กรรมบถ (บาลีวันละคำ 2467)
กรรมบถ
ทางเลือกของชีวิต
อ่านว่า กำ-มะ-บด
ประกอบด้วยคำว่า กรรม + บถ
(๑) “กรรม”
เขียนแบบบาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) สันสกฤตเป็น “กรฺม” (กระ-มะ, ก ควบ ร กลืนเสียง ระ ลงคอ) ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม”
“กมฺม” รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ร ที่ต้นปัจจัย
: กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม
“กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กรรม ๑, กรรม– ๑ : (คำนาม) (๑) การ, การกระทำ, การงาน, กิจ, เช่น พลีกรรม ต่างกรรมต่างวาระ, เป็นการดีก็ได้ ชั่วก็ได้ เช่น กุศลกรรม อกุศลกรรม.(๒) การกระทำที่ส่งผลร้ายมายังปัจจุบัน หรือซึ่งจะส่งผลร้ายต่อไปในอนาคต เช่น บัดนี้กรรมตามทันแล้ว ระวังกรรมจะตามทันนะ.(๓) บาป, เคราะห์, เช่น คนมีกรรม กรรมของฉันแท้ ๆ.(๔) ความตาย ในคำว่า ถึงแก่กรรม.”
(๒) “บถ” (ปะ-ถะ)
บาลีเป็น “ปถ” อ่านว่า ปะ-ถะ รากศัพท์มาจาก ปถฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ ปัจจัย
: ปถฺ + อ = ปถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นเครื่องเดินไป” (2) “ที่เป็นที่ไป” (3) “ที่อันผู้มีกิจน้อยใหญ่เกิดขึ้นดำเนินไป” หมายถึง หนทาง, ถนน, ทาง (path, road, way)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บถ : (คำแบบ) (คำนาม) ทาง เช่น กรรมบถ. (ป. ปถ).”
กมฺม + ปถ = กมฺมปถ (กำ-มะ-ปะ-ถะ) แปลว่า “ทางแห่งกรรม” (the ways of acting)
“กมฺมปถ” ในภาษาไทยใช้เป็น “กรรมบถ” (กำ-มะ-บด)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กรรมบถ : (คำนาม) ทางแห่งกรรม มี ๒ อย่าง ตามลักษณะ คือ กุศลกรรมบถและอกุศลกรรมบถ. (ส. กรฺม + ปถ = ทาง; ป. กมฺมปถ).”
อภิปราย :
๑ คำว่า “กรรมบถ” นี้ ถ้าให้เขียนตามคำบอก (“เขียนตามคำบอก” เคยเป็นแขนงหนึ่งในวิชาภาษาไทยของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาในสมัยก่อน) แทบทุกคนจะสะกดเป็น “กรรมบท” (-บท ท ทหาร)
โปรดช่วยกันจำไว้ว่า “กรรมบถ” –บถ ถ ถุง สะกด
“กรรมบท” -บท ท ทหาร สะกด เป็นคำที่เขียนผิด
“กรรมบถ” – ถูก
“กรรมบท” – ผิด
๒ นอกจากมักจะเขียนผิดแล้ว เมื่อเห็นคำว่า “กรรมบถ” คนทั้งหลายยังมักจะเข้าใจผิดอีกด้วยว่า คำนี้เป็นเรื่องของคนธรรมะธัมโม เป็นเรื่องของคนที่เตรียมตัวจะไปสวรรค์นิพพาน เป็นเรื่องของคนวัด เป็นเรื่องของพระ ไม่เกี่ยวกับเราที่เป็นชาวบ้าน
นี่นับว่าเป็นมุมมืดอย่างหนึ่งในมุมมองของผู้คนในสังคม
ความจริงแล้ว “กรรมบถ” เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหน อยู่ในวัยไหน ควรรู้ ควรศึกษาทำความเข้าใจ และควรปฏิบัติให้เป็นวิถีชีวิต ไม่ใช่เฉพาะวิถีชีวิตของชาวพุทธ แต่ควรเป็นวิถีชีวิตของมวลมนุษย์ทีเดียว
ขอยกข้อความจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [319] กุศลกรรมบถ 101 และข้อ [321] อกุศลกรรมบถ 10 มาแสดงไว้ในที่นี้เพื่อเป็นอุปการะแก่การศึกษาพระธรรมวินัย ดังนี้ –
…………..
[319] กุศลกรรมบถ 101 (ทางแห่งกุศลกรรม, ทางทำความดี, กรรมดีอันเป็นทางนำไปสู่สุคติ — Kusala-kammapatha: wholesome course of action) ว่าโดยหัวข้อย่อ ดังนี้
ก. กายกรรม 3 (การกระทำทางกาย — Kāyakamma: bodily action)
1. ปาณาติปาตา เวรมณี (เว้นจากปลงชีวิต — Pāṇātipātā veramaṇī: abstention from killing)
2. อทินฺนาทานา เวรมณี (เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้โดยอาการขโมย — Adinnādānā ~: abstention from taking what is not given)
3. กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี (เว้นจากประพฤติผิดในกาม — Kāmesumicchācārā ~: abstention from sexual misconduct)
ข. วจีกรรม 4 (การกระทำทางวาจา — Vacīkamma: verbal action)
4. มุสาวาทา เวรมณี (เว้นจากพูดเท็จ — Musāvādā ~: abstention from false speech)
5. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี (เว้นจากพูดส่อเสียด — Pisuṇāya vācāya ~: abstention from tale-bearing)
6. ผรุสาย วาจาย เวรมณี (เว้นจากพูดคำหยาบ — Pharusāya vācāya ~: abstention from harsh speech)
7. สมฺผปฺปลาปา เวรมณี (เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ — Samphappalāpā ~: abstention from vain talk or gossip)
ค. มโนกรรม 3 (การกระทำทางใจ — Manokamma: mental action)
8. อนภิชฺฌา (ความไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้ของเขา — Anabhijjhā: non-covetousness)
9. อพฺยาปาท (ความไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น — Abyāpāda: non-illwill)
10. สมฺมาทิฏฺฐิ (ความเห็นชอบ ถูกต้องตามคลองธรรม — Sammādiṭṭhi: right view)
…………..
[321] อกุศลกรรมบถ 10 (ทางแห่งอกุศลกรรม, ทางทำความชั่ว, กรรมชั่วอันเป็นทางนำไปสู่ความเสื่อม ความทุกข์ หรือทุคติ — Akusala-kammapatha: unwholesome course of action)
ก. กายกรรม 3 (การกระทำทางกาย — Kāyakamma: bodily action)
1. ปาณาติบาต (การทำชีวิตให้ตกล่วง, ปลงชีวิต — Pāṇātipāta: destruction of life; killing)
2. อทินนาทาน (การถือเอาของที่เขามิได้ให้ โดยอาการขโมย, ลักทรัพย์ — Adinnādāna: taking what is not given; stealing)
3. กาเมสุมิจฉาจาร (ความประพฤติผิดในกาม — Kāmesumicchācāra: sexual misconduct)
ข. วจีกรรม 4 (การกระทำทางวาจา — Vacīkamma: verbal action)
4. มุสาวาท (การพูดเท็จ — Musāvāda: false speech)
5. ปิสุณาวาจา (วาจาส่อเสียด — Pisuṇāvācā: tale-bearing; malicious speech)
6. ผรุสวาจา (วาจาหยาบ — Pharusavācā: harsh speech)
7. สัมผัปปลาปะ (คำพูดเพ้อเจ้อ — Samphappalāpa: frivolous talk; vain talk; gossip)
ค. มโนกรรม 3 (การกระทำทางใจ — Manokamma: mental action)
8. อภิชฌา (เพ่งเล็งอยากได้ของเขา — Abhijjhā: covetousness; avarice)
9. พยาบาท (คิดร้ายผู้อื่น — Byāpāda: illwill)
10. มิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิดจากคลองธรรม — Micchādiṭṭhi: false view; wrong view)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: จะเดินทางชั่วหรือทางดี ทุกคนมีสิทธิ์
: อย่าบอกว่าชีวิตไม่มีทางเลือก
#บาลีวันละคำ (2,467)
15-3-62