จากฮาลาล ถึงศาสนาประจำชาติ
จากฮาลาล ถึงศาสนาประจำชาติ
———————–
เมื่อวันก่อน ผมนั่งกินข้าวอยู่คนเดียวในบ้าน มองไปที่ขวดน้ำซอส (sauce) เห็นเครื่องหมาย ฮาลาล ที่ฉลากปิดขวด ก็เลยเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ทำไมเครื่องหมายฮาลาลจึงมาอยู่ที่ฉลากปิดขวดน้ำซอส
ลองดูที่กล่องหรือกระป๋องของกินอื่นๆ อีกบางอย่าง ก็พบว่ามีเครื่องหมายฮาลาลด้วยเช่นกัน
เครื่องหมายฮาลาลมาอยู่ที่นี่ที่นั่นได้อย่างไร ?
ผมรู้เหมือนกับที่คนทั่วไปรู้ว่า ของบริโภคที่มีเครื่องหมายฮาลาลหมายความว่าพี่น้องมุสลิมสามารถบริโภคได้
แต่ที่ยังไม่รู้ก็คือ เครื่องหมายฮาลาลมาอยู่ที่ภาชนะบรรจุของบริโภคนั้นๆ ได้ด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอย่างไร
กรุณาฟังดีๆ นะครับ เดี๋ยวจะหาว่าผมหาเรื่องทะเลาะอีก
ผมหมายความว่า มีเหตุผลหรือมีระเบียบกฎหมายอะไรกำหนดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่าอย่างไรบ้างหรือไม่-โดยเฉพาะที่เกี่ยวไปถึงคนอื่นๆ นอกจากพี่น้องมุสลิม
สมมุติ-อาจจะช่วยให้เห็นประเด็นได้ง่ายขึ้น
สมมุติว่าผมเข้าใจเอาเองว่า –
ข้อ ๑ ในเมืองไทยนี้ ใครผลิตของกินอะไรขึ้นมาสักอย่างเพื่อจำหน่าย แล้วอยากจะให้ตลาดกว้างขวางไปถึงพี่น้องมุสลิมด้วย ก็จึงไปยื่นเรื่องกับหน่วยงานของศาสนาอิสลาม (ถ้ามี) ขอให้รับรองว่าของกินชนิดนี้พี่น้องมุสลิมกินได้ หน่วยงานนั้นตรวจสอบแล้วเห็นว่าของกินชนิดนั้นไม่ขัดกับหลักของศาสนาอิสลาม ก็อนุญาตให้ติดเครื่องฮาลาลได้ อาจมีค่าธรรมเนียมบ้างตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด
พี่น้องมุสลิมเมื่อเห็นเครื่องหมายฮาลาลก็สามารถซื้อกินได้ด้วยความสบายใจ ไม่ต้องมานั่งถกเถียงกันว่าของกินชนิดไหน มุสลิมกินได้หรือไม่ได้
และหมายความว่า ผู้ที่ผลิตของกินอะไรขึ้นมาสักอย่างเพื่อจำหน่ายจะไม่ทำอย่างที่ว่านี้ก็ได้ คือไม่ไปยุ่งกับอิสลาม พี่น้องมุสลิมจะซื้อก็ซื้อ จะไม่ซื้อก็ไม่ว่าอะไร ไม่ห่วงตลาดอิสลามว่างั้นเถอะ-อย่างนี้ก็ได้
เข้าใจอย่างนี้ ถูกต้องหรือไม่
– หรือว่า –
ข้อ ๒ ในเมืองไทยนี้ ใครผลิตของกินอะไรขึ้นมาสักอย่างเพื่อจำหน่าย จะต้องไปยื่นเรื่องขออนุญาตกับหน่วยงานของศาสนาอิสลาม ขอให้รับรองว่าของกินชนิดนี้พี่น้องมุสลิมกินได้เสียก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะสามารถผลิตออกจำหน่ายได้โดยมีเครื่องหมายฮาลาลเป็นประกัน ถ้ายังไม่ได้รับอนุญาต ก็ไม่สามารถผลิตออกมาจำหน่ายได้
พูดใหม่-แม้ชาวพุทธจะผลิตของกินเพื่อจำหน่ายในตลาดชาวพุทธ ก็ต้องขออนุญาตหน่วยงานอิสลามให้ออกเครื่องหมายฮาลาลให้ก่อน ถ้ามิเช่นนั้นจะผลิตออกมาจำหน่ายไม่ได้ ผิดกฎหมาย
เข้าใจอย่างนี้ ถูกต้องหรือไม่
กรุณาฟังดีๆ นะครับ เดี๋ยวจะหาว่าผมหาเรื่องทะเลาะอีก
