บาลีวันละคำ

สุขาวดี (บาลีวันละคำ 2,647)

สุขาวดี

แดนในฝัน

อ่านว่า สุ-ขา-วะ-ดี

สุขาวดี” มีคำแปลว่า “แดนอันมีความสุข” ตามคำแปลนี้ ถ้าลากเข้าบาลี รูปคำเดิมก็ควรเป็น “สุขวนฺตี” อ่านว่า สุ-ขะ-วัน-ตี ประกอบด้วย สุข + วนฺตี

(๑) “สุข

บาลีอ่านว่า สุ-ขะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, สะดวก) + ขมฺ (ธาตุ = อดทน, อดกลั้น) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ ที่สุดธาตุ

: สุ + ขมฺ = สุขม + กฺวิ = สุขมกฺวิ > สุขม > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ทนได้ง่าย

(2) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, สะดวก) + ขนฺ (ธาตุ = ขุด) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ ที่สุดธาตุ

: สุ + ขนฺ = สุขน + กฺวิ = สุขนกฺวิ > สุขน > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ขุดความทุกข์ด้วยดี

(3) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, สะดวก) + ขาทฺ (ธาตุ = เคี้ยวกิน) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ ที่สุดธาตุ, ลดเสียง อา ที่ ขา-(ทฺ) เป็น อะ

: สุ + ขาทฺ = สุขาท + กฺวิ = สุขาทกฺวิ > สุขาท > สุขา > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่เคี้ยวกินความทุกข์ด้วยดี

(4) สุขฺ (ธาตุ = สุขสบาย) + ปัจจัย

: สุขฺ + = สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ยังบุคคลให้สุขสบาย

(5) สุ (คำอุปสรรค = ง่าย, สะดวก) + (โอกาส)

: สุ + = สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ให้โอกาสได้ง่าย

สุข” เราแปลทับศัพท์กันจนอาจจะไม่เคยคิดว่าหมายถึงอะไร

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สุข” ไว้ดังนี้ –

(1) agreeable, pleasant, blest (เป็นที่พอใจ, รื่นรมย์, ได้รับพร)

(2) wellbeing, happiness, ease (ความผาสุก, ความสุข, ความสบาย)

(3) ideal, success (อุดมคติ, ความสำเร็จ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สุข, สุข– : (คำนาม) ความสบายกายสบายใจ เช่น ขอให้อยู่ดีมีสุข เกิดมาก็มีสุขบ้างทุกข์บ้าง, มักใช้เข้าคู่กับคำ เป็น เช่น ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข ขอให้เป็นสุข ๆ นะ. (คำวิเศษณ์) สบายกายสบายใจ เช่น เดี๋ยวนี้เขาอยู่สุขสบายดี. (ป., ส.).”

(๒) “วนฺตี

อ่านว่า วัน-ตี เป็น “ปัจจัย” ตัวหนึ่งในบาลี รูปคำเดิมคือ “วนฺตุ” (วัน-ตุ) ใช้ลงท้ายคำนาม ทำให้นามคำนั้นแปลว่า “มี-” (ต่อด้วยคำแปลนามคำนั้น)

วนฺตุ” เป็นปุงลิงค์ (คำนามเพศชาย = คำที่หมายถึงชาย) ในที่นี้ “สุขาวดี” เป็นอิตถีลิงค์ จึงแปลง “วนฺตุ” เป็น “วนฺตี

สุข + วนฺตี = สุขวนฺตี (สุ-ขะ-วัน-ตี) แปลว่า “มีสุข

สุข” แปลว่า “สุข” ไม่ใช่ “มีสุข

สุขวนฺตี” แปลว่า “มีสุข” ไม่ใช่ “สุข” เฉยๆ

สุขวนฺตี” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “สุขวตี” (สุ-ขะ-วะ-ตี)

สุขวตี” เขียนแบบไทยควรเป็น “สุขวดี” แปลว่า “แดนอันมีความสุข

แต่ชะรอยว่า “สุขวดี” จะออกเสียงไม่คล่องปาก จึงถูกยืดเสียงเป็น “สุขาวดี” ถ้าอธิบายให้ฟังดูเป็นหลักวิชาก็บอกว่า ทีฆะ อะ ที่ (สุ)- เป็น อา (สุข > สุขา) ด้วยอำนาจความคล่องปาก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สุขาวดี : (คำนาม) แดนอันมีความสุขตามความเชื่อของลัทธิมหายาน. (ส. สุขาวดี ว่า สวรรค์ของพระอมิตาภพุทธเจ้าของฝ่ายมหายาน).”

ขยายความ :

หนังสือ “กามนิต” ของ เสฐียรโกเศศ และ นาคะประทีป สำนักพิมพ์บรรณาคารจัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2516 มีภาคผนวกเป็น “อภิธาน” อธิบายคำศัพท์ต่างๆ จัดทำโดยนายเจริญ อินทรเกษตร เปรียญธรรม 9 ประโยค (2475) วิทยากรพิเศษ ราชบัณฑิตยสถาน อธิบายคำว่า “สุขาวดี” ไว้ดังนี้ –

(สะกดและวรรคตอนตามต้นฉบับ)

…………..

