คันธมาทน์ (บาลีวันละคำ 2,094)
คันธมาทน์
ผาหอมแห่งหิมพานต์
(คำในชุดนามานุกรมเวสสันดรชาดก)
อ่านว่า คัน-ทะ-มาด
ประกอบด้วยคำว่า คันธ + มาทน์
(๑) “คันธ” (คัน-ทะ)
บาลีเขียน “คนฺธ” รากศัพท์มาจาก –
(1) คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ก ปัจจัย, แปลง คมฺ เป็น คนฺธ, ลบ ก
: คมฺ + ก = คมก > คนฺธก > คนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปในที่นั้นๆ ได้ด้วยลม” “สิ่งอันลมพัดพาไป”
(2) คนฺธฺ (ธาตุ = ประกาศ, ตัด) + อ ปัจจัย
: คนฺธ + อ = คนฺธ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ประกาศฐานะของตน” (2) “สิ่งที่ตัดความเหม็นด้วยความหอม ตัดความหอมด้วยความเหม็น”
“คนฺธ – คันธ-” หมายถึง กลิ่น, ของหอม (smell, perfume)
(๒) “มาทน์” (มาด)
บาลีเป็น “มาทน” (มา-ทะ-นะ) รากศัพท์มาจาก มทฺ (ธาตุ = มึนเมา; เบิกบาน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ทีฆะ อะ ที่ ม-(ทฺ) เป็น อา (มทฺ > มาท)
: มทฺ + ยุ > อน = มทน > มาทน แปลตามศัพท์ว่า (1) “ยัง-ให้มึนเมา” (2) “ยัง-ให้เบิกบาน” ความหมายเดิมหมายถึง การทำให้เมาเหล้า, ความมึนเมา (making drunk, intoxication)
คนฺธ + มาทน = คนฺธมาทน (เป็นชื่อของภูเขา) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ภูเขาที่ยังสัตวโลกให้มึนเมาด้วยกลิ่นของเครื่องหอมที่เกิดในตน” (2) “ภูเขาที่ยังคนที่มาถึงให้มึนเมาด้วยกลิ่น”
(3) “ภูเขาที่ยังสัตวโลกให้เบิกบานด้วยกลิ่นของเครื่องหอมที่เกิดในตน”
ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยเห็นตำราฉบับหนึ่งอธิบายชื่อ “คันธมาทน์” ไปอีกนัยหนึ่งว่า “มาทน” คำนี้มาจาก “มทฺทน” (มัด-ทะ-นะ) รากศัพท์มาจาก มทฺท (ธาตุ = ทำให้ละเอียด, บด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลบ ทฺ ที่ มทฺท ออกตัวหนึ่ง (มทฺท > มทฺ), ทีฆะ อะ ที่ ม-(ทฺ) เป็น อา (มทฺ > มาท)
: มทฺทฺ + ยุ > อน = มทฺทน > มทน > มาทน แปลตามศัพท์ว่า “การบด” หมายถึง การบดขยี้, การบด, การทำลาย (crushing, grinding, destroying)
“คนฺธมาทน” ตามนัยนี้จึงแปลว่า “การบดกลิ่น” หมายถึง ภูเขาที่บดสมุนไพรไม้ป่าทำให้เกิดกลิ่นหอมระเหยออกมาตลอดเวลา
“คนฺธมาทน” ในภาษาไทยใช้เป็น “คันธมาทน์” (คัน-ทะ-มาด)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“คันธมาทน์ : (คำวิเศษณ์) ที่มีกลิ่นหอมทำให้สัตว์มัวเมา. (คำนาม) ชื่อภูเขา เรียกว่า ภูเขาคันธมาทน์ คือ ภูเขาผาหอม. (ป., ส.).”
…………..
