที่ใครบอกว่ามันเป็นปัญหา ควรแก้อย่างนั้น ควรทำอย่างนี้ ท่านเห็นว่าไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน เดี๋ยวมันก็ดับไปเอง 

กรณีปัญหาไปหรือไม่ไปสู่การรับรู้นั้น ทั้งทางบ้านเมืองและคณะสงฆ์ดูเหมือนจะใช้นโยบายเหมือนกัน 

นั่นคือรอให้ปัญหาวิ่งมาชน 

รอให้มีคนยื่นแผ่นกระดาษมาใส่มือ 

จึงจะยอมรับรู้ว่ามีปัญหา 

ถ้ามิเช่นนั้น ท่านก็จะบอกหน้าตาเฉยว่า “ยังไม่เห็นมีเรื่องมานี่”

วิธีรอให้ปัญหาวิ่งมาชนนั้น ถ้าเป็นเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้วก็ควรเป็นเช่นนั้น 

แต่ในยุคสมัยโลกไร้พรมแดนเช่นปัจจุบันนี้ ผมเห็นว่าเป็นวิธีที่ล้าสมัยอย่างยิ่ง 

ทั้งหน่วยราชการ ทั้งคณะสงฆ์ ควรมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ลาดตระเวนเก็บข้อมูลเก็บปัญหา แล้วนำเข้าสู่การพิจารณาแก้ไข

ไม่ใช่เอาแต่นั่งรอรับแผ่นกระดาษอยู่ในสำนักงาน แล้วก็พูดประโยคโบราณ – “ยังไม่เห็นมีเรื่องมานี่” 

ในการปฏิบัติพุทธกิจ มีคำที่ท่านแสดงไว้ว่า 

ปจฺจูเสว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ

เวลาเช้ามืด ทรงตรวจดูสัตว์โลกที่สมควรจะเสด็จไปโปรด 

เมื่อผู้ที่สมควรจะเสด็จไปโปรดมาปรากฏใน “ข่ายคือพระญาณ” ก็จะทรงวางแผนกะการ พอรุ่งอรุณก็เสด็จไปตามแผน 

เวลานี้เครื่องมือสื่อสารไฮเทคทั้งหลายมีศักยภาพที่อาจใช้ทำหน้าที่เสมือน “ข่ายคือพระญาณ” ได้เป็นอย่างดี 

ปัญหาต่างๆ ที่สมควรจะแก้ไขมีปรากฏตามสื่อต่างๆ อยู่ตลอดเวลา-อย่างเช่นที่ผมกำลังเสนอความคิดเห็นอยู่ ณ ที่นี้เป็นต้น 

ท่านไม่ได้เห็น 

ไม่ได้วางแผน 

ไม่ได้กะการอะไรกันบ้างเลยหรือ 

ยังจะต้องให้ทำเป็นหนังสือ เอาไปยื่นใส่มืออยู่อีกหรือ? 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๖ มีนาคม ๒๕๖๑

๑๗:๔๓

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *