บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จากใจของผู้เถียงแทนพระเณร

จากใจของผู้เถียงแทนพระเณร

——————————

สามเณรจับต้องตัวผู้หญิง

ผิดหรือไม่?

ตอบตามหลักพระธรรมวินัย

อย่าใช้ความเข้าใจส่วนตัว

………… 

เมื่อถามอย่างนี้ และตีกรอบเงื่อนไขการตอบไว้อย่างนี้ คนส่วนมากก็จะบ่นด้วยความหงุดหงิดว่า-แล้วฉันจะไปรู้ได้ยังไงว่าหลักพระธรรมวินัยท่านว่าไว้อย่างไร ฉันไม่ได้มีเวลาทั้งชีวิตที่จะมานั่งเรียนพระธรรมวินัยนะยะพ่อคุณ ฯลฯ

เวลานี้ปัญหาใหญ่ของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงนี้-อยู่ตรงที่ผู้นับถือพระพุทธศาสนาไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย 

ชาวบ้านทั่วไปไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยก็ยังพอว่า

แต่เวลานี้ แม้แต่พระภิกษุสามเณรทั่วไปก็ไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย 

อาจมีการเรียนนักธรรม เรียนบาลี ตามหลักสูตร

แต่ไม่ได้เรียนพระธรรมวินัย 

เวลานี้การเรียนนักธรรมเรียนบาลีตามหลักสูตร มุ่งเรียนเพื่อสอบได้ 

ไม่ได้มุ่งเรียนเพื่อรู้เข้าใจพระธรรมวินัย > เพื่อเอาพระธรรมวินัยไปปฏิบัติให้ถูกต้อง > เพื่อให้บรรลุผลที่พึงประสงค์ในการที่มานับถือพระศาสนา ตลอดจน-ในการเข้ามาอยู่ในพระธรรมวินัยนั้นเอง

ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่เป็นไปแล้ว และกำลังเป็นอยู่

เวลานี้มีความคิดความเห็นที่กำลังมาแรง นั่นคือ ความคิดความเห็นที่ว่า-สภาพสังคมปัจจุบัน ถ้าปฏิบัติตามพระธรรมวินัย พระเณรจะอยู่ไม่ได้ 

แม้อยู่ได้ ก็อยู่ด้วยความลำบากอย่างยิ่ง

ญาติมิตรทั้งหลายฟังแล้ว มีความเห็นอย่างไร?

เคยเจอหรือไม่-เวลาใครตำหนิการกระทำที่ไม่ถูกต้องของพระเณร จะมีท่านจำพวกหนึ่ง-บางทีก็รวมทั้งพระภิกษุสามเณรด้วย-ออกมาทักท้วงว่า พระเณรท่านมีศีลมากกว่าคุณ พระท่านถือศีล ๒๒๗ เณรถือศีล ๑๐ คุณเองศีล ๕ ก็ยังรักษาไม่ได้ ยังจะมีหน้ามาว่าพระเณรอีกหรือ ทำตัวเองให้ดีก่อนเถิด

ผมเคยโดนมาแล้วครับ (แถมมีลูก follow ด้วยว่า อยากได้พระดี โยมก็มาบวชแล้วเป็นพระดีเสียเองสิ ฮ่า ฮ่า ฮ่า-มีเสียงหัวเราะเยาะตามมาด้วยแบบนี้จริงๆ)

เวลาหนึ่งบอกว่า พระท่านถือศีล ๒๒๗ ข้อ เณรถือศีล ๑๐ ข้อ (ศีลท่านมากกว่าคุณนะจะบอกให้)

แต่อีกเวลาหนึ่งบอกว่า ถ้าปฏิบัติตามพระธรรมวินัย-ก็คือถือศีลตามที่ว่านั่นแหละ-พระเณรจะอยู่ไม่ได้ 

ตกลงว่า-จะเอายังไงกันแน่? 

พระธรรมวินัยคือตัวชี้วัดตัดสินความเป็นภิกษุสามเณร 

กลับกลายเป็นว่า-ต้องยกเว้นพระธรรมวินัย ต้องไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย จึงจะเป็นเป็นภิกษุสามเณรอยู่ได้ 

ใช้ตรรกะแบบไหนคิด? 