อภิปรายขยายความ :
ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์มหาพน พรรณนาภาพภูเขาคันธมาทน์ไว้ดังนี้ –
เอส เสโล แลถนัดในเบื้องหน้านั้นก็เขาใหญ่ยอดเยี่ยมโพยมอย่างพะยับเมฆ
มีพรรณเขียวขาวแดงดูอดิเรกดังรายรัตนนพมณีแนมน่าใคร่ชม
ครั้งแสงพระสุริยะส่องระดมก็ดูเด่นดังดวงดาววาวแวววะวาบๆ ที่เวิ้งวุ้ง
วิจิตรจำรัสจำรูญรุ่งเป็นสีรุ้งพุ่งพ้นเพียงคัคนัมพรพื้นนภากาศ
บ้างก็เกิดก่อก้อนประหลาดศิลาลายแลละเลื่อมๆ
ที่งอกง้ำเป็นแง่เงื้อมก็ชะงุ้มชะโงกชะง่อนผาที่ผุดเผินเป็นแผ่นภูตะเพิงพัก
บางแห่งเล่าก็เหี้ยนหักหินเห็นเป็นรอยร้าวรานระคายควรจะพิศวง
ด้วยธารอุทกที่ตกลงเป็นหยาดหยัดหยดย้อยเย็นเป็นเหน็บหนาว
ในท้องถ้ำที่สถิตไกรสรราชสถาน
บังเกิดแก้วเก้าประการกาญจนประกอบกัน
ตลอดโล่งโปร่งปล่องเป็นช่องชั้นวิเชียรฉายโชติช่วงชัชวาลสว่างตา
แสนสนุกในห้องเหมคูหาทุกหนแห่งรโหฐาน
เป็นที่เสพอาศัยสำราญแห่งสุรารักษ์รากษสสรรพปีศาจมากกว่าหมื่นแสน
สะพรั่งพฤกษ์พิมานแมนทุกหมู่ไม้บรรดามีในเขานั้น
ย่อมทรงทศพิธสุคันธขจรอาจจะจับใจเป็นอาจิณ
คนฺธมาทโน จึงเรียกนามว่าศีขรินทร์คันธมาทน์มหิมา
เหตุประดับด้วยพฤกษาทรงสุคนธรสชาติสิบประการมี
…………..
“สุคนธรสชาติสิบประการมี” คือกลิ่นหอม 10 ประการอันเกิดอยู่ในภูเขาคันธมาทน์ คัมภีร์ (ปรมัตถทีปนี อุทานวัณณนา หน้า 452 อรรถกถาอุโบสถสูตร) ระบุไว้ดังนี้ –
(1) มูลคนฺโธ กลิ่นเกิดแต่ราก
(2) สารคนฺโธ กลิ่นเกิดแต่แก่น
(3) เผคฺคุคนฺโธ กลิ่นเกิดแต่กระพี้
(4) ตจคนฺโธ กลิ่นเกิดแต่เปลือก
(5) ปปฏิกาคนฺโธ กลิ่นเกิดแต่สะเก็ด
(6) ขนฺธคนฺโธ กลิ่นเกิดแต่ลำต้น
(7) รสคนฺโธ กลิ่นเกิดแต่รส
(8) ปุปฺผคนฺโธ กลิ่นเกิดแต่ดอก
(9) ผลคนฺโธ กลิ่นเกิดแต่ผล
(10) ปตฺตคนฺโธ กลิ่นเกิดแต่ใบ
…………..
คัมภีร์จักกวาฬทีปนี รจนาโดยพระสิริมังคลาจารย์ (หอสมุดแห่งชาติ ตรวจชำระเรียบเรียง แปล หน้า18) อธิบายเรื่องภูเขาคันธมาทน์ สรุปไว้ว่า ชื่อ “คันธมาทน์” หมายถึงภูเขา 2 แห่ง คือ –
๑ เขาคันธมาทน์เป็นยอดหนึ่งของภูเขาหิมพานต์ (เขาหิมาลัย) จากเชิงเขาหิมพานต์ไปประมาณ 500 โยชน์จึงจะขึ้นไปถึง คันธมาทน์นี้คือที่คัมภีร์เอ่ยถึงว่าเป็นที่พระปัจเจกพุทธเจ้าไปชุมนุมกันอยู่
๒ เขาคันธมาทน์ในบริเวณเขาวงกต จากประตูป่าที่พรานเจตบุตรรักษาอยู่เข้าไปประมาณ 15 โยชน์ ชื่อ “คันธมาทน์” เหมือนกัน แต่เป็นคนละแห่งกับเขาคันธมาทน์ที่เป็นยอดหนึ่งของภูเขาหิมพานต์
…………..
ดูก่อนภราดา!
: หลอกลวงโกหก ยิ่งยกก็ยิ่งเหม็น
: บริสุทธิ์หมดจด ยิ่งกดก็ยิ่งหอม
—————–
(คำในชุดนี้ได้ความคิดจากคำถามของ วงษ์ชนะ สุรเชษฐ์)
#บาลีวันละคำ (2,094)
7-3-61