สภา (บาลีวันละคำ 340)
สภา
ทั้งบาลี สันสกฤต และภาษาไทยใช้รูปเดียวกัน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า
“สภา : องค์การหรือสถานที่ประชุม”
คำว่า “สภา” แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่มาประชุมกันพูด” (2) “ที่เป็นที่พูดร่วมกัน” (3) “ที่อันรุ่งเรืองด้วยคนดี”
ตามความหมายเหล่านี้ “สภา” จึงเป็นเครื่องหมายของสังคมประชาธิปไตย คือ คนดีๆ มาปรึกษาหารือกันก่อนแล้วจึงลงมือทำกิจการต่างๆ
ในภาษาบาลี “สภา” หมายถึง “สถานที่” แต่ในภาษาไทยนอกจากหมายถึงสถานที่แล้ว ยังหมายถึง “องค์การ” (หรือองค์กร) คือศูนย์รวมกลุ่มบุคคลหรือกิจการที่ประกอบกันขึ้นเป็นหน่วยงาน เช่น
– สภาผู้แทนราษฎร
– สภาสตรีแห่งชาติ
– สภามหาวิทยาลัย
– วุฒิสภา
“สภา” ในความหมายนี้เล็งถึงความเป็น “หน่วยงาน” ไม่ได้เล็งถึง “สถานที่” หมายความว่า “สภา” ดังกล่าวนี้จะมีสถานที่ตั้งอยู่ที่ไหน หรือแม้แต่จะไม่มีสถานที่ตั้ง ก็มีฐานะเป็น “สภา” อยู่ในตัวแล้ว
พุทธพจน์ :
เนสา สภา ยตฺถ น สนฺติ สนฺโต
ที่ใดไม่มีสัตบุรุษ ที่นั้นไม่ใช่สภา
บาลีวันละคำ (340)
17-4-56
เนสา สภา ยตฺถ น สนฺติ สนฺโต
สนฺโต น เต เย น วทนฺติ ธมฺมํ
ราคญฺจ โทสญฺจ ปหาย โมหํ
ธมฺมํ วทนฺตา จ ภวนฺติ สนฺโต.
ที่ใดไม่มีสัตบุรุษ ที่นั้นไม่ชื่อว่าสภา
คนพูดไม่ถูกธรรม ไม่ใช่สัตบุรุษ
คนไม่โลภโกรธหลง พูดถูกธรรม จึงจะเป็นสัตบุรุษ
(สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๗๒๕)
สภา = สภา, ที่ประชุม, ชมรม. สมาคม (ศัพท์วิเคราะห์)
สนฺเตหิ ภาติ ทิปฺปตีติ สภา ที่อันรุ่งเรืองด้วยคนดี
สนฺต บทหน้า ภา ธาตุ ในความหมายว่ารุ่งเรือง กฺวิ ปัจจัย แปลง สนฺต เป็น ส, ลบ กฺวิ
สงฺคมฺม ภาสนฺติ เอตฺถาติ สภา ที่เป็นที่มาประชุมกันพูด
สํ บทหน้า ภาสฺ ธาตุ ในความหมายว่าพูด, กล่าว กฺวิ ปัจจัย ลบนิคหิต ส ที่สุดธาตุ และ กฺวิ
สห ภนฺติ อสฺสนฺติ สภา ที่เป็นที่พูดร่วมกัน
สห บทหน้า ภา ธาตุ ในความหมายว่าพูด, กล่าว กฺวิ ปัจจัย ลบ ห และ กฺวิ
สภาย (อีกรูปหนึ่งของ สภา)
สนฺเตหิ ภาติ ทิปฺปตีติ สภายํ ที่อันรุ่งเรืองด้วยคนดี
สนฺต บทหน้า ภา ธาตุ ในความหมายว่ารุ่งเรือง ย ปัจจัย แปลง สนฺต เป็น ส
สภา (บาลี-อังกฤษ)
๑ สภา, ห้องประชุม a hall, assembly
๒ บ้านพักสาธารณะ, หอพัก
สภา
น. องค์การหรือสถานที่ประชุม เช่น สภาผู้แทนราษฎร สภาสตรีแห่งชาติ สภามหาวิทยาลัย วุฒิสภา. (ป., ส.).
องค์การ
น. ศูนย์รวมกลุ่มบุคคลหรือกิจการที่ประกอบกันขึ้นเป็นหน่วยงานเดียวกัน เพื่อดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือในตราสารจัดตั้งซึ่งอาจเป็นหน่วยงานของรัฐ เช่น องค์การของรัฐบาล หน่วยงานเอกชน เช่น บริษัทจำกัด สมาคม หรือหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ. (อ. organization).