บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ดูกันที่ตรงไหน

ดูกันที่ตรงไหน

—————-

ไม่ทราบว่าใครเป็นคนเรียกกิจกรรมในวันพรุ่งนี้ (๗ สิงหาคม) ว่า “ออกเสียงประชามติ” รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ในความเข้าใจของผม ลงประชามติพรุ่งนี้ก็คือการเลือกตั้งนั่นเอง ไม่มีอะไรต่างกันเลย

ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ถ้าจะเรียกให้เป็นพรรคการเมือง ก็คือพรรคร่างรัฐธรรมนูญ กับพรรคตั้งนายก

ใครจะเลือกพรรคใดพรรคหนึ่ง เลือกทั้งสองพรรค หรือไม่เลือกทั้งสองพรรค ก็เป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ ไม่มีใครบังคับ

—————-

เราส่วนมากถูกกล่อมให้เข้าใจว่า การบริหารบ้านเมืองมีวิธีเดียวคือวิธีเลือกตั้ง 

ถ้าได้มีการเลือกตั้ง เราก็สมใจแล้วว่าคนที่เข้าไปบริหารบ้านเมืองเป็นคนที่ประชาชนเลือกเข้าไป 

ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขให้คนพวกนั้นยืดอกประกาศว่า “ข้ามาจากการเลือกตั้งนะโว้ย”

ถ้าไม่ถูกใจ คราวหน้าเราก็ไม่เลือกพรรคนั้นหรือไม่เลือกบุคคลนั้นอีก คือให้พรรคอื่นคนอื่นเข้ามาบริหารบ้าง ต่างจากเผด็จการตรงที่-จะถูกใจหรือไม่ถูกใจ ก็เปลี่ยนตัวไม่ได้

แต่ถ้าตามไปดูกระบวนการเข้าไปบริหารบ้านเมืองโดยผู้ที่มาจากการเลือกตั้งในบ้านเรา ก็จะพบความจริงว่า ไม่ว่าพรรคไหนหรือบุคคลไหนล้วนเข้าไปบริหารเพื่อประโยชน์ของตัวและพวกพ้องของตัวทั้งสิ้น

กรุณาขีดเส้นใต้คำว่า “ทั้งสิ้น” 

เอาประโยชน์ของประชาชนโรยหน้า

แต่ลึกลงไปใต้นั้นคือประโยชน์ของตัวและพวกพ้องของตัว

เปลี่ยนกี่พรรค กี่คน กี่ครั้ง พรรคใหม่คนใหม่ที่เข้ามาก็ทำเหมือนกันทั้งนั้น

เหมือนนิทานเรื่องฝูงเหลือบ

ไล่เหลือบฝูงเก่าออกไป ก็จะมีเหลือบฝูงใหม่เข้ามาสูบเลือดอีก

เผด็จการเลวตรงที่เป็นเหลือบฝูงเดียวสูบเลือดประเทศชาติ

เลือกตั้งดีตรงที่ได้ผลัดกันเป็นเหลือบฝูงใหม่เข้ามาสูบเลือดประเทศชาติ

จะแถมอีกอย่างก็ได้ คือถ้าเลือกตั้ง ประชาชนก็จะมีโอกาสได้รับแจกเงินจากการซื้อเสียง 

อันเป็นที่มาของคำพูดและความคิดที่ว่า-เงินร้อยสองร้อยพันครึ่งพัน สำหรับชาวบ้านแล้วมีค่ามากมายนัก เพราะมันหมายถึงกับข้าวหลายมื้อ ค่าเสื้อผ้า ค่าเทอมให้ลูกได้เล่าเรียน ฯลฯ

ประชาชนคิดกันได้แค่นี้

โปรดมองข้อเท็จจริงตรงนี้ให้ชัด จะได้ไม่หลงติดอยู่กับรูปแบบ-เลือกตั้ง ไม่เลือกตั้ง

—————-

ถ้าอยากได้คนที่เข้าไปบริหารบ้านเมืองที่ดีจริงๆ ต้องเลือกพระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์คือคนที่ตั้งใจอุทิศชีวิตเพื่อประโยชน์ของปวงชน โดยไม่คิดถึงประโยชน์ของตัวเองแม้แต่น้อย