ขอแก้แทนให้หน่อยหนึ่งว่า-ที่ว่าปฏิบัติตามพระธรรมวินัย พระเณรจะอยู่ไม่ได้-นั้น ไม่ได้แปลว่าจะยกเลิกพระธรรมวินัยทั้งหมด แต่หมายความว่า-ขออนุญาตละเว้นพระธรรมวินัยบางข้อเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้การดำรงชีพหรือการดำเนินชีวิตของพระเณรเป็นไปได้ด้วยความสะดวก-แค่นี้เท่านั้น 

ทำนองเดียวกับความคิดเห็นบางกระแสที่ว่า-อย่าเกณฑ์ให้พระเณรไปนิพพานกันหมดเลย ให้ท่านอยู่เฝ้าวัดอยู่กับสังคมบ้างเถิด 

ตรงนี้แหละครับที่ควรคิดให้รอบคอบ 

………………….

แวะตรงนี้นิดหนึ่ง 

เมื่อใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า เมื่อพระองค์ล่วงลับไปแล้ว ถ้าสงฆ์จะถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้าง ก็ได้ 

พระเถระท่านหนึ่งเคยแสดงความเห็นว่า-กรณีพระรับเงิน-ใช้เงิน จะว่าไปก็เป็นอาบัติเล็กน้อย ก็คือเป็นสิกขาบทเล็กน้อย ที่มีพุทธานุญาตให้ยกเลิกได้ เป็นข้อหนึ่งที่สมควรยกเลิก

พระเถระท่านนั้นแสดงความเห็นตามความเข้าใจของท่านต่อไปว่า กรณีสิกขาบทเล็กน้อยเป็นกรณีที่ยังไม่ได้ยกขึ้นสู่การสังคายนา ถ้าได้ยกขึ้นสู่การสังคายนาตั้งแต่ครั้งแรก (ปฐมสังคายนา ทำเมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานล่วงแล้ว ๓ เดือน) พระอรหันต์สมัยนั้นท่านก็คงถอนสิกขาบทข้อนี้ไปแล้ว 

เวลานั้นผมไม่อยู่ในฐานะที่จะไปโต้แย้งความเห็นของท่านได้ 

แต่ผมอยู่ในฐานะที่จะบอกเล่าความเป็นจริงตามหลักฐานในพระธรรมวินัยให้สาธุชนทราบทั่วกันได้ว่า-กรณีสิกขาบทเล็กน้อยเป็นกรณีที่ได้ยกขึ้นสู่การสังคายนาตั้งแต่ครั้งแรกไปเรียบร้อยแล้ว

ย้ำ-ยกขึ้นสู่การสังคายนาแล้ว ไม่ใช่ยังไม่ได้ยก 

นี่คือความบกพร่องอันเกิดจากการไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย 

ในคัมภีร์พระวินัย ท่านบรรยายเหตุการณ์ไว้โดยละเอียดว่าที่ประชุมสงฆ์ได้ยกปัญหา “สิกขาบทเล็กน้อย” ขึ้นพิจารณากันว่าอย่างไร 

ขอนำการอภิปรายประเด็น “สิกขาบทเล็กน้อย” ในที่ประชุมสังคายนาตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๖๒๐ มาเสนอเพื่อให้เห็นบรรยากาศ ดังต่อไปนี้  

…………………

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้ชี้แจงต่อพระเถระทั้งหลายว่า ท่านเจ้าข้า เมื่อจวนจะปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะข้าพเจ้าว่า ดูก่อนอานนท์ เมื่อเราล่วงไป สงฆ์จำนงอยู่ จะพึงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียก็ได้ 

พระเถระทั้งหลายถามว่า ท่านอานนท์ ก็ท่านทูลถามพระผู้มีพระภาคหรือเปล่าว่าสิกขาบทเหล่าไหนเป็นสิกขาบทเล็กน้อย 

ท่านพระอานนท์ตอบว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ทูลถาม 

พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย 

พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย 

พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้น อนิยต ๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย 

พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย 

พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย 

พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ เว้นปาฏิเทสนียะ ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย 

…………………

ถ้าใช้สำนวนการรายงานข่าวก็ต้องบอกว่า “ที่ประชุมอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง” 

ถ้าลองอ่านย้อนขึ้นไปก็จะเห็นว่า สิกขาบทที่ไม่มีใครฝ่ายไหนเห็นว่าเป็น “สิกขาบทเล็กน้อย” ก็มีเพียงปาราชิก ๔ สิกขาบทเท่านั้น 

นอกนั้นถูกลงความเห็นว่าเป็น “สิกขาบทเล็กน้อย” หมดสิ้น 

ถ้าที่ประชุมสงฆ์ในเวลานั้นลงมติให้ถอน “สิกขาบทเล็กน้อย” ได้ตามพระพุทธานุญาต จะเกิดอะไรขึ้น?

ไม่ต้องถามก็บอกได้ทันทีว่า ศีลของพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเถรวาทก็จะเหลือเพียง ๔ ข้อเท่านั้น-คือมีแค่ปาราชิก ๔ ห้ามร่วมประเวณี ห้ามลักทรัพย์ ห้ามฆ่าคน และห้ามอวดมรรคผล

น้อยกว่าศีล ๕ ของชาวบ้านเสียด้วยซ้ำ

เป็นลาภอันประเสริฐนักหนาที่บรรพบุรุษของคณะสงฆ์ท่านมีสายตายาวไกล มีมติออกมาเป็นนโยบาย ๓ ข้อ คือ –

(๑) ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติไว้ 

(๒) ไม่ถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว 

(๓) สมาทานประพฤติในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติไว้ 

และนโยบาย ๓ ข้อนี้ก็เป็นหลักการของคณะสงฆ์เถรวาทตั้งแต่นั้นมาจนถึงทุกวันนี้ 

นโยบายหรือหลักการทั้ง ๓ ข้อนี้ยังมีเงื่อนแง่อันเป็นรายละเอียดอีกมาก ควรที่ผู้รักพระศาสนาจะได้ช่วยกันศึกษาต่อไป

ประเด็นที่ควรช่วยกันพิจารณาให้จงมากก็คือ จะชี้แจงกันอย่างไรต่อความเห็นที่ว่า-ถ้าปฏิบัติตามพระธรรมวินัย พระเณรจะอยู่ไม่ได้

ควรช่วยกันพิจารณาหาทางออกว่า-ทำอย่างไรจึงจะช่วยให้พระภิกษุสามเณรปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้ครบถ้วนด้วย แล้วก็อยู่เป็นพระภิกษุสามเณรได้อย่างสะดวกตามสมควรแก่อัตภาพด้วย 

ทำอย่างไร และต้องทำอย่างไร โปรดช่วยกันคิด 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง-ผู้มีหน้าที่บริหารการพระศาสนา-สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องลงมือคิดเรื่องนี้

การอยู่ไปวันๆ โดยไม่คิด

คือการประหารชีวิตตัวเอง

————————

ยังมีปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่น่าจะสำคัญมาก นั่นก็คือ เวลานี้ เท่าที่สังเกตเห็น นอกจากจะไม่ศึกษาพระธรรมวินัยแล้ว พระเณรของเรามีความโน้มเอียงที่จะหันไป “เรียนทางโลก” กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน 

พูดกันตรงๆ นักธรรมตรี โท เอก หรือแม้กระทั่งบาลีประโยค ๙ กำลังจะหมดความสำคัญลงไปทุกวัน (ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าสอบได้แล้วเอาไปใช้ทำอะไรกันบ้าง)

ตรงกันข้าม พระเณรที่จบปริญญา-แบบที่ชาวโลกเขาจบกัน-กำลังจะมีรัศมีรุ่งเรืองขึ้นทุกวัน 

ในระยะเริ่มแรก มีระเบียบว่า พระเณรที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยสงฆ์ต้องสอบเปรียญธรรมได้อย่างต่ำ ๔ ประโยค จึงจะมีสิทธิ์เข้าเรียน 

เวลานี้ไม่ต้องแล้ว-ไม่ได้สักประโยคก็เข้าเรียนได้ 

นั่นหมายความว่า-โดยทฤษฎี ไม่ต้องเรียนพระธรรมวินัยเลย พระเณรก็ไปเรียนเพื่อเอาปริญญาแบบทางโลกได้ทันที 

เดิมทีมหาวิทยาลัยสงฆ์มีระเบียบว่าหยุดเรียนวันพระ 

แต่ ณ วันนี้ ได้ทราบว่า มีบางแผนกบางส่วนเปิดทำการโดยไม่ได้ถือวันพระเป็นหลัก คือถ้าวันนั้นไม่ใช่วันหยุดของทางบ้านเมือง แม้เป็นวันพระก็ไม่หยุด 

เวลานี้ก็ยังเป็นเพียงบางแผนก บางส่วน หรือบางกิจกรรมไปก่อน 

แต่ทายได้เลยว่า อีกไม่นานเกินรอ มหาวิทยาลัยสงฆ์จะไม่หยุดวันพระอีกต่อไป หากแต่จะหยุดตามวันหยุดของทางบ้านเมือง

————————

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ผมพยายามชี้ให้เห็นภาพรวมว่า เรากำลังลดความสำคัญของพระธรรมวินัยลงไปทุกที ทุกทาง ทุกวัน-ใช่หรือไม่? 

และทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ผมไม่ได้ต่อต้านระบบการศึกษาของพระเณรที่กำลังทำกันอยู่ 

ผมเพียงแต่กำลังพยายามจะบอกว่า ถ้าจะรักษาพระศาสนา ต้องศึกษาพระธรรมวินัย 

ถ้าเรายังละเลยการศึกษาพระธรรมวินัยกันอยู่อย่างนี้ อีกไม่นานจะไม่มีใครรู้ว่า “พระธรรมวินัย” คืออะไร 

แม้รู้ ก็จะไม่เข้าใจและไม่ตระหนักว่า พระธรรมวินัยสำคัญอย่างไร 

อาจรู้ไว้เพียงเพื่อเอาไว้พูดถึงอย่างเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ไม่มีใครเอามาปฏิบัติจริงจัง

และในที่สุดอาจถึงขั้นที่ว่า ใครพูดถึงพระธรรมวินัยจะถูกมองว่าเร่อร่าล้าสมัย 

ดังที่เวลานี้ก็เริ่มได้ยินมีคนพูดแว่วๆ แล้วว่า-พระธรรมวินัยเป็นของมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ถือว่าเป็นของโบราณแล้ว อาจไม่เหมาะกับยุคสมัยปัจจุบัน

ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมวินัย เราจะตอบแก้ความคิดเห็นแบบนี้ไม่ได้ 

และผู้ที่ต้องศึกษาพระธรรมวินัยอย่างเป็นวาระสำคัญของชีวิต ก็คือพระภิกษุสามเณร 

รวมทั้งชาวบ้านทั่วไป-อย่างพวกผมนี่แหละ 

และคำว่า “ศึกษา” ในความหมายของภาษาบาลี-ซึ่งก็คือความหมายของพระพุทธศาสนา-ไม่ใช่แค่อ่านหนังสือ ท่องจำ สอบได้ แต่หมายรวมไปถึงการลงมือกระทำ คือการประพฤติปฏิบัติจนถึงระดับเป็น “วิถีชีวิต” 

ถึงเวลาทำวัตรสวดมนต์ ก็ต้องทำวัตรสวดมนต์ 

ไม่ใช่งดทำวัตรสวดมนต์โดยอ้างว่า ต้องเตรียมตัวดูหนังสือสอบรายวิชา LA 201 

งดทำอุโบสถสังฆกรรม โดยอ้างว่าต้องไปประชุมร่างหลักสูตร … 

งดบิณฑบาต

งดกวาดอาวาสวิหารลานพระเจดีย์

ฯลฯ

ถ้าเป็นแบบนี้ พระธรรมวินัยก็วิปริต 

วิถีชีวิตของสงฆ์ก็วิปลาส 

และนั่นก็คือความวินาศของพระศาสนา

จะเรียนเอาปริญญาก็เรียนไป ดี จะได้มีความรู้ มีวุฒิ หากจะลาสิกขาออกไป ก็ยังสามารถเลี้ยงตัวได้ 

แต่ศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยเป็นกิจที่ต้องทำ 

ผมชื่นชมพระเณรที่เรียนเอาปริญญา และเป็นปากเสียงเถียงแทนมาตลอด เวลานี้ก็ยังเถียงแทนอยู่ทุกโอกาสที่เจอเหตุการณ์ 

ชาวบ้านเรียนเอาปริญญา ก็ใช้ชีวิตแบบชาวบ้าน สบายๆ 

แต่พระเณรเรียนเอาปริญญา ถูกกดดัน ๒ แรงซ้อน 

๑ เรียนเอาปริญญาก็ต้องทำให้ได้

๒ พระธรรมวินัยก็ต้องตั้งใจศึกษาปฏิบัติ 

พระเณรต้องใช้พลังมากกว่าชาวบ้านเป็น ๒ เท่า มีระบบการศึกษาที่ไหนทำได้แบบนี้ 

ผมจึงเอาใจช่วยเต็มที่ให้พระเณรศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัยเป็นหลัก 

ถ้ายังเป็นอย่างที่กำลังจะเป็น-หรือเป็นไปแล้ว-อยู่ในเวลานี้ คือพระเณรไม่ให้น้ำหนักไปข้างการศึกษาพระธรรมวินัย 

ผมก็ไม่รู้ว่าจะเถียงแทนพระเณรได้เต็มปากไปได้อีกสักกี่วัน 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๕ มีนาคม ๒๕๖๒

๑๕:๒๔

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *