บรรยเวกษก์ (บาลีวันละคำ 1,547)
บรรยเวกษก์
เด็กหอรุ่นใหม่คงไม่รู้จักคำนี้กันแล้ว
อ่านว่า บัน-ยะ-เวก
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บรรยเวกษก์ : (คำนาม) ผู้ดูแลทั่วไป เป็นตําแหน่งในวิทยาลัย. (ส. ปริ + อว + อีกฺษก).”
พจน.54 บอกว่า “บรรยเวกษก์” เป็นคำสันสกฤต ประกอบด้วย ปริ + อว + อีกฺษก
“บรรยเวกษก์” เทียบบาลีเป็น “ปริยเวกฺขก” (ปะ-ริ-ยะ-เวก-ขะ-กะ) ประกอบด้วย ปริ (คำอุปสรรค = รอบ, ทั่วๆ ไป) + อว (คำอุปสรรค = ลง) + อิกฺขก (ผู้เห็น, ผู้มอง), ลง ย อาคมระหว่าง ปริ + อว (ปริ + ย + อว), แผลง อิ ที่ อิกฺขก เป็น เอ (อิกฺขก > เอกฺขก)
: ปริ + ย + อว = ปริยว + อิกฺขก = ปริยวิกฺขก > ปริยเวกฺขก (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดูลงมาโดยรอบ”
กระบวนการกลายรูปในภาษาไทย :
(1) “ปริ” แผลงเป็น “บรร” สนธิกับ “อว” ลง ย อาคม
: บรร + ย + อว = บรรยว
(2) “อิกฺขก” สันสกฤตเป็น “อีกฺษก” แผลงเป็น “เอกฺษก” เขียนแบบไทยเป็น “เอกษก” แล้วการันต์ที่ ก ท้ายคำ เป็น “เอกษก์” อ่านว่า เอก
(3) บรรยว + เอกษก์ = บรรยเวกษก์
ปริ > บรร + ย + อว = บรรยว + อีกฺษก = บรรยวีกษก > บรรยเวกษก > บรรยเวกษก์
“บรรยเวกษก์” เป็นศัพท์บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า superintendent
พจนานุกรมฉบับอาจารย์เปลื้อง ณ นคร บอกไว้ดังนี้ –
“บรรยเวกษก์ : (สก. ปริ + อว + อีกฺษก) (คำนาม) ผู้ดูแลทั่วไป เป็นตำแหน่งในวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย, เทียบคำ (อก. superintendent).”
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล superintendent เป็นบาลีว่า –
(1) kammantanāyaka กมฺมนฺตนายก (กำ-มัน-ตะ-นา-ยะ-กะ) = ผู้นำในการทำงาน, ผู้เป็นหัวหน้าในการทำงาน
(2) ajjhakkhaka อชฺฌกฺขก (อัด-ชัก-ขะ-กะ) = ผู้ตรวจสอบภายใน
(3) avekkhaka อเวกฺขก (อะ-เวก-ขะ-กะ) “ผู้มองลงมา” = ผู้ตรวจสอบทั่วไป
“บรรยเวกษก์” เป็นตำแหน่งที่เคยรู้จักกันดีในหมู่นิสิตนักศึกษาที่พักอยู่ประจำในหอพักของวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย มีหน้าที่ตรวจตราดูความเป็นอยู่ของนิสิตนักศึกษาในหอพักว่าอยู่กันเรียบร้อยดีหรือไม่ หากเห็นสิ่งที่ไม่สมควรก็จะตักเตือน กวดขันให้อยู่ในระเบียบวินัยของหอพัก
ควรภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อนที่สามารถคิดสร้างสรรค์ถ้อยคำอันวิจิตรอลังการขึ้นใช้ในภาษาไทยแทนคำฝรั่ง-ในขณะที่คนรุ่นใหม่พอใจที่จะใช้คำทับศัพท์กันเป็นส่วนมาก
เหตุผลข้อหนึ่งที่อ้างกันก็คือ-ใช้ตามฝรั่งดีที่สุด เอาเวลาที่คิดบัญญัติศัพท์ไปคิดพัฒนาบ้านเมืองดีกว่า
เข้าใจว่า เด็กหอรุ่นใหม่คงไม่รู้จักคำนี้กันแล้ว
: ถ้ารู้จักกวดขันตนเองได้อย่างเอก
: แม้จะไม่รู้จักบรรยเวกษก์ก็ปลอดภัย
29-8-59