นักเลือกตั้ง นักหาเสียง และแม้แต่พรรคการเมือง ล้วนแสดงตัวในคราบพระโพธิสัตว์ทั้งนั้น แต่ไม่ใช่พระโพธิสัตว์ตัวจริง

ขอให้สังเกตเถิดว่า ท่านเหล่านั้นทั้งหมดจะทำงานที่อ้างว่า-เพื่อประโยชน์ของปวงชน-ก็ต่อเมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วเท่านั้น

คนที่ตอนหาเสียงประกาศคึกคักว่าจะทำงานเพื่อประโยชน์ของปวงชน ถ้าไม่ได้รับเลือกตั้งก็จะหายหน้าไปหมดสิ้น

แม้แต่คนที่ได้รับเลือกตั้งก็เช่นกัน ถ้ากลับกัน คือถ้าไม่ได้รับเลือกตั้ง เขาก็จะหายหน้าไปแบบเดียวกันนั่นเอง

แสดงให้เห็นว่านั่นเป็นสันดานที่แท้จริง

ที่ชัดเจนมากๆ ก็คือในเวลาปัจจุบันนี้เอง ประเทศชาติมีปัญหา ต้องการคนมีสติปัญญาช่วยกันแก้ไข แต่ปรากฏว่านักการเมืองทั้งหลายที่เคยประกาศตัวว่าต้องการทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติและประชาชนนั้นหายเงียบไปหมด 

ไม่มีใครรู้ว่าเวลานี้ท่านเหล่านั้นไปทำอะไรอยู่ที่ไหนจึงไม่ออกมาช่วยกัน ก็ไหนประกาศว่ารักชาติรักประชาชน

เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนแล้วว่าท่านเหล่านั้นจะทำงานที่อ้างว่า “เพื่อประชาชน” ก็ต่อเมื่อมีตำแหน่ง-ซึ่งหมายถึงมีช่องทางแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้อง-เท่านั้น

พูดอย่างนี้ เคยมีคนแก้แทนให้ว่า นักการเมืองท่านนั้นท่านโน้นท่านก็ยังบำเพ็ญประโยชน์เพื่อท้องถิ่นของท่านอยู่ แต่คนต่างถิ่นไม่รู้เอง

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ขออนุโมทนาสาธุ

แต่ธรรมชาติอย่างหนึ่งของท่านจำพวกนั้นก็คือทำอะไรต้องประกาศให้ชาวบ้านรู้ เชื่อเถอะ

นักการเมืองระดับชาติคนหนึ่งที่บ้านผม เป็น ดร. ถนัดมากเรื่องการแสดงตัว ประกาศตัวเพื่อหาเสียง 

เมื่อไม่นานมานี้ผมไปงานเผาศพท่านผู้มีชื่อท่านหนึ่ง นักการเมืองท่านนี้ก็แต่งสูทไปยกมือไหว้คนทั่วทั้งงาน แต่ที่สุดยอดก็คือท่านเอารถที่ติดชื่อพรรคเห็นเด่นเป็นสง่าไปจอดไว้ใกล้ทางลงจากเมรุ เจตนาก็คือเมื่อคนเดินลงจากวางดอกไม้จันทน์จะต้องเห็นชื่อพรรคของท่าน

การหาเสียงกับงานศพ ท่านผู้นี้จะถนัดมากเป็นพิเศษ บางงานถึงกับมีการต่อว่าต่อขานเจ้าภาพว่า คนระดับท่านไปงานแล้วทำไมไม่เชิญขึ้นทอดผ้า

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ขณะที่คนกำลังขึ้นวางดอกไม้จันทน์ ท่านใช้ความสามารถดึงไมค์มาจากพิธีกรแล้วบรรยายเจื้อยแจ้วถึงนโยบายของพรรคของท่านให้คนที่กำลังเผาศพฟัง

สาบานได้ เพราะผมอยู่ในที่เกิดเหตุด้วย

พูดอย่างนี้คงมีคนแก้แทนให้อีกว่า ที่ไหนๆ เขาก็ทำแบบนี้กันทั้งนั้น

ก็เพราะเราไปยอมรับพฤติการณ์แบบนี้กันเองนี่แหละ ท่านเหล่านั้นจึงมองเห็นประชาชนเป็นสนามปฏิบัติการทางการเมืองหรือเป็นปุ๋ยอันโอชะอยู่ในทุกวันนี้

ถ้านักการเมืองทั้งหลายยังคงทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติและประชาชนอยู่ทุกวัน ก็ขออนุโมทนา และเพราะเช่นนั้นจึงเป็นการยืนยันว่า ไม่ต้องมีตำแหน่งก็ทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองได้ เลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้งไม่ใช่เรื่องสำคัญ

นั่นแหละครับที่เริ่มจะเป็นพระโพธิสัตว์ขึ้นมาบ้างแล้ว

ทั้งหมดที่เขียนมานี้ ไม่ได้แปลว่าผมไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง หรือว่าผมปลื้มกับเผด็จการทหาร 

ผมเพียงแต่พยายามบอกว่า อย่าติดกับระบบจนไม่ได้มองเนื้อแท้ หรือปลื้มกับต้นทาง แต่ไม่ได้ตามไปดูผลที่ปลายทาง

—————–

ประเด็นที่มีคนพูดกันมากก็คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีใครสักกี่คนที่ได้อ่านได้ศึกษาอย่างแท้จริง โดยเฉพาะชาวบ้านร้านตลาดธรรมดาๆ ทั้งหลาย ก่อนจะให้เขารับหรือไม่รับ มีใครเคยถามเขาก่อนไหมว่าเขารู้สาระข้างในนั้นดีแล้วหรือยัง

ประเด็นแบบนี้ผมเห็นว่า ไม่มีความแตกต่างกันเลยกับประเด็นนโยบายของพรรคการเมืองหรือของผู้สมัครรับเลือกตั้ง 

ถ้าจะถามแบบเดียวกันว่า มีใครสักกี่คนที่รู้นโยบายของพรรคการเมืองหรือของผู้สมัคร นอกจากป้ายโฆษณาหรือเอกสารที่พิมพ์แจกหาเสียงแล้ว ประชาชนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับพรรคการเมืองพรรคนั้นและนักการเมืองคนนั้น 

นอกจากคำพูดบนเวทีหาเสียงแล้ว มีใครบ้างที่เคยตามไปฟังเวลาเขาคุยกันในวงข้าววงเหล้าในหมู่พวกพ้องของเขาเอง เวลาที่เขาปรึกษาหารือกันในหมู่พรรคพวกของเขา ในหมู่ญาติพี่น้องของเขา ที่เป็นเนื้อเป็นตัวจริงๆ ของเขา มีประชาชนคนไหนรู้เบื้องหลังเบื้องลึกของเขาบ้าง

ฉันใดก็ฉันนั้น

เพราะฉะนั้น อย่ากังวลกับประเด็นนั้น

ถ้าเห็นด้วย ก็ช่วยกันออกไปกาเห็นด้วย

ถ้าไม่เห็นด้วย ก็ช่วยกันออกไปกาไม่เห็นด้วย

แฟร์ที่สุดอยู่แล้ว

แต่จะไม่ร่วมมือเพราะไม่พอใจกับระบบนั่นนี่โน่น ไม่ถูกต้องครับ

ไม่พอใจก็ต้องออกไปกา เพื่อแสดงความไม่พอใจให้ปรากฏ 

ถ้าอยากได้ประชาธิปไตย ก็นี่ไงละคือระบบของประชาธิปไตย คือไปช่วยกันออกเสียง

กาโน หรือกาเยส ก็คือการออกเสียง

เป็นประชาธิปไตยที่สุดอยู่แล้ว จะไปรอประชาธิปไตยแบบไหนกันอีก

ถ้าจะรอ ก็ควรรอดูกันตรงที่ว่า ใครทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนแค่ไหน 

ตอนนี้ใครกำลังทำ 

ใครแม้สามารถทำได้ก็ไม่ทำ

จะรอแต่เลือกตั้ง จะต้องให้มีตำแหน่ง ไม่งั้นไม่ทำ

ดูกันที่ตรงนั้นดีกว่า

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๖ สิงหาคม ๒๕๕๙

๑๒:๒๘

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *