ทัศนาจร (บาลีวันละคำ 338)
ทัศนาจร
(บาลีไทย)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“ทัศนาจร : ท่องเที่ยว; การท่องเที่ยว, การไปเที่ยวชมภูมิประเทศหรือโบราณสถานเป็นต้น.”
“ทัศนา” บาลีเป็น “ทสฺสน” (ทัด-สะ-นะ) สันสกฤตเป็น “ทรฺศน” เราเขียนอิงสันสกฤต แต่ปรับปรุงรูปและเสียงเป็น “ทัศนา”
“ทสฺสน” แปลว่า การเห็น, การมองดู, การสังเกต, สิ่งที่เห็น, การเล็งเห็น, เครื่องรู้เห็น, ความเห็น, ทฤษฎี, การแสดง
“จร” แปลว่า ไป, เที่ยวไป, การเดินไป, จารบุรุษ, สายลับ
เป็นที่เขาใจกันว่า “ทัศนาจร” คิดเทียบคำอังกฤษว่า tour (to go sight-seeing)
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล tour เป็นบาลีว่า “จาริกา” ตรงกับที่เราเรียกกันว่า “จาริก” แปลว่า “การท่องเที่ยว”
ไทยเราแปล tour เป็นบาลีไทยว่า “ทัศนาจร” = ทัศนา + จร แบบง่ายๆ และแปลง่ายๆ ว่า “ไปดู” (ทัศนา = ดู, จร = ไป) เป็นคำที่สร้างขึ้นง่ายๆ แบบภูมิปัญญาไทย
: ทำได้ แม้ยังไม่ดี มีศักดิ์ศรีกว่าไม่คิดจะทำ
บาลีวันละคำ (338)
15-4-56
ทัศนาจร
ก. ท่องเที่ยว.น. การท่องเที่ยว, การไปเที่ยวชมภูมิประเทศหรือโบราณสถานเป็นต้น.
ทสฺสน (บาลี-อังกฤษ)
๑ การเห็น, การมองดู, การสังเกต; ทัศนะ (sight of), สิ่งที่ปรากฏ, รูปร่าง
๒ (อำนาจของ) สัญชาน, ความสามารถแห่งปฏิสัญชาน, ญาณ, การเล็งเห็น, ทัศนะ (view), ทฤษฎี
จร (นาม, คุณ)
๑ การเที่ยวไป, การเดินไป; ผู้เดินหรืออยู่
๒ ผู้ถูกให้ไปส่งข่าว, จารบุรุษ, คนสอดแนม
ทัศน-, ทัศน์, ทัศนะ, ทัศนา
[ทัดสะนะ-, ทัด, ทัดสะ-] น. ความเห็น, การเห็น, เครื่องรู้เห็น, สิ่งที่เห็น, การแสดง, ทรรศนะ ก็ใช้. (ป. ทสฺสน; ส. ทรฺศน).
ทัศนศึกษา
ก. ท่องเที่ยวเพื่อแสวงหาความรู้.น. การเรียนรู้ด้วยการดูการเห็น, การศึกษานอกสถานที่.
จร ๑, จร-
[จอน, จอระ-, จะระ-] ว. ไม่ใช่ประจํา เช่น คนจร รถจร, แทรกแปลกเข้ามา เช่น โรคจร ลมจร.ก. ไป, เที่ยวไป; ประพฤติ. (ป., ส.), ใช้เป็นบทท้ายสมาสก็มี เช่น ขจร = เที่ยวไปในอากาศ, วนจร = เที่ยวไปในป่า, ที่ใช้ควบกับคําไทยก็มี.