สุขาวดี : แปลว่า ภูมิอันมีความสุข ในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน มีพระพุทธเจ้าอยู่องค์หนึ่งซึ่งเป็นที่นับถือกันมาก คือ พระอมิตาภะ แปลว่า พระพุทธเจ้าผู้มีความสว่างอันหาประมาณมิได้ บางทีก็เรียกว่าพระอมิตายุส แปลว่าพระผู้หาประมาณอายุมิได้ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าองค์นี้จึงถือกันว่าเป็นพระผู้ทรงความสว่าง และเป็นอมตะ พระองค์เป็นใหญ่ในพุทธเกษตรด้านตะวันตก คือแดนเป็นทางที่พระอาทิตย์ตก และตามลัทธินิยมก็เป็นแดนของวิญญาณแห่งผู้ตายไปสู่แดนที่พระอมิตาภะทรงปกครองนี้เรียกชื่อว่า สุขาวดีหรือภูมิอันมีความสุข

ลัทธิพระอมิตาภะสอนให้มีความเชื่อมั่น หรือมีภักดีในพระอมิตาภะ และให้สวดอ้อนวอนภาวนา ผู้ใดปฏิบัติเช่นนี้ เมื่อตายไป พระอมิตาภะจะทรงรับรองให้เป็นสาวก และให้เสวยสุขอยู่ในสวรรค์สุขาวดีของพระองค์

คัมภีร์อันแสดงถึงภูมิประเทศอันเป็นแดนสุขาวดีของลัทธิพระอมิตาภะ มีอยู่ ๒ คัมภีร์ คือ คัมภีร์สุขาวดีวยูหะใหญ่ และสุขาวดีวยูหะน้อย

คัมภีร์สุขาวดีวยูหะใหญ่ เริ่มต้นเป็นทำนองว่า พระศากยมุนีตรัสเทศนาแก่พระอานนท์บนยอดเขาคิชฌกูฏ เป็นใจความว่า เมื่อพระอมิตาภะได้ตรัสรู้แล้วย่อมได้เป็นอธิบดีในแดนสุขาวดี และผู้เป็นบริวารอยู่ในแดนนั้นเสวยความสุขเรื่อยไป ไม่มีความทุกข์กล้ำกรายจนกว่าจะเข้านิรพาณ บรรดามนุษย์ที่นึกถึงสวรรค์นี้ได้สิบครั้ง เมื่อตายไปก็ไปสู่แดนนี้ได้ เว้นแต่ผู้นั้นได้กระทำบาปอย่างหนัก ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น เมื่อใกล้จะตายพระอมิตาภะจะปรากฏพระองค์ให้เห็น ผู้นั้นก็จะระงับความกระวนกระวายมีสติระลึกถึงแดนสวรรค์ได้ครบถ้วนจำนวนสิบครั้ง เมื่อพระศากยมุนีตรัสเทศนาเรื่องพระอมิตาภะจบลงแล้วก็ทรงสำแดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้พระอานนท์เป็นภูมิประเทศและความสุขอันมโหฬารในสวรรค์สุขาวดี ซึ่งในคัมภีร์กล่าวไว้อย่างวิจิตร สิ่งใดอันเข้าใจว่าอาจกระทำความเบิกบานให้แก่ หู ตา กาย ใจ แห่งผู้ประสบได้ยอดเยี่ยม ย่อมมีกล่าวไว้ครบถ้วน ไม่ผิดอะไรจากลักษณะสวรรค์ลัทธิอื่น

ในคัมภีร์สุขาวดีวยูหะน้อยกล่าวว่าสมัยหนึ่งพระศากยมุนีเสด็จประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ประทานเทศนาถึงภูมิสุขาวดีไว้อย่างบริบูรณ์

อนึ่งในคัมภีร์สุขาวดีวยูหะใหญ่แสดงว่า ผู้จะได้ขึ้นสวรรค์ นอกจากมีความเชื่อแล้ว ยังมีการทำกุศลอย่างอื่นประกอบด้วย แต่คัมภีร์สุขาวดีวยูหะน้อยว่าไม่ต้องประกอบกรรมก็ขึ้นสวรรค์ได้ อาศัยแต่ความเชื่อในพระอมิตายุสอย่างเดียวก็พอ กล่าวว่ามนุษย์จะไปเกิดในแดนพระพุทธเจ้า เพราะเหตุแห่งกุศลกรรมอันได้ทำไว้ในชาตินี้หามิได้เลย มนุษย์หญิงชายทั้งปวงผู้ได้ยินและมนสิการไว้ซึ่งพระนามแห่งพระอมิตายุส ๑. ๒, ๓, ๔, ๕, ๖ หรือ ๗ คืน เป็นอนุสติแล้วไซร้เวลาจะตาย พระอมิตายุสจะเสด็จมายืนประทับอยู่เฉพาะหน้ามนุษย์นั้น เมื่อขณะจะสิ้นลมหายใจ ผู้นั้นก็จะสิ้นลมหายใจไปด้วยความสงบ ไม่กระวนกระวายแล้วก็ไปบังเกิดอยู่ในแดนสวรรค์สุขาวดี.

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ฝันให้ไกล

: ไปให้ถึง

: แต่อย่ามัวนั่งรำพึงอยู่กับที่

#บาลีวันละคำ (2,647)

11-9-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย