บาลีวันละคำ

นิปริยาย (บาลีวันละคำ 4,651)

นิปริยาย

คำแปลกที่ไม่แปลก

พจนานุกรมฯ บอกคำอ่านว่า นิ-ปะ-ริ-ยาย

แต่ธรรมชาติของการเปล่งเสียง ถ้าไม่เน้นหนักตรงพยางค์ นิ- แต่อ่านธรรมดา ๆ จะได้ยินเสียงออกมาเป็น นิบ-ปะ-ริ-ยาย

นิปริยาย” เขียนแบบบาลีเป็น “นิปฺปริยาย” (ซ้อน ปฺ ระหว่าง นิ กับ ริยาย) อ่านว่า นิบ-ปะ-ริ-ยา-ยะ ประกอบด้วย นิ + ปฺ + ปริยาย

(๑) “นิ” 

เป็นศัพท์จำพวก “อุปสรรค” ในบาลีนิบาตตัวนี้เป็น “นิ” (สระ อิ) แปลว่า เข้า, ลง และมีอีกตัวหนึ่งเป็น “นี” (สระ อี) แปลว่า ไม่มี, ออก 

แต่ตำราบาลีไวยากรณ์ของเรา พิมพ์เป็น “นิ” (สระ อิ) ทั้ง 2 ตัว และมีคำแปลว่า –

นิ = เข้า, ลง

นิ = ไม่มี, ออก

ซึ่งควรจะสงสัยว่า เมื่อเป็น “นิ” เหมือนกัน ทำไมจะต้องแยกว่า “นิ = เข้า, ลง” ตัวหนึ่ง “นิ = ไม่มี, ออก” อีกตัวหนึ่ง 

ทำไมไม่ว่ารวดไปเลยว่า “นิ =เข้า, ลง, ไม่มี, ออก” 

ในที่นี้ “นิ” แปลว่า “ไม่มี, ออก” หรือนัยหนึ่งว่า “นิ” แทนศัพท์ว่า “นิคฺคต” แปลว่า ออกไปแล้ว, ไปจาก (going out, proceeding from) 

(๒) “ปริยาย” 

บาลีอ่านว่า ปะ-ริ-ยา-ยะ รากศัพท์มาจาก ปริ (คำอุปสรรค = รอบด้าน, และแทนศัพท์ ปริพฺยตฺต = ชัดเจน) + อยฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, ลบ , ลง อาคมหน้าธาตุ ( + อยฺ = ยยฺ) ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ -(ยฺ) เป็น อา (อยฺ > อายฺ : ยย > ยาย) 

: ปริ + + อยฺ = ปริยย + = ปริยยณ > ปริยย > ปริยาย แปลตามศัพท์ว่า (1) “วิธีที่ยังเนื้อความที่พึงแสดงให้เป็นไปรอบด้าน” (2) “วิธีเป็นเครื่องถึงคือรู้เนื้อความที่ชัดเจน” 

ปริยาย” ในบาลีใช้ในความหมายหลายหลาก กล่าวคือ :

(1) การจัดแจง, การจัดการ, การออกนอกทาง, ทางอ้อม; การเปลี่ยนนิสัย (arrangement, disposition, going out of one’s way, detour; change of habit)

(2) ลำดับ, การสืบลำดับ, วาระ, ระยะเวลา (order, succession, turn, course)

(3) สิ่งที่ดำเนินไป, ทางปฏิบัติ, ความเคยชิน, คุณภาพ, สมบัติ (what goes on, way, habit, quality, property)

(4) การอภิปราย, การสอน, วิธีการ (สอน), หลักสูตร, การบรรยาย (discussion, instruction, method (of teaching), discourse, representation)

(5) วิธีสอนในพระสูตร โดยสอนแบบถกเถียงหาเหตุผลเพื่อให้คนเข้าใจ, วิธีสอนประยุกต์, การสอนอย่างมีอุทาหรณ์ (the mode of teaching in the Suttanta, ad hominem, discursively, applied method, illustrated discourse)

(6) วิธี, วิธีการ, เหตุผล, ต้นเหตุ, การณ์ (mode, manner, reason, cause, way)

(7) สิ่งที่พันไปรอบ- (ต้นไม้) : กิ่งไม้ (winding round: branch)

ปริยาย” ในภาษาไทยใช้เท่ารูปบาลี คือ “ปริยาย” อ่านว่า ปะ-ริ-ยาย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปริยาย : (คำนาม) อย่าง, ทาง, หนทาง; การกล่าวอ้อมค้อม, นัยทางอ้อม, ตรงข้ามกับ นิปริยาย คือ อย่างตรง; การสอน, การเล่าเรื่อง. (คำวิเศษณ์) อ้อม; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) เจตนากระทำที่มิได้แสดงออกอย่างชัดแจ้งแต่อนุมานได้จากพฤติกรรมที่แสดงออก. (ป.).”

ในภาษาไทย คำว่า “ปริยาย” มักพูดควบกับคำว่า “โดย” เป็น “โดยปริยาย” มีความหมายว่า ไม่ใช่เช่นนั้นตรง ๆ แต่เท่ากับเช่นนั้น เช่น –

อ่านบาลีวันละคำทุกวันเหมือนได้อ่านพระไตรปิฎกโดยปริยาย

นิ + ปฺ + ปริยาย = นิปฺปริยาย แปลตามศัพท์ว่า “มีปริยายออกแล้ว” หมายความว่า “ปริยาย” (คือการที่เป็นไปทางอ้อม) เคยมีอยู่ในเรื่องนั้น แต่บัดนี้ปริยายนั้นได้ออกไปเสียแล้ว เรื่องนั้นจึงไม่มีปริยายเหลืออยู่ แปลว่า ต่อไปนี้จะทำจะพูดอะไรก็ทำตรง ๆ พูดตรง ๆ ไม่ต้องอ้อมค้อมอีกต่อไป

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นิปฺปริยาย” ดังนี้ –

(1) without distinction or difference, absence of explanation or demonstration (ไม่มีความผิดแผกแตกหรือแตกต่าง, ไม่มีคำอธิบายหรือการแสดง) 

(2) unchangeable, not to be turned (ไม่เปลี่ยนแปลง, ไม่หมุนกลับ)

นิปฺปริยาย” ในภาษาไทยตัดตัวซ้อนออก ใช้เป็น “นิปริยาย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นิปริยาย : (คำแบบ) (คำนาม) ความไม่อ้อมค้อม, ความตรง, ตรงข้ามกับ ปริยาย คือ อย่างอ้อม. (คำวิเศษณ์) สิ้นเชิง. (ป. นิปฺปริยาย).”

ข้อสังเกต :

ในภาษาไทย เราคุ้นกับคำว่า “ปริยาย” แต่ไม่คุ้นกับคำว่า “นิปริยาย” กล่าวได้ว่า แทบจะไม่มีใครเคยเห็นหรือเคยใช้คำนี้ด้วยซ้ำไป แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็ยังอุตส่าห์เก็บคำว่า “นิปริยาย” ไว้ ทั้ง ๆ ที่เป็นคำแปลก ๆ

นิปริยาย” ก็มาจากรากศัพท์เดียวกับ “ปริยาย” ที่ไม่ใช่คำแปลกนั่นเอง

นิปริยาย” จึงเป็นคำแปลกที่ไม่แปลก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บุญ จะทำโดยอ้อมหรือโดยตรง สวรรค์ก็ยังคงพร้อม

: บาป จะทำโดยตรงหรือโดยอ้อม นรกก็ยินดีต้อนรับ

#บาลีวันละคำ (4,651)

7-3-68 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *