บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ช่วยกันรู้ทัน

———–

เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๘ ผมไปเป็นกรรมการตัดสินประกวดสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัยทำนองสรภัญญะระดับภาคคณะสงฆ์ 

“ภาคคณะสงฆ์” เป็นการรวมจังหวัดบางจังหวัดเข้าด้วยกันแล้วเรียกเป็นหมายเลข

อย่างราชบุรีบ้านผม ท่านก็รวมจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี สมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์ เข้าด้วยกันเป็น “ภาค ๑๕”

ภาคคณะสงฆ์มีทั้งหมด ๑๘ ภาค

เฉพาะภาค ๑๕ ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๘ นี้ กระทรวงวัฒนธรรมมอบหมายให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นผู้รับผิดชอบในการจัด

การประกวดสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัยทำนองสรภัญญะจัดขึ้นทุกปีโดยกระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้รับผิดชอบ

แต่ละจังหวัดเชิญโรงเรียนต่างๆ เข้าประกวด

โรงเรียนที่ชนะเลิศระดับจังหวัด (ระดับประถมศึกษา ๒ โรง ระดับมัธยมศึกษา ๒ โรง) ไปแข่งขันกันในระดับภาคคณะสงฆ์

โรงเรียนที่ชนะเลิศระดับภาคไปแข่งขันกันในระดับประเทศ

โรงเรียนที่ชนะเลิศระดับประเทศจะได้เข้ารับพระราชทานรางวัลในงานส่งเสริมพระพุทธศาสนาในเทศกาลวิสาขบูชาซึ่งจัดขึ้น ณ ท้องสนามหลวง

————

การประกวดสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัยทำนองสรภัญญะมีกติกาว่าทีมหนึ่งต้องมีผู้สวด ๕ คน 

บทที่สวดประกอบด้วย –

(๑) คำนมัสการพระรัตนตรัย (อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ภควา ฯลฯ สงฺฆํ นมามิ) 

(๒) นโม 

(๓) พุทธคุณ (อิติปิ โส ฯลฯ พุทฺโธ ภควาติ) 

(๔) องค์ใดพระสัมพุทธ 

(๕) ธรรมคุณ (สฺวากฺขาโต ฯลฯ วิญฺญูหีติ) 

(๖) ธรรมะคือคุณากร 

(๗) สังฆคุณ (สุปฏิปนฺโน ฯลฯ โลกสฺสาติ) 

(๘) สงฆ์ใดสาวกศาสดา 

(๙) พาหุํ ฯลฯ ชยสิทธิ นิจฺจํ 

(๑๐) ปางเมื่อพระองค์ปรมพุทธ

กติกาข้อหนึ่งคือ คำสวดที่เป็นภาษาบาลี (ยกเว้นคำนมัสการพระรัตนตรัย) ต้องสวดโดยทำนองสังโยค

————

การสวดมนต์ภาษาบาลีในประเทศไทยมีแบบหลักๆ ๒ แบบ คือ

(๑) สวดทำนองมคธ เป็นแบบของคณะธรรมยุต 

(๒) สวดทำนองสังโยค เป็นแบบของคณะมหานิกาย

สวดทำนองมคธ คือสวดหยุดเป็นท่อนๆ ตามความ ถ้าคำสวดเป็นคาถาก็สวดหยุดตามวรรคของคาถา

สวดทำนองสังโยค คือสวดติดต่อกันไปทุกคำไม่หยุด 

คำลหุสวดเสียงสั้น 

คำครุสวดเสียงยาว 

คำที่เป็นสังโยค คือมีตัวสะกด ถ้าสังโยคคำเป็น สวดเอื้อนไม่ขาดเสียง 

ถ้าสังโยคคำตาย สวดขาดเสียง

ยกตัวอย่างบทสังฆคุณ

…………

สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ อาหุเนยฺโย ปาหุเนยฺโย ทกฺขิเณยฺโย อญฺชลีกรณีโย อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติ

…………

สวดทำนองมคธ

(ขึ้น) สุปฏิปนฺโน

(รับพร้อมกัน) ภควโต สาวกสงฺโฆ /(หยุด)

อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ /(หยุด)

ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ /(หยุด)

สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ /(หยุด)

ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา /(หยุด)

เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ /(หยุด)

อาหุเนยฺโย /(หยุด)

ปาหุเนยฺโย /(หยุด)

ทกฺขิเณยฺโย /(หยุด)

อญฺชลีกรณีโย /(หยุด)

อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺสา-ติ.

สวดทำนองสังโยค

(ขึ้น) สุปฏิปนฺโน >

(รับพร้อมกันและสวดไม่หยุดเลยจนกว่าจะจบ) > ภควโต > สาวกสงฺโฆ > อุชุปฏิปนฺโน > ภควโต > สาวกสงฺโฆ > ญายปฏิปนฺโน > ภควโต > สาวกสงฺโฆ > สามีจิปฏิปนฺโน > ภควโต > สาวกสงฺโฆ > ยทิทํ > จตฺ /(สังโยคคำตาย สวดขาดเสียงเหมือนหยุด แต่ไม่หยุด) ตาริ > ปุริสยุคานิ > อฏฺ / ฐ > ปุริสปุคฺ / คลา > เอส > ภควโต > สาวกสงฺโฆ > อาหุเนยฺโย > ปาหุเนยฺโย > ทกฺ / ขิเณยฺโย > อญฺชลีกรณีโย > อนุตฺ / ตรํ > ปุญฺญกฺ / เขตฺ / ตํ > โลกสฺ / สา-ติ.

————

ที่เขียนมายืดยาวนี้ ก็คือจะบอกว่า การแข่งขันสวดมนต์หมู่ของภาค ๑๕ เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ปรากฏว่า ทีมที่ชนะเลิศจากจังหวัดหนึ่ง สวดบทสังฆคุณโดยทำนองมคธ คือหยุดเป็นท่อนๆ ซึ่งผิดกติกา

ประเด็นอยู่ตรงที่-เมื่อสวดผิดกติกาเช่นนี้ทำไมจึงได้รับการตัดสินให้ชนะเลิศระดับจังหวัด

ปรากฏการณ์เช่นนี้บอกนัยอะไรได้บ้าง

————

ถอยไปเมื่อสมัยที่ตั้งกระทรวงวัฒนธรรมยุคหลังนี้ และมีตำแหน่ง “วัฒนธรรมจังหวัด” ใหม่ๆ โรงเรียนที่ชนะเลิศจากจังหวัดเดียวกันนี้ก็สวดผิดแบบเดียวกันนี้

ปีนั้นผมได้ทักท้วงขึ้นในที่ประชุมกรรมการหลังจากเสร็จการแข่งขัน 

กรรมการที่เป็นผู้แทนจากจังหวัดนั้นก็โต้กลับว่า จังหวัดของท่านตัดสินถูกต้องตามกติกาทุกอย่างแล้ว

ผมเห็นว่าเป็นการเถียงด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล ก็จึงไม่สัประยุทธ์ด้วย 

แต่เมื่อกลับมาแล้วผมได้ทำหนังสือส่วนตัวถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น (งานประกวดสวดมนต์หมู่ฯ เป็นงานที่ทำในนามของจังหวัด) อธิบายเรื่องกติกาในการสวดแบบสังโยคให้ทราบอย่างละเอียด

จากปีนั้นถึงปีนี้ โรงเรียนที่สวดผิดกติกาในจังหวัดเดียวกันนี้ก็ยังคงได้รับการตัดสินให้ชนะเลิศระดับจังหวัดเหมือนเดิม

————

ปรากฏการณ์เช่นนี้บอกนัยอะไรได้บ้าง

ก็บอกนัยว่า ผู้ทำหน้าที่ตัดสินที่ไม่รู้กติกา หรือไม่เข้าใจกติกา หรือรู้เข้าใจ แต่เห็นอย่างอื่นสำคัญกว่า ซึ่งเรียกว่า “ไม่เคารพกติกา” นั้น สามารถตัดสินผิดให้เป็นถูกได้