ความเข้าใจทั้งข้อ ๑ และข้อ ๒ ถูกหรือผิดอย่างไร มีข้อกฎหมายกำหนดไว้อย่างไรหรือไม่
ขอแรงญาติมิตรที่ถนัดทางกฎหมายช่วยเอาตัวบทกฎหมายข้อนั้นๆ ถ้ามี มาวางให้ดูแล้วอธิบายสู่กันฟังสักหน่อย จะได้ไหมครับ
ขอย้ำว่า ไม่ใช่จะหาเรื่อง แต่จะหาความรู้จริงๆ นะครับ
ผมเชื่อว่า คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่องนี้
————–
ก็เหมือนกรณี-จังหวัดไหนมีมัสยิดตั้งแต่ ๓ แห่งขึ้นไป –
(๑) ให้มีคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดในจังหวัดนั้นได้
(๒) ให้ประธานคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดเป็นที่ปรึกษาผู้ราชการจังหวัดโดยตำแหน่ง
ผมเชื่อว่า จนถึงบัดนี้คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้
ก็เลยขอถือโอกาสขอแรง ญาติมิตรท่านใดมีตัวบทกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องนี้อยู่ในมือ หรือเห็นว่ามีอยู่ที่ไหน กรุณาเอามาวางไว้ให้เห็นทั่วๆ กันด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
————–
ผมนึกถึงวัดมหาธาตุ ราชบุรีบ้านผม เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
ที่วัดยังไม่มีโฉนด
มีชาวบ้านเข้ามาอยู่อาศัยโดยสงบ และเปิดเผย
พอครบ ๑๐ ปี ก็มีคนมาบอกให้ไปยืนเรื่องขอออกโฉนดตามเงื่อนไขที่ภาษากฎหมายเรียกว่า “ครอบครองปรปักษ์”
ระหว่าง ๑๐ ปีที่ครอบครอง ทุกคนพยายามสงบปากสงบคำ ไม่กระโตกกระตากอะไรทั้งสิ้น เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
แต่พอครบ ๑๐ ปีเท่านั้นแหละ เจ้าประคุณเอ๋ย วัดมหาธาตุเสียที่วัดไปเป็นจำนวนมาก
…………
แต่ของสงฆ์นั้นศักดิ์สิทธิ์จริงๆ เจ้าประคุณเอ๋ย แต่ละรายที่เอาที่วัดด้วยวิธีครอบครองปรปักษ์ ฉิบหายทันตาเห็น ไม่มีใครเจริญเลยสักรายเดียว
มีอยู่รายหนึ่ง ตายซ้ำ ๒ ครั้ง
ครั้งแรกตายที่โรงพยาบาล
ญาติเอาศพกลับบ้าน ระหว่างทาง ศพถูกรถชนตายซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
เป็นเรื่องที่เล่าขานกันสืบมาด้วยความสยอง
————–
บ้านเมืองเราเป็นนิติรัฐ คือตัดสินถูกผิดกันด้วยกฎหมาย
และประชาชนจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายมิได้
ใครจับทางนี้ได้ คนนั้นชนะ
อยากได้อะไร อยากให้อะไรเป็นอย่างไร – ออกเป็นกฎหมาย
ไม่อยากให้ฝ่ายตรงข้ามได้อะไร – พยายามคัดค้านไม่ให้ออกเป็นกฎหมาย
ใครจับทางนี้ได้ ยึดกฎหมายเป็นหลักได้ คนนั้นชนะ
ในขณะที่ชาวพุทธเรากำลังถวายทาน รักษาศีล เจริญภาวนากันอยู่อย่างขะมักเขม้นนั้น คนไทยตื่นขึ้นมาในเช้าวันหนึ่ง อาจได้ยินเสียงประกาศข่าวว่า บัดนี้ประเทศไทยบัญญัติศาสนาประจำชาติไว้ในกฎหมายได้เรียบร้อยแล้ว
แต่ไม่ใช่ศาสนาพุทธ!
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๗ มิถุนายน ๒๕๕๙
๑๔:๓๐
…………………………….