บาลีวันละคำ

ภูสา (บาลีวันละคำ 339)

ภูสา

ภูสา” เป็นบาลี ภาษาไทยใช้ว่า “ภูษา” ตามรูปสันสกฤต

ในภาษาไทย ใช้คำว่า “ภูษา” ในความหมายว่าเสื้อผ้า

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า

ภูษา : เครื่องนุ่งห่ม, ผ้าทรง”

ภูสา” ในภาษาบาลี แปลว่า เครื่องประดับ, การประดับ, การตกแต่ง, ทำให้งดงาม, แต่งให้งดงาม, ทำให้สวย

เนื่องจากร่างกายมนุษย์โดยธรรมชาติแล้ว มีแต่ตัวเปล่าๆ ดังนั้น อะไรก็ตามที่เอามาติดไว้ที่ร่างกาย จึงถูกเรียกว่า “ภูสา = เครื่องประดับ” ทั้งสิ้น

เครื่องประดับชนิดอื่นๆ มีเวลาที่จะต้องถอดออก แต่เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ปกติจะอยู่ติดร่างกาย คือเป็น “ภูสา” อยู่ตลอดเวลา จนในที่สุด คำว่า “ภูสาภูษา” ในภาษาไทย จึงหมายถึงเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มไปโดยปริยาย ทั้งๆ ที่โดยรากศัพท์แล้ว “ภูสา” ไม่ได้หมายถึงเสื้อผ้าโดยเฉพาะแต่ประการใดเลย

นับว่าไทยเราเข้าถึงธรรมชาติของคน และธาตุแท้ของคำได้อย่างลึกซึ้งทีเดียว (ฝรั่งแปล “ภูสา” ว่า ornament, decoration)

: อาภรณ์เสื้อผ้า เป็นภูษาได้แค่ชาตินี้

คุณงามความดี เป็นภูษาไปถึงปรโลก

บาลีวันละคำ (339)

16-4-56

ถ้าเติม “วิ-” (= พิเศษ, ดีกว่าธรรมดา) เป็น “วิภูสน” ก็คือคำในศีลแปด ข้อที่ว่า มาลาคันธะวิเลปนะ ธารณะ มัณฑนะ วิภูสนะ– (ทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอม เครื่องย้อมเครื่องทา) หรือเป็น “วิภูษิต” ในคำว่า “วิภูษิตาภรณ์” (เครื่องประดับองค์พระมหากษัตริย์)

ภูสน เครื่องประดับ, การประดับ (บาลี-อังกฤษ)

ภูสา (อิต.) เครื่องประดับ, การประดับ

ภูเสติ ประดับ, ตกแต่ง, ทำให้งดงาม

วิภูสน การประดับ

วิภูสา (อิตฺ.) เครื่องประดับ, การตกแต่ง, ความเด่น, ความภูมิใจ

วิภูสิต (ก.กิ.) ประดับ, ตกแต่ง

วิภูเสติ ประดับ, แต่งให้งดงาม, ทำให้สวย

วิภูษิต

ว. แต่งแล้ว, ประดับแล้ว. (ส.; ป. วิภูสิต).

ภูษา

น. เครื่องนุ่งห่ม, ผ้าทรง. (ส.; ป. ภูสา ว่า เครื่องประดับ).

ภูษามาลา

น. ข้าราชการในราชสํานักมีหน้าที่ถวายทรงพระเครื่องใหญ่ ถวายพระกลด ถวายสุกํา ทําสุกํา เปลื้องเครื่องสุกําศพพระบรมศพ พระศพ และเปลื้องเครื่องสุกําศพที่ได้รับพระราชทานโกศ เป็นต้น เรียกว่า เจ้าพนักงานภูษามาลา, โบราณมีหน้าที่ถวายเครื่องต้นด้วย, ในกฎหมายตราสามดวงเรียกแยกเป็น พนักงานพระภูษา พนักงานพระมาลา.

ภูษาโยง

น. แถบผ้าที่โยงจากปากโกศหรือหีบศพสําหรับคลี่ทอดไปยังพระสงฆ์เมื่อทําพิธีกรรม เช่น บังสุกุล หรือโยงจากราชรถประดิษฐานพระโกศไปยังรถนําหน้าพระศพ.