กรณีเช่นนี้ใครจะว่าเป็นเรื่องเล็ก เป็นเรื่องไม่สำคัญ ก็ว่าไป

แต่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญมาก

————

สมมุติว่า กรรมการที่ไม่เคารพกติกาแบบนี้ไม่ได้มีอยู่ในจังหวัดเดียว แต่มีทั้ง ๔ จังหวัดในภาค ๑๕ แล้วตัดสินให้โรงเรียนที่สวดผิดกติกาชนะเลิศระดับภาค

อะไรจะเกิดขึ้น

แล้วถ้าสมมุติว่ากรรมการที่ไม่เคารพกติกาแบบนี้ไปอยู่ในคณะกรรมการที่ตัดสินระดับประเทศอีกด้วย

อะไรจะเกิดขึ้น

โรงเรียนที่สวดผิดกติกาก็จะได้เข้าไปรับพระราชทานรางวัลสบายไป

แบบนี้ยังเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กอีกหรือ

————

แล้วถ้าสมมุติว่า การตัดสินโดยไม่เคารพกติกาแบบนี้ขยายวงออกไปถึงกิจกรรมหรือการงานอื่นๆ อีกด้วย

เช่น หลักคำสอนในพระศาสนา หลักปฏิบัติ กิจวัตรกิจกรรมที่องค์กรทางศาสนากระทำกันอยู่ทั่วไปในสังคม

สอนอะไรออกไป ปฏิบัติอะไรลงไป ทำกิจวัตรกิจกรรมอะไรสู่สังคม ผิดถูกอย่างไรไม่สำคัญอีกแล้ว

สำคัญอยู่ที่จัดหา “คณะกรรมการ” ออกมาตัดสินหรือรับรองความถูกต้องให้ได้ ก็เป็นอันใช้ได้

ใครยังจะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กอีกหรือไม่

————

เรื่องที่ผมเล่ามาข้างต้นนั้นเกิดขึ้นในระยะเดียวกับที่กระแสสังคมพระศาสนาบ้านเรากำลังกระฉอกฉานไปด้วยการชี้ถูกเป็นผิดชี้ผิดเป็นถูกอยู่พอดี

เหมือนเป็นคำเตือนว่า ปรากฏการณ์กลับตาลปัตรแบบนี้นับวันจะทวีมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

แล้วจะทำอย่างไรกัน ?

————

วิธีทำที่ได้ผลแน่นอนที่สุดก็คือ หมั่นศึกษาให้รู้หลักที่ถูกต้องในเรื่องต่างๆ-โดยเฉพาะหลักพระศาสนา 

ทำอย่างไรถูก ทำอย่างไรผิด 

คำสอนแบบไหนถูก แบบไหนผิด 

ปฏิบัติแบบไหนถูก-ผิดอย่างไร 

ฯลฯ 

หมั่นศึกษาสำเหนียกเอาไว้ให้แม่น

ไม่เกินกำลังความรู้หรอกครับ

การศึกษาเรียนรู้จนรู้ทัน-นี่เท่านั้นที่จะรักษาตัวเองไว้ได้

และจะช่วยรักษาพระศาสนาที่บริสุทธิ์ไว้ได้ด้วย

อย่าไปหวังพึ่งใครอื่นครับ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ หรือองค์กรโน่นนี่นั่น

เพราะป่านนี้อาจกลายเป็นตรายางสำเร็จรูปไปหมดแล้ว

พึ่งตัวเองดีที่สุด

ช่วยกันรู้ทันได้มากเท่าไร ก็ปลอดภัยได้มากเท่านั้น

แม้คนหน้าด้านอาจจะไม่อายคนรู้ทัน

แต่คนรู้ทันก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อ

ต่อจากนั้นจะชักชวนกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนขึ้นอีก ก็ทำกันไป

แต่ต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน

เรียนจนรู้

รู้จนรู้ทัน

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๑ มีนาคม ๒๕๕๘

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *