วิปริต (บาลีวันละคำ 1,026)
วิปริต
อ่านว่า วิ-ปะ-หฺริด, วิบ-ปะ-หฺริด
บาลีเป็น “วิปรีต” อ่านว่า วิ-ปะ-รี-ตะ
“วิปรีต” รากศัพท์มาจาก วิ (วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ปริ (รอบ, ทั่วไปหมด) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, ดำรงอยู่) + ต ปัจจัย, ยืดเสียง อิ (ที่ ปริ) เป็น อี
: วิ + ปริ + อิ = วิปริ > วิปรี + ต = วิปรีต แปลตามศัพท์ว่า “ถึงอาการผิดแปลกทั่วไปหมด” “ดำรงอยู่อย่างผิดแปลกทั่วไปหมด” หมายถึง วิปริต, เปลี่ยนกลับ, เปลี่ยนแปลง, ไม่แน่นอน; ผิด, ทำให้ผิดหวังหรือคว่ำ (reversed, changed; equivocal; wrong, upset)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิปริต : (คำกริยา) แปรปรวน, ผิดปรกติ, ผิดแนวทาง, แปรปรวนไปข้างร้าย, กลับกลายไปข้างร้าย. (ป.; ส. วิปรีต).”
โปรดสังเกต :
(1) วิปริต-ไทย -ปริ– สระ อิ แต่บาลีเป็น วิปรีต -ปรี– สระ อี
(2) –ปริต– อ่านเรียงพยางค์เป็น -ปะ-หฺริด ไม่ใช่คำควบกล้ำ -ปฺริด
ความหมายเด่นของ “วิปริต” ก็อย่างเช่น :
ทำผิด ได้รับการตัดสินว่าถูก
ทำถูก ได้รับการตัดสินว่าผิด
กรณีศึกษา :
ผู้เขียนบาลีวันละคำเป็นสมาชิก Facebook ใช้ชื่อเป็นอักษรไทยว่า “นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย”
“นาวาเอก” เป็นยศทางทหารเรือ ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
“ทองย้อย” เป็นชื่อที่บิดามารดาตั้งให้ตั้งแต่เกิด (ไม่ใช่ชื่อที่เปลี่ยนภายหลัง)
“แสงสินชัย” เป็นนามสกุลของบิดาซึ่งใช้ตามนามสกุลของปู่ และปู่ของปู ฯลฯ
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2558 เวลาประมาณ 19:00 ผู้เขียนบาลีวันละคำได้เข้าไปที่ Facebook ซึ่งเปรียบเหมือนเข้าห้องรับแขกตามปกติ
แต่ Facebook ไม่อนุญาตให้เข้า ไม่ว่าจะให้ใส่อีเมล์ ใส่หมายเลขโทรศัพท์ ใส่รหัสผ่านตามคำสั่งอย่างใดๆ ก็ปฏิบัติตามทุกอย่าง แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาต
เหตุผลข้อเดียวที่ Facebook อ้างก็คือ “คุณไม่ได้ใช้ชื่อจริง”
: ที่ใด บอกว่าผิดเป็นถูก หรือบอกว่าถูกเป็นผิด
: ที่นั่น วิปริตรับประทาน
10-3-58